บทความเรื่อง :: รายงานสภาวะทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของประเทศไทย (ม.ค.-มิ.ย.49)
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP         

             สภาวการณ์ทั่วไปของไทยในช่วงแรกของปี 2549 เป็นช่วงที่ประสบกับความยุ่งยาก โดยประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งจากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนไปแตะที่ 74-76 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล    ตามด้วยการแข็งค่าของเงินบาทเทื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ส่งผลต่อการขาดดุลการค้าและดุลชำระเงินติดต่อกัน     อีกทั้งประเทศไทยยังประสบกับปัญหาเงินเฟ้อและการปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งจากธนาคารกลางสหรัฐฯและธนาคารพาณิชย์ของไทยซึ่งเกิดจากปัญหาราคาย้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของประชากรมีการปรับตัวสูงขึ้น  นอกจากนี้ในช่วงปีแรกภาคเศรษฐกิจยังประสบกับปัญหาที่เกิดจากความอึมครึมทางการเมืองและการไม่มีรัฐบาล (ถาวร) ที่จะมาแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจรวมถึงการไม่สามารถเปิดสภาผู้แทนราษฎรเพื่อการพิจารณากฎหมายและที่เกี่ยวกับงบประมาณปี 2550  โดยทั้งหมดที่กล่าวถึงล้วนเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อสภาวะการทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของไทยดังนี้

1. ด้านการลงทุนจากต่างประเทศ 
           ในครึ่งปีแรกของปี 2549 มีการขอส่งเสริมเพียง 183,000 ล้านบาท ลดลง 53% จากช่วงเดียวกันปีก่อนซึ่งทาง BOI คาดว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมตลอดทั้งปี 2549 ประมาณ 400,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ  800,000  ล้านบาทโดยสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้เหตุผลว่า  “การลงทุนที่ผ่านมามีลักษณะเป็นกิจการต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าโครงการไม่มาก และส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในประเทศโดยสาเหตุสำคัญที่การส่งเสริมลดลงอาจไม่ได้เกิดมาจากปัญหาทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ปีที่ผ่านมาโครงการใหญ่ๆ เข้ามาลงทุนเกือบหมดแล้ว”    ซึ่งในประเด็นนี้ควรจะมีการพิจารณาถึงข้อเท็จจริงว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากสภาวการณ์และบรรยากาศการลงทุนของไทยทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจปัญหาการเมืองและปัญหาการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดภาคใต้     ล้วนแต่ไม่เอื้ออำนวยต่อการที่นักลงทุนต่างประเทศจะใช้ไทยเป็นฐานการผลิต     โดยประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนามมีสภาวะแวดล้อมและปัจจัยทางด้านการลงทุนที่ดีกว่าไทยอีกทั้งกระแสการลงทุนของโลกยังมุ่งไปลงทุนในประเทศจีน

2. ด้านการส่งออก
          สำหรับด้านการส่งออกของไทยในครึ่งปีแรกขยายตัว 16.73 % แต่เนื่องจากสภาวะอัตราเงินบาทของไทยมีการแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินสหรัฐฯ โดยประมาณ 38.76  บาท/เหรียญสหรัฐฯ จะส่งผลให้ในครึ่งปีหลังการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 9.87% โดยหน่วยงานของรัฐได้ประมาณการณ์การส่งออกทั้งปี 2549 น่าจะเป็น 13.07% คิดเป็น มูลค่าประมาณ 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยประมาณว่าการนำเข้าทั้งปี 2549 จะขยายตัว 11.69 % เป็นมูลค่า 1.32 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้จะขาดดุลการค้าคิดเป็นมูลค่า 6,481 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังคงขาดดุลสะพัดอีกประมาณ 2,190 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขหลังหักเงิน CAPITAL INFLOW ภาคบริการการท่องเที่ยวมูลค่า 21,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ   ซึ่งการขยายตัวจากการส่งออกในปีนี้จะน้อยกว่าปี 2548 ซึ่งขยายตัวได้ 25.72 % สาเหตุที่ทำให้การส่งออกขยายตัวไม่ได้ตามเป้าหมายปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของโลกชะลอตัวลงโดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ในการส่งออกสินค้าไทยโดยปีนี้  คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวเพียง 3.3% ลดลงจากปี 2548 ที่ขยายตัว 3.5 % อีกทั้ง ทิศทางระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อบวกกับปัญหาค่าพลังไฟฟ้าที่สูงขึ้นโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทของไทย เมื่อเทียบกับเงินสหรัฐอเมริกาแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค ทำให้ผู้ส่งออกมีการชะลอในการรับ Order โดยในปีนี้คาดว่าจะเป็นปีที่ผู้ส่งออกของไทยมีการขาดทุนมาก

3. ด้านเงินเฟ้อ
           ปัจจัยด้านเงินเฟ้อโดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งว่าในช่วงแรกของปีมีอัตราเงินเฟ้อ 5.0-5.9%  และคาดว่าในครึ่งหลังของปี 2549 จะลดเหลือประมาณ 4.0- 4.5 %  โดยทิศทางของเงินเฟ้อจะเป็นไปตามอัตราดอกเบี้ยของตลาดโลกซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นกอร์ปกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อเดือนจะปรับลดลง    อันเป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโลกและของไทยได้ผลกระทบจากวิกฤตราคาน้ำมันติดต่อกันเป็นระยะเวลานานส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงซึ่งไปผลักดันทำให้เกิดเงินเฟ้อ แต่การที่สินค้าราคาสูงขึ้นนี้ไม่ได้แสดงว่าเป็นความต้องการบริโภคที่แท้จริง ( Real Demand ) เพราะเงินเฟ้อที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากการขยายความต้องการ (Demand Pull) แต่เกิดจากต้นทุนการผลิตที่สูงจึงเป็นลักษณะ Cost Push เมื่อบวกกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารแห่งประเทศไทยมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ส่งผลต่อราคาสินค้าทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้ามีราคาสูงขณะที่ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก   อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์ของสถาบันภาครัฐและเอกชนเห็นว่าในช่วงปีหลังอัตราเงินเฟ้อจะลดลงไปอยู่ที่ในอัตรา 4% หรือต่ำกว่าและหากเป็นเช่นนี้จะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจในปี 2550 ซึ่งเศรษฐกิจของโลกจะเข้าสู่ระยะเศรษฐกิจทดถอย และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกที่จะลดลงกว่าในปีนี้    อย่างไรก็ตามทิศทางของอัตราดอกเบี้ยน่าจะทรงตัวโดยเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (อาร์พี 14 วัน)  ได้เริ่มทรงตัวหลังจากที่ต้นปี  ธปท.  มีการประกาศปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองเชื่อว่าน่าจะเริ่มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วเนื่องจากการในปัจจุบันสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ยังเหลืออยู่และในสิ้นปีนี้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับที่ 5%

4. ดรรชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม
           สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ประกาศดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของช่วงเดือน พฤษภาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 94.3% จากระดับเดือนเมษายน 94.5 % ซึ่งแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม การที่ดรรชนีความเชื่อมั่นการผลิตของไทยยังคงอยู่ที่ระดับสูงเช่นนี้  อาจไม่ได้แสดงถึงผลประกอบการที่ดี ทั้งนี้จากปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงทำให้ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น แต่เนื่องจากสภาวะการแข็งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะสินค้าส่งออกและสินค้าที่ผลิตเพื่อขายในประเทศ      ซึ่งนอกจากจะต้องแข่งขันกันเองแล้วยังจะต้องแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนและประเทศคู่แข่งทำให้ผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้า       ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ภาคการผลิตอาจมีการชะลอตัวลงบ้างเพราะไม่สามารถรองรับสภาวะการขาดทุน อีกทั้งปัจจัยขีดความสามารถในการจับจ่ายของผู้บริโภคจะลดลง     รวมทั้งปัญหา NPL ของหนี้สินภาคประชาชนโดยเฉพาะภาคเกษตรกรเมื่อบวกกับการชะงักงันในการแก้ไขปัญหาจากภาคการเมืองจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรากหญ้าและจะเป็นการลดอำนาจซื้อของประชาชน     อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่มีท่าที่จะปรับลดลงซึ่งคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันทั้งปี 2549 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 69.98 เหรียญสหรัฐฯ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ซึ่งมีราคาเฉลี่ย 57.72 เหรียญสหรัฐฯ  โดยราคาปัจจุบันประมาณเฉลี่ยที่ 74.0 เหรียญสหรัฐฯ / บาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันในปีนี้สูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 27.89% ดังนั้นแนวโน้มในครึ่งปีหลังและต้นปี 2550 ดรรชนีภาคการผลิตน่าจะมีทิศทางขาลงและผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะประสบกับการขาดทุน โดยผลกระทบจะตกอยู่กับ SMEs  เพราะขาดอำนาจการต่อรองทำให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูง

5. สถานการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย
          จากปัจจัยการชะลอตัวของคู่ค้าที่สำคัญของไทยส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว    อีกทั้งปัญหาราคาสินค้าที่สูงขึ้นซึ่งเกิดจากวิกฤตราคาน้ำมันรวมถึงอัตราดอกเบี้ยซึ่งสูงขึ้น      ทำให้การบริโภคของตลาดภายในประเทศลดลง และจากปัญหาการไม่ลงตัวทางการเมืองของไทย ส่งผลให้ทางกระทรวงการคลังประกาศแจ้งอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยทั้งปี 2549 น่าจะเป็น 4.5% แต่สถาบันภาคเอกชนประมาณว่าน่าจะเป็น 3.8-4.1% โดยคาดการณ์ว่าในปี 2550 การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะมีการขยายตัวเพียง 2% แต่สถาบันภาครัฐพยากรณ์ว่าจะโต 3.5-4%

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP)    
 

ประการแรก    ปัญหาสถานการณ์ ทางการเมืองมีความยืดเยื้อขนาดไหน และวันที่ 15 ตุลาคม  2549 จะมีการเลือกทั้งหรือไม่    และหากมีการเลือกตั้งใครจะเป็นรัฐบาลและกลุ่มที่เสียประโยชน์จะยังมีการคุกคามต่อกลไกการทำงานของรัฐบาลใหม่อีกหรือไม่   โดยในระยะเฉพาะหน้าอีก 2-3 เดือนข้างหน้าการจัดสรรงบประมาณปี 2550 จะดำเนินการได้เพียงใด     ซึ่งทั้งหมดจะเป็น INPUT  ที่มีผลต่อการใช้จ่ายของรัฐบาลหรือ Government Expense (G)    ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลที่มาใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการเพิ่มตัวเลข GDP 


 ประการที่สอง สภาวะราคาน้ำมันในปีนี้น่าจะทรงตัวที่ระดับราคาเฉลี่ย 70-74  เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางราคาสินค้าของโลก และมีผลต่อต้นทุนการผลิตของไทยรวมถึงอำนาจการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง     ซึ่งจะเป็นปัจจัยต่อการบริโภคของภาคประชาชน (C)


  ประการที่สาม   มาตรการในการเร่งการส่งออกโดยต้องเร่งแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า (NET EXPORT) โดยในปี 2549 คาดว่าจะขาดดุลการค้า 6,481 ล้านบาท โดยเศรษฐกิจของสหรัฐส่อเค้าจะชะลอตัวลง รวมถึงทิศทางแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลล่าร์ ของไทยแข็งค่าเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาค ซึ่งปัจจัยสำคัญจะต้องดูทิศทางของเงินสกุลหยวนของจีนซึ่งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ทางธนาคารกลางของจีนได้หันมาใช้วิธีระบบตะกร้าเงินแบบมีการจัดการ ซึ่งค่าเงินหยวนยังต่ำกว่าความจริงกว่า 20 %     อย่างไรก็ตามเนื่องจากทิศทางการปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินสกุลเยน    แต่อาจส่งผลให้บางช่วงค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงไปตามความเชื่อมั่นของต่างชาติ  ซึ่งเป็นผลจากความอึมครึมทางการเมืองของไทย ซึ่งก็จะส่งผลดีต่อการส่งออกบ้างแต่จะเป็นปัจจัยเชิงบวกไม่มากนักเพราะประเทศไทยมีปัญหาหลายประการเกิดขึ้นซ้ำซ้อนในเวลาเดียวกันทำให้แก้ปัญหาได้ลำบาก


ประการที่สี่  ประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์อย่างไรในการดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศหรือ Foreign Direct Investment (I) ซึ่งทาง BOI จะต้องไปจัดทำยุทธศาสตร์และโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ว่าไทยเป็นแหล่งที่น่าลงทุนอย่างไรท่ามกลางข้อมูลข่าวสารและสื่อว่าประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลที่ถาวรและปัญหาทางการเมืองของไทยยังหาทางออกไม่พบ    อีกทั้งปัญหาการก่อการร้ายใน 3 จังหวัดภาคใต้ก็ยังปรากฏในข่าวรายวันซึ่งทาง BOI ควรเร่งทบทวนพิจารณาสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนที่จูงใจและแข่งขันกับจีนและเวียดนามซึ่งในระยะเวลาสั้นๆ คงจะทำอะไรได้ไม่มากนัก


ทิศทางเศรษฐกิจครึ่งหลังปี 2549- ต้นปี 2550

          สถานภาพการขยายทางเศรษฐกิจของไทยจากนี้ไปจนถึงต้นปี 2550    จะค่อนข้างขุ่นมัวโดยปัจจัยที่น่าเป็นห่วงและจะมีผลต่อการเติบโตของ GDP ของไทย น่าจะเป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งเกิดจากที่ประเทศไทยจะยังไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ในการออกกฎหมาย และเป็นช่วงของรัฐบาลรักษาการณ์ อีกทั้งการพิจารณาเรื่องการยุบพรรคการเมืองใหญ่  2  พรรคว่าผลสรุปจะออกมาในรูปใดและใช้เวลานานแค่ไหน     อีกทั้งการเลือกตั้งในเดือน ตุลาคม 2549 จะมีหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคเศรษฐกิจและต่อนักลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศ   นอกจากนี้ยังมีปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณปี 2550 ซึ่งตามข้อกฎหมายรัฐบาลรักษาการณ์สามารถเบิก-จ่ายได้ ไม่เกินจากยอดงบประมาณในปี 2549 และเบิกใช้ได้เฉพาะในงานประจำ ซึ่งทั้งหมดจะมีผลกระทบไปอย่างน้อยถึงปลายปี 2549 และจะส่งผลไปถึงต้นปีหน้า โดยโครงการใหม่ๆ หรือแผนงานใหม่ๆ จะไม่สามารถกระทำได้ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการชะลอการลงทุนจากต่างประเทศโดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงหลังปี 2549 และต้นปีหน้า คาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้การส่งออกทำได้ลำบาก และจะทำให้ขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องและปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้   จะทำให้ไทยไม่สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งจะส่งผลให้เงินดุลเดินสะพัดของไทยติดลบมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อค่าของเงินบาทและการไหลออกของเงินสกุลแข็ง     ทั้งนี้ด้วยปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวนี้จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2549 น่าจะอยู่ที่  3.5-4.0% โดยหลายฝ่ายคาดว่าปี 2550 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอาจเป็นเพียง 2.0-2.5%  
  
           สำหรับปัญหาเงินเฟ้อของไทย    หากเป็นไปตามทฤษฏีจะพบว่าผลกระทบที่จะตามมาจากวิกฤตราคาน้ำมันซึ่งเกิดซ้ำๆกันในอดีตก็คือในช่วงต้นๆ จะเกิดปัญหา เงินเฟ้อ (Inflation) โดยระยะต่อมาจะกลายเป็นปัญหาสภาวะเงินฟุบ (Deflation) และตามมาด้วยการทดถอยทางเศรษฐกิจโลก เพียงแต่ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดเมื่อใดและในช่วงเวลาใด    โดยเมื่อเกิดจะเป็นระยะสั้นหรือในระยะยาวเท่านั้น (ซึ่งก็หวังว่าเหตุการณ์ดังกล่าวคงไม่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากหน่วยงานของรัฐและภาคเศรษฐกิจของไทยยังมีความแข็งแกร่งในการรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น )   นอกจากนี้การพิจารณาปัญหาเงินเฟ้อในระยะต่อจากนี้จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับปัจจัยของราคาน้ำมันซึ่งคาดว่าอัตราราคาค่าเฉลี่ยของน้ำมันทั้งปี 2549 น่าจะอยู่ที่ 70 เหรียญ/บาร์เรล โดยราคาสินค้าของโลกจะปรับสูงขึ้น 20-21% รวมถึงราคาสินค้าในประเทศก็จะได้รับผลกระทบ แต่เนื่องจากผู้ผลิตไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้หมด     ดังนั้นผู้ผลิตทั้งภายในประเทศและเพื่อการส่งออกอาจจะมีตัวเลขเชิงปริมาณที่ไม่น้อยกว่าครึ่งปีแรกซึ่งรวมไปถึงดรรชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมก็อาจลดน้อยกว่าปี 2549 ไม่มาก   แต่ผลประกอบการโดยรวมจะประสบกับการขาดทุนและอาจมีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างหนี้หรือ NPL น่าจะมีแนวโน้มไปในทางลบหรือ  Negative  โดยทิศทางของเงินเฟ้อในช่วงหลังของปี 2549 น่าจะมีอัตราลดลง โดยเห็นได้ว่า เดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 5.9% ลดจากอัตรา 6.2% ของเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย ในครึ่งปีหลังควรจะอยู่ที่ 4.0-4.5 % หรือต่ำกว่านี้ทั้งนี้ลักษณะของการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อจะมีผลในทิศทางเดียวกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งที่ผ่านมาทั้งธนาคารกลางโลกและธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการปรับตลอดเวลา     

          ดังนั้นในช่วงหลังของปีอัตราดอกเบี้ยน่าจะทรงตัวในอัตราดอกเบี้ยเงินโดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำน่าจะอยู่ที่ไม่เกิน 4-5% และโดยทิศทางของเงินเฟ้อของปี 2550 อาจมีเพียง 2.5-3% เท่านั้น     อย่างไรก็ตามการที่อัตราเงินเฟ้อมีการลดลงจะต้องมีการติดตามใกล้ชิดว่าเกิดจากมาตรการทางการเงินของรัฐในการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงหรือเกิดจากชะงักงันของภาคการบริโภคที่ไม่มีอำนาจซื้อ     รวมถึงปัจจัยที่เกิดจาก NPL และการแบกภาระหนี้สินของภาคประชาชนที่สูงขึ้นจนไม่สามารถมีเงินเหลือเพียงพอที่จะนำมาใช้ในการใช้สอย     ทั้งหมดจะส่งผลต่อการที่ภาคการผลิตไม่สามารถปรับราคาตามต้นเหตุที่เป็นจริงก่อให้เกิดการขาดทุนโดยหากเกิดในระยะเวลาที่ยาวก็จะลดกำลังการผลิตซึ่งจะไปทำให้ไปเกิดปัญหาเงินฟุบทั้งนี้หากอัตราเงินเฟ้อในปี 2550 เป็น 2.5-3.0 % จริงตามที่หลายหน่วยงานของรัฐและเอกชนได้พยากรณ์ น่าจะเป็นตัวเลขที่ส่อเค้าว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2550 จะมีอาการน่าเป็นห่วง

           ปัญหาการขาดดุลการค้าและการขาดดุลเดินสะพัดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และต้นปี 2550  คาดว่าไทยจะขาดดุลการค้า 6,481 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และขาดดุลเดินสะพัดประมาณ 2,190 ล้านเหรียญทั้งนี้ปัจจัยทางลบที่น่าจะเกิดกับภาคส่งออกของไทย ก็คือปัญหาการชะงักงันของการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ซึ่งไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้      และจะส่งผลต่อการที่สิทธิประโยชน์การนำเข้าสินค้าไทยเข้าสหรัฐ (GSP) จะถูกตัดสิทธิทั้งหมดในสิ้นปี 2549     โดยสินค้าส่งออกของไทยใช้สิทธิ GSP เป็นมูลค่า 3.5-4  พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากไทยมีข้อตกลง FTA กับสหรัฐฯ ก็สามารถโยกไปใช้อัตราภาษี “O” ขณะที่มาเลเซียและเกาหลีได้คาดว่าจะบรรลุข้อตกลง FTA กับสหรัฐฯ  ภายในสิ้นปี 2549 หรือไม่เกินเดือน กุมภาพันธ์ 2550 โดยมาเลเซียเป็นคู่ค้ากับสหรัฐฯเป็นอันดับ 10 ขณะที่ไทยอยู่ที่อันดับที่ 17 ซึ่งหากไทยบรรลุข้อตกลง FTA กับสหรัฐฯ จะทำให้ไทยขึ้นมาอยู่ในลำดับ 10 และมาเลเซียจะอยู่ท้ายไทย โดยการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯเป็นอัตราส่วนเกือบ 20% ของการส่งออกซึ่งที่กล่าวถึงล้วนเป็นปัจจัยต่อตัวเลขการส่งออกในปี 2550  ซึ่งหากไทยไม่มีรัฐบาลที่จะมากำหนดยุทธศาสตร์และผลักดันแผนงานต่างในการแก้ปัญหาทั้งด้านการส่งออก     การแก้ปัญหาราคาน้ำมันรวมถึงด้านการสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศในการเพิ่มการลงทุนในประเทศไทยและการมีมาตรการต่างในการส่งเสริมการท่องเที่ยวรวมถึงการแก้ปัญหาด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและและเศรษฐกิจภายในประเทศโดยเฉพาะปัญหาสามจังหวัดภาคใต้และปัญหาการชะงักงันของการเมือง   ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยส่งผลให้ปี 2550 จะเป็นปีที่ยากต่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ


 


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก