บทความเรื่อง :: รายงานสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (ภาค 1)
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP           

           สภาวการณ์ทั่วไปของไทยในช่วงแรกของปี 2549 เป็นช่วงที่ประสบกับความยุ่งยาก โดยประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งจากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไปแตะที่ 74-76 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล  ตามด้วยการแข็งค่าของเงินบาทเทื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ส่งผลต่อการขาดดุลการค้าและดุลชำระเงินติดต่อกัน     อีกทั้งประเทศไทยยังประสบกับปัญหาเงินเฟ้อและการปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งจากธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารพาณิชย์ของไทยซึ่งเกิดจากปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชากรมีการปรับตัวสูงขึ้น  นอกจากนี้ในช่วงปีแรกภาคเศรษฐกิจยังประสบกับปัญหาที่เกิดจากความอึมครึมทางการเมืองและการไม่มีรัฐบาล (ถาวร) ที่จะมาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ  โดยทั้งหมดที่กล่าวถึงล้วนเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อสภาวะการทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 ซึ่งมีการขอส่งเสริมการลงทุนเพียง 183,000 ล้านบาท ลดลง 53% จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งทาง BOI คาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมตลอดทั้งปี 2549 ประมาณ 400,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ  800,000  ล้านบาท   ซึ่งในประเด็นนี้ควรจะมีการพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากสภาวการณ์และบรรยากาศการลงทุนของไทยทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจปัญหาการเมืองและปัญหาการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดภาคใต้     ล้วนแต่ไม่เอื้ออำนวยต่อการที่นักลงทุนต่างประเทศจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต     โดยประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามมีสภาวะแวดล้อมและปัจจัยทางด้านการลงทุนที่ดีกว่าไทยอีกทั้งกระแสการลงทุนของโลกยังมุ่งไปลงทุนในประเทศจีน

           สำหรับด้านการส่งออกของไทยในครึ่งปีแรกขยายตัว 16.73 % แต่เนื่องจากสภาวะอัตราเงินบาทของไทยมีการแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสหรัฐฯ โดยประมาณ 38.76  บาท/เหรียญสหรัฐฯ จะส่งผลให้ในครึ่งปีหลังการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 9.87% โดยหน่วยงานของรัฐได้ประมาณการณ์การส่งออกทั้งปี 2549 น่าจะเป็น 13.07% คิดเป็น มูลค่าประมาณ 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยประมาณว่าการนำเข้าทั้งปี 2549 จะขยายตัว 11.69 % เป็นมูลค่า 1.32 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้จะขาดดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 6,481 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังคงขาดดุลสะพัดอีกประมาณ 2,190 ล้านบาท   สาเหตุที่ทำให้การส่งออกขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมายปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของโลกชะลอตัวลงโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกสินค้าไทยโดยปีนี้  คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 3.3% ลดลงจากปี 2548 ที่ขยายตัว 3.5 % อีกทั้ง ทิศทางระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อบวกกับปัญหาค่าพลังไฟฟ้าที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทของไทย เมื่อเทียบกับเงินสหรัฐอเมริกาแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค ทำให้ผู้ส่งออกมีการชะลอในการรับ Order โดยในปีนี้คาดว่าจะเป็นปีที่ผู้ส่งออกของไทยมีการขาดทุนมาก
          อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากปัจจัยด้านเงินเฟ้อโดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่าในช่วงแรกของปีมีอัตราเงินเฟ้อ 5.0-5.9%  และคาดว่าในครึ่งหลังของปี 2549 จะลดเหลือประมาณ 4.0- 4.5 %  โดยทิศทางของเงินเฟ้อจะเป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยของตลาดโลกซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นกอร์ปกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อเดือนจะปรับลดลง    อันเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโลกและของไทยได้ผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันติดต่อกันเป็นระยะเวลานานส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงซึ่งไปผลักดันทำให้เกิดเงินเฟ้อ แต่การที่สินค้าราคาสูงขึ้นนี้ไม่ได้แสดงว่าเป็นความต้องการบริโภคที่แท้จริง (Real Demand) เพราะเงินเฟ้อที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากการขยายความต้องการ (Demand Pull) แต่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงจึงเป็นลักษณะ Cost Push จากการคาดการณ์ของสถาบันภาครัฐและเอกชนเห็นว่าในช่วงปีหลังอัตราเงินเฟ้อจะลดลงไปอยู่ที่ในอัตรา 4% หรือต่ำกว่าและหากเป็นเช่นนี้จะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจในปี 2550 โดยทิศทางของอัตราดอกเบี้ยน่าจะทรงตัวโดยเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี 14 วัน)  ได้เริ่มทรงตัวหลังจากที่ต้นปี  ธปท.  มีการประกาศปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองเชื่อว่าน่าจะเริ่มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วเนื่องจากการในปัจจุบันสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ยังเหลืออยู่และในสิ้นปีนี้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับที่ 5%
 
           นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประกาศดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของช่วงเดือน พฤษภาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 94.3% ซึ่งการที่ดรรชนีความเชื่อมั่นการผลิตของไทยยังคงอยู่ที่ระดับสูงเช่นนี้  อาจไม่ได้แสดงถึงผลประกอบการที่ดี ทั้งนี้จากปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงทำให้ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น แต่เนื่องจากสภาวะการแข็งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกและสินค้าที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ  ซึ่งนอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้วยังจะต้องแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนและประเทศคู่แข่งทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้า    ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ภาคการผลิตอาจมีการชะลอตัวลงบ้างเพราะไม่สามารถรองรับสภาวะการขาดทุน อีกทั้งปัจจัยขีดความสามารถในการจับจ่ายของผู้บริโภคจะลดลง     รวมทั้งปัญหา NPL ของหนี้สินภาคประชาชนโดยเฉพาะภาคเกษตรกรเมื่อบวกกับการชะงักงันในการแก้ไขปัญหาจากภาคการเมืองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรากหญ้าและจะเป็นการลดอำนาจซื้อของประชาชน     อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีท่าที่จะปรับลดลงซึ่งคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันทั้งปี 2549 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 69.98 เหรียญสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ซึ่งมีราคาเฉลี่ย 57.72 เหรียญสหรัฐฯ  โดยราคาปัจจุบันประมาณเฉลี่ยที่ 74.0 เหรียญสหรัฐฯ / บาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันในปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 27.89% ดังนั้นแนวโน้มในครึ่งปีหลังและต้นปี 2550 ดรรชนีภาคการผลิตน่าจะมีทิศทางขาลงและผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะประสบกับการขาดทุน โดยผลกระทบจะตกอยู่กับ SMEs  เพราะขาดอำนาจการต่อรองทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง

            โดยสรุปสถานการณ์ขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยภายใต้วิกฤติราคาน้ำมันและการชะลอตัวของคู่ค้าที่สำคัญของไทย จะก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะมากระทบต่อภาคเศรษฐกิจไทย ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 6.2 โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจะเกิดจากการไม่ลงตัวทางการเมือง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2549 ทั้งปี ว่าจะขยายตัวได้ 4.2-4.9 ต่อ GDP แต่สถาบันภาคเอกชนประมาณการว่าการขยายตัวจริงน่าจะอยู่ที่ 3.8-4.1 ต่อ GDP แต่ปัญหาใหญ่มากกว่านั้นก็คือเรื่องของการขาดดุลการค้าและดุลบริการ รวมถึง วิกฤติการณ์ในเลบานอน จะส่งผลอย่างไรต่อระดับราคาน้ำมัน ซึ่งทั้งหมดจะมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เอาว่า..อยากรู้ก็ต้องติดตามในฉบับหน้าครับ


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก