คลอดเบี้ยประกันน้ำท่วม 0.5-1.25% Share


กองทุนประกันภัยพิบัติ คลอดอัตราเบี้ยประกันน้ำท่วม 3 กลุ่ม กำหนดอัตรา ตั้งแต่ 0.5-1.25% เผยบ้านอาศัยคุ้มครองสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท ธุรกิจเอสเอ็มอี ขีดเส้นทุนประกันไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนภาคอุตสาหกรรมคุ้มครองไม่เกิน 30% ของทุนประกันภัย

 เสนอ ครม.อนุมัติ 6 มี.ค.นี้ บริษัทประกันขานรับค่าเบี้ยอัตราเดียวทั่วประเทศ เชื่อรัฐบริหารจัดการน้ำได้ดี

 นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.) ว่า มีข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบการประกันภัยพิบัติ อัตราเบี้ยประกัน การคุ้มครอง คำนิยามของภัยพิบัติ รวมถึงประเด็นอื่นๆ โดยจะนำข้อสรุปเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ครม. วันที่ 6 มี.ค. นี้ โดยคาดว่าจะลงนาม สัญญาเบื้องต้นกับบริษัทประกันภัย พร้อมประกาศรับประกันภัยได้เร็วที่สุดในปลายสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ การคุ้มครองจะเป็นลักษณะจำกัดความรับผิด (sub limit) แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ บ้านอยู่อาศัย ธุรกิจเอสเอ็มอีและภาคอุตสาหกรรม โดยทุกพื้นที่มีอัตราเบี้ยประกันเดียวกัน กรณีบ้านอยู่อาศัยนั้นระดับการคุ้มครองอยู่ในวงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราเบี้ยประกัน 0.5% ต่อปี ธุรกิจเอสเอ็มอี (ทุนประกันภัยไม่เกิน 50 ล้านบาท) สามารถเลือกซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติวงเงินไม่เกิน 30% ของทุนประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยต้องมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยหรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินด้วย อัตราเบี้ยประกัน 1% ต่อปี ส่วนภาคอุตสาหกรรมสามารถซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติ วงเงินไม่เกิน 30% ของทุนประกันภัย และต้องมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หรือ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน อัตราเบี้ยประกัน 1.25%

กำหนดนิยามภัยพิบัติคุ้มครอง

สำหรับภัยพิบัติที่จะได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ น้ำท่วม ลมพายุ และ แผ่นดินไหว โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะพิจารณาว่า ภัยระดับใดจะถือว่าเป็นภัยพิบัติ และเสนอครม.พิจารณา หรือภัยที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ได้รับการคุ้มครองในวงเงิน เกิน 5 พันล้านบาท และต้องมีผู้เอาประกันขอรับความเสียหายตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป โดยมีช่วงเวลาเคลมประกันภายใน 60 วัน โดยมีเงื่อนไขเพิ่มเติม กรณีภัยพิบัติน้ำท่วม จะมีเงื่อนไขเพิ่มคือ น้ำท่วมเข้าบ้านจะได้รับการเคลมทันที 3 หมื่นบาท ถ้าท่วมอยู่ในช่วง 50 ซม. ระดับการเคลมจะได้ 5 หมื่นบาท ถ้าท่วมอยู่ในช่วง 70 ซม. ระดับการเคลมจะอยู่ที่ 7.5 หมื่นบาท และ หากน้ำท่วมที่ 100 ซม. จะได้รับการเคลมเต็มวงเงิน 1 แสนบาท ส่วนกรณีภัยพิบัติที่เกิดจากแผ่นดินไหวนั้น ระดับของการสั่นสะเทือนจะอยู่ที่ 7 ริกเตอร์ ส่วนภัยจากพายุต้องมีความเร็วแรงไม่ต่ำกว่า 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ด้าน นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า เมื่อกองทุนประกันภัยดังกล่าวเปิดดำเนินการแล้ว รูปแบบกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองภัยพิบัตินี้ จะเรียกว่า กรมธรรม์ภัยพิบัติ สำหรับกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติอื่นที่ไม่เข้าลักษณะหรือไม่ถึงขั้นภัยพิบัติจะเรียกว่า กรมธรรม์ภัยธรรมชาติทั่วไป ซึ่งบริษัทประกันภัยมีความพร้อม หากผู้ที่สนใจทำประกันภัยสามารถติดต่อขอทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยได้โดยตรง โดยกองทุนฯ จะประชาสัมพันธ์รายละเอียดให้ทราบต่อไป

ประกันขานรับเบี้ยอัตราเดียวทั่วประเทศ

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคเอกชน โดยสมาคมประกันวินาศภัย และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมทั้ง สำนักงาน คปภ. และกระทรวงการคลัง ได้หารือเรื่องการกำหนดอัตราเบี้ยประกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดได้อัตราดังกล่าวแล้ว โดยเป็นอัตราที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ จึงไม่มีการแบ่งโซนพื้นที่ความเสี่ยง เนื่องจากภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงที่ผ่านมาไม่มีข้อมูลสมบูรณ์ที่ใช้ประกอบโซนน้ำท่วม

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้มีการสร้างเขื่อน โดยทุ่มงบประมาณ ในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 3 แสนล้าน ทำให้โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมซ้ำแทบไม่มีเลย ดังนั้นจึงไม่มีการแบ่งโซนในการรับประกัน และยังใช้อัตราเบี้ยประกันที่เท่ากันในทุกพื้นที่

นายจีรพันธ์ กล่าวยืนยันว่า การใช้อัตราเบี้ยประกันที่เท่ากันในทุกพื้นที่มีความยุติธรรมและมีความสะดวก ซึ่งโดยปกติการคิดอัตราเบี้ยประกัน จะต้องใช้หลักคณิตศาสตร์ประกันภัย และสถิติข้อมูลต่างๆ ประกอบ แต่กรณีของอัตราเบี้ยประกันในครั้งนี้ มีการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม จึงเป็นตัวเลขที่ประมาณการขึ้นมา บนภายใต้ที่รัฐบาลรับประกันความเสี่ยงไว้ทั้งหมด 99%จึงคิดว่าอัตราเบี้ยประกันดังกล่าวน่าจะเพียงพอต่อการรับประกันความเสี่ยง

ประเมินดูแล้ว อัตราเบี้ยประกันดังกล่าว ได้สอบถามผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แล้วว่า รับไหวหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ตอบว่ารับไหว และมั่นใจในแผนบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล นายจีรพันธ์ กล่าว

นายแกรี่ เวนย์ เด็นสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ซิกน่า ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทไม่ได้เน้นประกันอุทกภัยหรือประกันรายใหญ่ เน้นประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ดังนั้นจึงไม่ได้รับกระทบจากการจัดตั้งกองทุน แต่โดยภาพรวมการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมภัยพิบัติฯถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากมีการจัดตั้งกันทั่วโลกเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหาเวลาเกิดภัยพิบัติต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและจะดียิ่งขึ้น หากมีระบบการบริหารจัดการที่ดี

ส.อ.ท.ชี้วงเงินคุ้มครองน้อยเกินไป

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อัตราเบี้ยประกันภัยที่ออกมาเป็นระดับที่เหมาะสมแล้ว เพราะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทำให้เบี้ยประกันภัยสูงขึ้นเป็น 8-10% และบริษัทประกันภัยไม่กล้ารับประกัน รวมทั้งอัตราที่ประกาศออกมายังต่ำกว่าเบี้ยประกันภัยก่อนน้ำท่วมที่ระดับ 0.3-0.5% แต่การคุ้มครองถือว่าน้อย โดยเอสเอ็มอีควรคุ้มครองอย่างน้อย 80-100 ล้านบาท เพราะโรงงานจะเก็บสต็อกสินค้าประมาณ 2 เดือน และเครื่องจักรมีมูลค่าสูงจึงควรเพิ่มขึ้นอีก รวมทั้งโรงงานขนาดใหญ่มีวงเงินคุ้มครองไม่เกินทรัพย์สินของโรงงาน ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่าโรงงานแต่ละแห่งมีทรัพย์สินเท่าใด

นายธนิต กล่าวว่า การตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยเพื่อแก้ปัญหาบริษัทประกันไม่รับประกันและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการป้องกันน้ำท่วมออกมาแล้วทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งได้ออกกฎหมายเพื่อกู้เงินมาลงทุน 350,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลประกาศมาตลอดว่ามีแผนและงบประมาณป้องกันน้ำท่วมจึงเห็นว่ารัฐบาลควรมั่นใจในแผนงานของตัวเอง ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่มั่นใจที่จะให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมแล้วคงไม่มีบริษัทประกันภัยรายใดที่จะทำได้

สรท.ห่วงปัญหาชดเชยล่าช้า

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า อัตราเบี้ยประกันภัยที่ออกมาถือว่าเหมาะสม แต่ต้องมาดูรายละเอียดว่ามีเงื่อนไขการคุ้มครองอย่างไร ซึ่งการที่เอสเอ็มอีได้เบี้ยประกันภัยถูกกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ได้หมายความว่าได้การคุ้มครองที่ดี โดยบริษัทใหญ่ที่จ่ายเบี้ยมากกว่าอาจจะได้เงื่อนไขการคุ้มครองที่ดีกว่า ซึ่งที่ผ่านมาเอสเอ็มอีมีปัญหาไม่เข้าใจเงื่อนไขการวัดความเสียหายจึงเห็นว่ารัฐบาลควรสร้างความเข้าใจจุดนี้ รวมทั้งควรแก้ปัญหาความล่าช้าในการเคลมประกัน เพราะที่ผ่านมาเอสเอ็มอีต้องใช้เวลา 6-9 เดือน โดยถ้ากองทุนประกันภัยของรัฐบาลยังมีความล่าช้าในการชดเชยความเสียหายจะทำให้เอสเอ็มอีมีปัญหาขาดเงินทุนมาฟื้นฟูกิจการเหมือนที่ทำประกันกับบริษัทประกันภัย

อิเล็กฯ เผยส่วนใหญ่ใช้ประกันต่างประเทศ

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฐานผลิตในไทยขณะนี้มีบางบริษัทที่ต่อประกันภัยไว้เรียบร้อย ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติ ซึ่งจะต่อประกันได้คล่องตัวกว่าบริษัทขนาดเล็ก เพราะบริษัทข้ามชาติมีแผนงาน มีการลงทุนที่ชัดเจน และมีการอ้างอิงการประกันในหลายๆ ประเทศ ประกันภัยให้ความเชื่อถือ

กลุ่มบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติก็จะมีประกันมาจากทางบริษัทแม่ ขณะที่ บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเองขณะนี้ก็ได้มีการดีลกับประกันไปบ้างแล้ว ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ในสมาคมฯ เองก็ยังไม่มีใครถึงพูดเรื่องนี้

ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องความใหญ่และเล็กของบริษัท เพราะว่าความน่าเชื่อถือ และแผนงานอาจไม่เหมือนกัน ขณะที่บริษัทประกันภัยเองก็จะมองถึงความเสี่ยงแต่ละพื้นที่ ว่าเสี่ยงในระดับใด นิคมไหน เป็นปัจจัยการพิจารณาที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงแผนงานของแต่ละนิคม ลงลึกไปถึงแต่ละบริษัทในนิคมว่า มีการทำแผนงานเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน

ถ้าบริษัทตั้งอยู่ในนิคมที่ยังไม่ขยับเรื่องแผนป้องกันก็เป็นเรื่องยากที่จะคุยกับประกันรู้เรื่อง กระนั้นก็ตาม เรื่องของการประกันวินาศภัย ไม่ค่อยมีใครจะประกันในวงเงินสูงๆ ครอบคลุมเยอะๆ เพราะเบี้ยประกันจะแพงมาก นายสัมพันธ์ กล่าว

 

ที่มา http://daily.bangkokbiznews.com/detail/47969



อ่าน : 2285 ครั้ง
วันที่ : 05/03/2012

Contact : V-SERVE GROUP 709/54-55 ถ.สุขุมวิท 77 แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง  กทม. 10250 โทรศัพท์. 0 2332 3940-9 โทรสาร. 0 2332 0754
E-mail: tanit@v-servegroup.com