บทความเรื่อง :: บทบาทของ RFID กับการจัดการโซ่อุปทาน
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP           

          ในระยะนี้ RFID ได้เริ่มเป็นที่รู้จักและมีการกล่าวขานถึง โดยมีการพยากรณ์ว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเข้ามาแทนที่ระบบ Barcode จากการเปิดเสรีการค้า ทำให้ประเทศคู่ค้าหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา , ยุโรป (EU) จะมีมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่เป็น Non Tariff Barrier โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการก่อการร้าย ซึ่งสินค้าที่ส่งออกจะต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มา รวมถึงรายละเอียดของสินค้า กระบวนการผลิต และแหล่งผลิต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ RFID เข้ามามีบทบาทต่อกระบวนการจัดการ Supply Chain หรือโซ่อุปทาน หากย้อนกลับมาที่ประเทศไทยภาคอุตสาหกรรมและภาคโลจิสติกส์ ยังมีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้น้อยมากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการบางรายยังไม่รู้จัก RFID    หรือหนักไปกว่านั้นยังไม่เคยได้ใช้ประโยชน์จากบาร์โค้ดเลย อย่างไรเสีย ก็ยังไม่สายหากจะมาเริ่มต้นรู้จักกับบทบาทของ RFID ที่จะมีต่อภาคอุตสาหกรรมและการกระจายสินค้า

           RFID หรือ Radio Frequency Identification เป็นไมโครชิพอัจฉริยะ โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุเข้ามาช่วยอ่านรหัสเฉพาะตัวของสินค้าในขณะที่มีการเคลื่อนไหวพร้อมกันได้หลายชิ้น (Tag) ด้วยความเร็วสูงตั้งแต่ 50 ชิ้นต่อนาที และสามารถอ่านค่าของสินค้านั้นได้ แม้จะอยู่ในระยะไกล ซึ่งจะต่างกับระบบบาร์โค้ดแบบเดิม ซึ่งจะต้องนำสินค้านั้นไปแนบติดกับเครื่องอ่าน (Scanner) หรืออุปกรณ์อ่านค่าบาร์โค้ด ซึ่งมีข้อจำกัดของข้อมูลที่ไม่สามารถให้รายละเอียดได้เหมือนกับ RFID ซึ่งจะมีไมโครชิพ หรือ Digital Chip ซึ่งมีขนาดเล็กมาก แต่มีขีดความสามารถในการเก็บข้อมูลและสามารถส่งสัญญาณวิทยุ แม้แต่ในที่ปิดทึบ โดยอาศัยเสาอากาศรับสัญญาณ เพื่อใช้ในการถอดรหัสส่งเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จะทำให้ RFID เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ซึ่งเน้นประสิทธิภาพของข้อมูลข่าวสาร เพื่อประโยชน์ต่อการส่งมอบแบบทันเวลา เพื่อลดต้นทุนจากการเก็บสต๊อกสินค้า บทบาทของ RFID จากนี้ไปจะเข้ามาแทนที่ Barcode และนำมาใช้เป็นพื้นฐานของกระบวนการต่างๆ ในระบบโลจิสติกส์ เช่น นำมาใช้กับการติดสลากสินค้าจะสามารถนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การจัดเก็บสินค้าคงคลังแบบอัตโนมัติ โดยที่ใช้ระบบสายพานลำเลียงสินค้าไปจัดเก็บตามชั้นวางของและเมื่อเชื่อมโยงกับระบบ Inventory Data Control ก็สามารถใช้ในการบริหารสินค้าคงคลัง โดยจะส่งข้อมูลบันทึกการรับ-จ่ายและสินค้าคงเหลือ โดยไม่ต้องผ่านการคีย์ข้อมูล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการติดตาม (Tracking) การเดินทางของสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์ รวมถึงการขนส่งทางไกล เช่น การขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ (Container) โดยการใช้ซื้ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี RFID ฝังอยู่จะทำให้สามารถตรวจสอบว่าสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์กำลังขนส่งอยู่ ณ ที่ใด โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า ประเทศผู้ส่งออกและเมืองท่าปลายทาง รวมถึงใครจะเป็นผู้รับสินค้า  เป็นการเพิ่มมาตรการความปลอดภัย และการให้ข้อมูลและระยะเวลาในการจัดส่ง ทำให้เกิดการส่งมอบที่เป็นแบบ Just In Time Delivery ซึ่ง RFID จะส่งเสริมต่อประสิทธิภาพของการตรวจสินค้าของศุลกากร ทั้งประเทศไทยและประเทศคู่ค้า โดยจะมีบทบาทต่อผู้นำเข้าและส่งออกในอนาคต 1-2 ปีข้างหน้านี้อย่างแน่นอน

             ระบบ RFID ยังสามารถนำไปใช้ในระบบการค้าปลีก และการค้าส่ง (Retail & Wholesaler) โดยห้าง “วอล์ล มาร์ท” ซึ่งเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกและการนำ RFID ไปใช้กับ Supply Chain โดยได้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2548 โดยการเชื่อมเครือข่ายเริ่มตั้งแต่ เมื่อลูกค้าได้หยิบสินค้าออกจากชั้นวางของ   RFID จะส่งสัญญาณไปยังศูนย์รวมเพื่อประมวลข้อมูลสินค้าคงเหลือกับ Safety Stock หลังจากนั้นก็จะส่งใบสั่งซื้อ Order Online Stock  ไปยังคู่ค้า Supplier เพื่อให้ผลิตและส่งมอบสินค้ามาทดแทน ทั้งนี้  RFID จะส่งเสริมต่อประสิทธิภาพของ VMI หรือ Vendor Managed Inventory คือ การจัดการควบคุมปริมาณการรับสินค้าจากคู่ค้าให้สอดคล้องกับการผลิตและการส่งมอบ ทำให้ช่วยลดต้นทุนและทำให้การส่งมอบเป็นแบบ Real Time ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงบางตัวอย่างของ RFID ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทต่อการจัดการโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้ระบบซัพพลายเชนเป็น e-Supply Chain อย่างแท้จริง โดยคาดว่าในปี 2008 ทั่วโลกจะมีการใช้ RFID มีมูลค่าประมาณกว่าแสนสองหมื่นล้านบาท ซึ่งระบบโลจิสติกส์ในอนาคตจะขึ้นอยู่กับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการสื่อสาร ขณะที่ผู้ประกอบการไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจในการนำเทคโนโลยี รวมทั้ง ระบบ RFID มาใช้เพื่อการจัดการ ทั้งนี้ ในยุคที่การค้าเสรีภายใต้ข้อตกลง FTA มาตรการกีดกันทางการค้าจากประเทศผู้นำเข้าจะมีความรุนแรง การพิสูจน์แหล่งที่มาของของสินค้าเพื่อความปลอดภัย รวมถึง มาตรการป้องกันการก่อการร้าย จะเพิ่มดีกรีมากขึ้น จำเป็นที่ประเทศผู้ส่งออกอย่างประเทศไทย ซึ่งไม่สามารถต่อรองอะไรได้มากนักในเวทีเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ โดยภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญ รวมทั้ง องค์กรภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะต้องเข้ามามีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มีการกำหนดเป็นวาระแห่งชาติเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และนวัตกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับระบบโลจิสติกส์ไทยไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโปรแกรมด้านการจัดการโลจิสติกส์ , โปรแกรมระบบการควบคุมสต๊อกสินค้า โดยโปรแกรมประเภท ERP : Enterprise Resource Program ซึ่งมีราคาสูง ภาคเอกชนและ SMEs ไม่สามารถจัดหาได้ โดยภาครัฐจะต้องเข้ามาประชาสัมพันธ์และการเข้าไปพัฒนาและผลิต RFID ในประเทศไทยเพื่อให้มีราคาที่ถูก โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ  และการสื่อสาร (ICT) จะต้องเป็นแกนนำ ทั้งเพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรมและเครือข่ายซัพพลายเชน รวมถึง ด้านการขนส่งและกระจายสินค้า จนถึงระบบค้าส่งและค้าปลีก จนสินค้าถึงผู้บริโภค  ทั้งนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องตื่นตัวและเข้าใจถึงบทบาทของ RFID ในฐานะ e-supply chain ที่จะมีผลต่อการค้าโลกในอนาคต..เริ่มต้นวันนี้ก็ยังไม่สาย..จริงมั้ยครับ??


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก