บทความเรื่อง :: ทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย..ในอนาคต
 


           ภายใต้บริบทของกลไกการค้าโลกในปัจจุบันและการเปิดเสรีทางการค้า ไม่ว่าจะเป็น FTA , WTO และ AFTA ก่อให้เกิดสภาวการณ์แข่งขันในภาคธุรกิจ ซึ่งแต่เดิมอาจจะเป็นการแข่งขันภายในประเทศหรือภายในภูมิภาค กลับต้องเผชิญกับการแข่งขันในระดับโลก กรณีของประเทศไทยสัดส่วนภาคเกษตรต่อ GDP น่าจะไม่ถึง 12% ขณะที่ภาคการค้าและภาคอุตสาหกรรม จะเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาความอยู่ดีกินดีของคนไทย ดังนั้น แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค จึงจะต้องให้ความสำคัญต่อภาคเอกชน โดยเฉพาะภาครัฐ จะต้องเร่งส่งเสริมศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ซึ่งทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย เพื่อจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จะต้องมียุทธศาสตร์ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเทคโนโลยีกับการเปลี่ยนแปลงด้านกลไกการค้าในบริบทของโลก อุตสาหกรรมไทยจะต้องหันกลับมาพัฒนาเทคโนโลยี โดยการลดการพึ่งพาแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณและแรงงานราคาถูก การแก้ปัญหาเกี่ยวกับภาครัฐ เกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าวในลักษณะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ว่าจะเป็นการขยายระยะเวลาการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและการปรับลดค่าธรรมเนียม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมออกมาโวยวายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว หรือการให้ภาครัฐเพิ่มโควตาในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในระยะสั้น ผู้เขียนเห็นด้วยเพราะยังมีอุตสาหกรรมอยู่หลายคลัสเตอร์ จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว เนื่องจากแรงงานชาวไทยไม่ทำ รวมถึงอุตสาหกรรมบริการโลจิสติกส์ ก็เริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับแรงงาน ซึ่งต้องยังมีการแบกหามก็มีคนไทยมาทำงานยากขึ้น

           อย่างไรก็ดี ในระยะ 3-5 ปี ต่อจากนี้ไป เราคงจะไม่สามารถพึ่งพิงกับอุตสาหกรรมประเภท Labour Intensive เพราะอย่างไรเสีย ขีดความสามารถแรงงานราคาถูก ไทยคงไม่สามารถสู้กับจีน เวียดนาม รวมทั้งอินเดีย และหรือประเทศพม่า ซึ่งที่สุดเขาก็จะต้องพัฒนาประเทศและมาแข่งขันกับประเทศไทย ดังนั้น ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงอุตสาหกรรม จะต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถของภาคเอกชน รวมถึงการรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต ซึ่งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมทั้ง SMEs ในต่างจังหวัดจะต้องเร่งพัฒนาไปสู่กลไกการค้าโลก และสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยเฉพาะภาคธุรกิจไทยจะต้องให้ความสำคัญต่อการนำระบบโลจิสติกส์เข้ามาใช้ในการพัฒนาประสิทธิภาพ ทั้งด้านต้นทุน การจัดส่ง รวมถึงเครือข่ายโซ่อุปทาน โดยทิศทางการพัฒนาของภาครัฐไม่ควรจะใช้วิธีแบบเหวียงแห กับทุกอุตสาหกรรมเหมือนกันหมด ซึ่งแนวคิดใหม่นี้ผู้เขียนเสนอใหม่ว่า ควรจะมีการแบ่งคลัสเตอร์ออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแรกเป็นกลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถในระดับ World Class ภาครัฐก็ควรจะเร่งพัฒนาหรือช่วยเหลือให้ธุรกิจเหล่านั้นมีความแข็งแกร่ง มี Performance เพิ่มขึ้น เพื่อจะช่วงชิงตลาดใหม่ๆในต่างประเทศ กลุ่มที่สอง กลุ่มที่มีขีดความสามารถด้านการแข่งขันในระดับภูมิภาค คือ เป็นระดับ Region ก็ควรจะส่งเสริมทั้งเทคโนโลยี ทุน และเครือข่าย เพื่อให้ธุรกิจเหล่านั้นขยายเข้าไปแข่งขันในระดับ World Class ตรงนี้ผู้เขียนหมายถึงอุตสาหกรรมที่ไปตั้งฐานหรือเข้าไปครองตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในจีนและเอเชีย ก็ควรจะพัฒนาให้อุตสาหกรรมขยายไปสู่ตลาดยุโรป , สหรัฐฯ , ญี่ปุ่น สำหรับกลุ่มที่สาม กลุ่มซึ่งขาดขีดความสามารถที่จะไปแข่งขันในต่างประเทศ คือ เป็นกลุ่ม Domestics Cluster ภาคธุรกิจก็ต้องพัฒนาผู้ประกอบการเหล่านั้นให้เข้าใจถึงมาตรการภายใต้ข้อตกลง FTA โดยเฉพาะ FTA จีน-อาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้ตลาดภายในประเทศจะต้องเปิด ซึ่งอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่เป็น SMEs จะต้องเร่งในการลดต้นทุนเพื่อให้ยังสามารถแข่งขันได้ของประเทศไทย ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นภาคการผลิต Manufacturing แต่หมายถึง อุตสาหกรรมบริการหรือ Service Industries เช่นผู้ประกอบการให้บริการโลจิสติกส์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของคนไทย ซึ่งยังขาดความพร้อมอีกมากในการที่จะไปสู่ New Wave Industries หรืออุตสาหกรรมใหญ่ ภาครัฐไม่ควรเปลี่ยนลอยแพให้ผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนบอกได้เลยว่าไปไม่รอด เพราะผู้ประกอบการไทยเหล่านี้ยังไม่สามารถปรับตัวสู้ New Wave Industries และส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้  โดยเฉพาะ SMEs ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมภาคบริการและผู้ประกอบการให้บริการโลจิสติกส์คนไทย ซึ่งสู้ต่างชาติไม่ได้แน่นอน อย่ามัวแต่ยึดติดว่าให้แข่งขันเสรี เพราะมือที่มองไม่เห็นจะมาจัดความสมดุลเอง ที่เรียกว่า “Invisible Hand” ตามหักเศรษฐศาสตร์นั้น ข้อเท็จจริงไม่มี มีแต่มือใครยาวก็สาวได้สาวเอา ซึ่งภาครัฐของทุกประเทศเขาจะเข้ามาดูแลคนของเขา

           ดังนั้น ทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยในอนาคต โดยเฉพาะหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและมีรัฐบาลใหม่ (อรกครั้ง)ทั้งภาคการผลิตและภาคการบริการ ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยผู้ประกอบการไทย ทั้งในแง่การประชาสัมพันธ์และการฝึกอบรม รวมถึง เกี่ยวกับการส่งเสริมทางด้าน R&D ของไทย ซึ่งมีน้อยมาก และอย่าสับสนในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยแบบที่ผ่านมาในอดีตที่มองและพัฒนาเป็น Cluster หรือกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มพลาสติก , อิเล็กทรอนิกส์ เพราะข้อเท็จจริงแต่ละ Cluster มีศักยภาพขีดความสามารถและขนาดซึ่งแตกต่างกันมาก มีทั้งใหญ่-กลาง-เล็ก บางโรงงานมีปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี บางโรงงานมีปัญหาด้านการตลาด หรือบางโรงงานมีปัญหาด้านทุนหรือด้านบริหาร ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกลุ่ม (Cluster) อุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งแต่เดิมใช้ยาขนานเดียวกัน  ในการแก้ปัญหา ผมเคยสนทนากับผู้ช่วยรัฐมนตรีท่านหนึ่ง บอกว่ากลุ่มหรือโรงงานใด พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave Industries) ไม่ทันก็ให้ทิ้งไว้ก่อน ฟังแล้วตกใจครับ!!  เพราะการแก้ปัญหาอุตสาหกรรม ต้องพัฒนาไปด้วยกันทั้งพร้อมและไม่พร้อมอุตสาหกรรมไทยต้องใช้เวลาในการปรับไปสู่ New Wave Industries ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่กรณีเช่นนี้ รถไฟต้องไปเป็นขบวน มิฉะนั้น จะพากันตกรางหมด การพัฒนาจึงควรแยกตามลักษณะจากขีดความสามารถ ซึ่งผู้เขียนแยกไว้ 3 กลุ่ม ดังรายละเอียดข้างต้น อย่าปล่อยให้ SMEs ไทยช่วยตัวเอง แบบอยู่ใครอยู่มัน โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ผู้ว่า CEO จะต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดแบบเจ้าขุนมูลนาย ซึ่งต่างจังหวัดยังใช้อยู่ โดยจะต้องมียุทธศาสตร์ของจังหวัดอย่างชัดเจนในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายในการแข่งขันในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก หากทำเองไม่ได้ก็ควรจะใช้ Outsources ข้างนอก ควรจะหาคนที่เป็นจริงๆมาพัฒนามาช่วยคิด อย่าเอาพวกที่ชอบอ่านตำราฝรั่งแล้วพูดตามศัพท์แปลกๆ ฟังก็เก่า แต่ไม่รู้เรื่อง คนพูดก็มีแต่ทฤษฎีเอาไปปฏิบัติไม่ได้ ที่ผ่านมางบประมาณที่ใช้จำนวนมากกลับไม่ได้ผลเท่าที่ควร ส่วนที่หลายหน่วยงานราชการชอบมีการไปดูงานต่างประเทศที่ไปกันบ่อยๆ ก็ควรจะไปเอาแบบอย่างของเขาเช่น ของประเทศจีน ซึ่งภาครัฐมีการพัฒนาให้กับภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ มีทั้งช่วยเหลือด้านเทคโนโลยี การเงิน และศูนย์บ่มเพาะ (Incubate Center)  ขณะที่ของไทยเราเองยังไม่มีทิศทางในการพัฒนาที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม ถึงช้าไปหน่อยก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย...จริงไหมครับ


 


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก