บทความเรื่อง :: ขีดความสามารถการแข่งขันของไทยกับการพัฒนาโลจิสติกส์
 


         เมื่อเร็วๆนี้ Institute for Management (IMD) ซึ่งเป็นสถาบันการพัฒนาและการจัดการของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ได้จัดอันกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆได้ออกรายงานประจำปี ค.ศ.  2005 โดยจัดให้ไทยเป็นประเทศซึ่งมีขีดความสามารถในการแข่งขันในลำดับที่ 9 ของโลก โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับที่ 1 ตามมาด้วยแคนนาดา , ออสเตรเลีย , ไต้หวัน , จีน ,ญี่ปุ่น , สหราชอาณาจักร และเยอรมัน โดยมีประเทศมาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 10 ซึ่งเป็นการสำรวจจาก 60 ประเทศทั่วโลก เป็นที่น่ายินดีต่อรายงานดังกล่าว แสดงให้เห็นขีดความการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งมีความแข็งแกร่งจนได้รับการเลื่อนอันดับ จากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ไทยอยู่ในลำดับที่ 29 โดยในครั้งนี้ไทยเราชนะประเทศมาเลเซีย ปัจจัยสำคัญที่ไทยได้รับการยอมรับถึงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจนอยู่ในระดับต้นๆของโลก ก็คือ การลงทุนจากต่างประเทศ ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ในปีที่แล้วมีตัวเลขที่เพิ่มจากปีที่ผ่านมาถึง 62% คิดเป็นเงินประมาณ 12.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนการลงทุนที่สูงสุดที่ไทยเคยมี ซึ่งจะสอดคล้องจากการจัดลำดับของ UNCTAD ซึ่งจัดให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 3 รองจากจีนและอินเดีย ในฐานะเป็นประเทศที่มีทำเลในด้านการลงทุนทางธุรกิจที่ดีที่สุดในเอเชียแปซิฟิค ซึ่งก็เป็นการจัดอันกับในปี 2005 เช่นกัน โดยตัวเลขการส่งออกของไทยที่เกิดจากอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูง ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และเครื่องอะไหล่ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ New Wave Industries โดยประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตในธุรกิจแขนงนี้ เนื่องจากจะมีโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นให้ความสนใจและเคลื่อนย้ายมาลงทุนในประเทศไทยอีกหลายราย

          ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประเทศไทยมีการตื่นตัวในการนำระบบโลจิสติกส์เข้ามาพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้ง ภาครัฐได้มีนโยบายในการส่งเสริมการพัฒนาโลจิสติกส์ให้เป็นวาระแห่งชาติ รวมถึง การมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (Logistics HUB) ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมใหม่ ประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น HUB ของยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ภายในปี 2008 โดยโลจิสติกส์จะมีบทบาทอย่างมากต่อความสำเร็จที่ไทยจะเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่ภายใต้ประสิทธิภาพของการส่งมอบที่เป็น Just in Time ผสมผสานกับการผลิตในลักษณะเชิงปริมาณ (Economies of Scale on demand driven) ซึ่งโลจิสติกส์ที่ดีจะส่งผลต่อต้นทุนรวมและเป็นการผลิตและส่งมอบบนฐานความต้องการของลูกค้า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ การมองในเชิงมหภาคหรือองค์รวมจากการจัดอันดับของ IMD อาจจะเห็นว่าภาคธุรกิจของไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูง จนอยู่ในลำดับที่ 9 ของโลก อันนี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นภาพลวง เพราะขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูง ซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล่านี้ มีตัวเลขยอดขายรวมกันหลายแสนล้านบาท ทั้งหมดเป็นของต่างชาติ ซึ่งเคลื่อนย้ายเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและใช้วัสดุนำเข้า โดยนำเทคโนโลยีและการจัดการ           โลจิสติกส์ชั้นสูง ที่เรียกว่า Global Network Logistics ซึ่งไม่ได้สะท้อนขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยที่เป็น SMEs ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น (Labour Intensive Industrial) รวมถึงอุตสาหกรรมที่ยังไร้ทักษะ โดยสรุปก็คือเป็นอุตสาหกรรมเก่า ซึ่งธุรกิจเหล่านี้อาจจะเป็นตัวเลขไม่มาก แต่จะมีปริมาณมากและใช้แรงงานจำนวนมาก (หลายล้านคน) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์เหล่านี้ยังต้องมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์อีกมากและยังขาดขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ทั้งนี้ ภาครัฐอย่ามัวแต่ปลื้มใจจากการจัดลำดับตัวเลขของต่างประเทศที่บอกว่าไทยเป็นประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง และอย่าเอาใจเฉพาะอุตสาหกรรมใหญ่และอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave Industry) ซึ่งส่วนใหญ่ช่วงตัวเองได้และเป็นของต่างชาติ  ซึ่งผู้เขียนได้เคยสนทนากับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบอกว่าธุรกิจเหล่านี้ หากพัฒนาไม่ทันก็จะทิ้งไปก่อนแล้วค่อยมาพัฒนาภายหลังอันนี้ได้ฟังแล้วตกใจจริงๆ โดยทั้งนี้ภาครัฐควรจะให้ความสนใจต่ออุตสาหกรรม SMEs  ของไทย ซึ่งยังไม่ค่อยจะพัฒนาและไม่สามารถที่จะแข่งขัน อุตสาหกรรมของไทยนั้นยังจะต้องมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและการจัดการโลจิสติกส์ควบคู่กันไป โดยภาครัฐจะต้องมีการจัดทำแผนการรองรับการเปลี่ยนแปลง (Management of Change) ด้านเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะ สสว. หรือสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งทราบว่ามีการใช้งบประมาณจำนวนมากเกี่ยวกับการพัฒนาโลจิสติกส์ก็คงจะต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรที่จะทำให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถนำการจัดการโลจิสติกส์เข้าไปปรับใช้ในงาน เพื่อลดต้นทุนการผลิตต้นทุนการขนส่ง , ต้นทุนการจัดเก็บสินค้า ฯลฯ เพื่อให้สินค้าส่งมอบให้กับลูกค้าได้ทันเวลา ภายใต้ต้นทุนที่แข่งขัน โดยผู้ผลิตเหล่านี้จะต้องปรับตัวให้สามารถเป็นซัพพลายเออร์ รายย่อยในฐานะเป็น Outsources สนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อีกทั้ง โครงการนี้เกี่ยวข้องกับศูนย์บ่มเพาะ ผู้ประกอบการใหม่ (SMEs Incubator Center) ที่เห็นฮิตอยู่พักหนึ่งก็ควรจะนำมาปัดฝุ่น ขณะเดียวกันกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จะต้องมีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโลจิสติกส์ ทั้งในแง่การผลิตบุคลากรและในแง่ของการลดต้นทุน โดยโครงการของแต่ละหน่วยงานของภาครัฐ ควรจะมีการเชื่อมโยงบูรณาการกัน หากประเทศไทยยังไม่เข้าใจถึงเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถของ SMEs ให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้แล้ว อุตสาหกรรมเหล่านี้จะสูญพันธ์ ผลก็คือ การลงทุนจากต่างประเทศ จะเข้ามาเป็น Cluster คือธุรกิจ SMEs ของต่างชาติจะเข้ามาในลักษณะอุตสาหกรรมบริวารให้กับบริษัทแม่ของต่างชาติ ซึ่งเขาจะอ้างว่า SMEs ของไทย ไร้ประสิทธิภาพ แบบนี้ ถึงแม้ว่าไทยจะได้รับการจัดอันดับในฐานะประเทศ ซึ่งมีการแข่งขันสูง ก็จะไม่มีประโยชน์ เพราะว่าผลประโยชน์ที่ได้จะตกไปอยู่กับธุรกิจต่างชาติกำไรที่ได้ก็ขนออกไปหมด..คนไทยก็กินแต่แห้วจะมีก็เพียงไม่กี่คนได้ประโยชน์ เรื่องอย่างนี้ต้องมีหัวใจรักชาติกันบ้าง เห็นช่วงนี้ก็มีม็อบก็ออกมารักชาติกันทั้งนั้น..จริงไหมครับ...


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก