บทความเรื่อง :: บทความพิเศษ “อุตสาหกรรมไทยภายใต้ความเสี่ยงภัยพิบัติ”
 


บทความพิเศษ “อุตสาหกรรมไทยภายใต้ความเสี่ยงภัยพิบัติ”

 

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
19 มิถุนายน 2555

 

ภัยพิบัติธรรมชาติเป็นปัญหาความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย

            ในช่วงปลายปีที่แล้ว ประเทศไทยประสบกับพิบัติภัยจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำความเสียหายให้กับภาคเศรษฐกิจและภาคประชาชน ซึ่งธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายไว้สูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท เฉพาะตัวเลขเคลมประกันภัยสูงถึง 486,748 ล้านบาท ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเช่นกัน เฉพาะนิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี มีโรงงานกว่า 839 แห่งได้รับความเสียหายรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมฯ อีกประมาณ 7,886 แห่ง ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกซึ่งในไตรมาส 4 ของปี 2554 ภาคส่งออกติดลบถึงร้อยละ 2.9 และกระทบต่อโซ่อุปทานการผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ

            ความเสียหายของเศรษฐกิจไทยเห็นได้จากตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4 ของปี 2554 หดตัวถึงร้อยละ 8.9 ทำให้ทั้งปี 2554  เศรษฐกิจขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 เทียบจากปี 2553 ซึ่งขยายตัวได้ถึงร้อยละ 7.8 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจาก GDP ที่ลดลงประมาณ 819,000 ล้านบาท และความเสียหายยังต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาสแรกของปี 2555 ซึ่งภาคส่งออกและภาคการผลิตบางส่วนยังคงไม่ฟื้นตัว ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.3 (สศช.) ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก (มกราคา-เมษายน) ขยายตัวได้เพียงร้อยละ 3.86 จากเป้าหมาย ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 15

            ปัญหาความเสียหายจากอุทกภัยดังกล่าวทำให้ภัยพิบัติจากธรรมชาติ กลายเป็นความเสี่ยงของภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจ สะท้อนจาก GDP ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 4 ปี 2554 หดตัวร้อยละ 21.6 และไตรมาส 1 ของปี 2555 ยังหดตัวร้อยละ 4.2 และกำลังการผลิตรวม ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้วเหลือเพียงร้อยละ 46.3 จากอัตราการผลิตเฉลี่ยที่ร้อยละ 70 – 80

            ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจำเป็นที่จะต้องนำปัจจัยความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งรวมถึงน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุ รวมถึงภัยแล้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งจะต้องมีการนำมาบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management)  เพราะจากภัยพิบัติน้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 โรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่น้ำท่วม ก็ได้รับความเสียหายทางอ้อมจากการขาดแคลนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เพราะผู้ผลิตที่ประสบปัญหาได้ปิดโรงงานประมาณ 2 เดือน เพราะปัญหาน้ำท่วม ส่งผลกระทบต่อโซ่อุปทานการผลิตทั้งระบบของไทย ทำให้หลายโรงงานนอกพื้นที่ซึ่งน้ำไม่ได้ท่วม ได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า  อุตสาหกรรมสิ่งทอ  อุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้า  อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมเลนส์ ฯลฯ  ในไตรมาสแรกของปี 2555 อุตสาหกรรมเหล่านี้ตัวเลขส่งออกติดลบตั้งแต่ร้อยละ 15ถึง 25 และบางอุตสาหกรรมติดลบถึงร้อยละ 40

 

ครึ่งปีกับการฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมหลังน้ำลด

            ภายหลังน้ำลดในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2554 จนถึงปัจจุบัน โรงงานประมาณร้อยละ 90 ได้กลับมาผลิต แต่บางส่วนก็ยังผลิตได้ไม่เต็มร้อย ขณะที่อีกร้อยละ 10 อาจจะต้องไปถึงกลางหรือปลาย       ไตรมาส 3 จึงจะสามารถกลับมาผลิตได้อีก และมีโรงงานบางส่วนย้ายออกจากพื้นที่หรือปิดกิจการถาวร เช่น ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ มีโรงงานที่มีแนวโน้มเลิกการผลิตประมาณ 28 โรงงานและ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเลิกกิจการไปแล้ว 3 โรงงาน จากการเข้าไปสำรวจ 2 นิคมอุตสาหกรรม เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2555  ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการพบว่า โรงงานซึ่งเดินเครื่องได้ปรกติมีประมาณ ร้อยละ 33 เดินเครื่องได้บางส่วนร้อยละ 36 อยู่ระหว่างซ่อมแซมเครื่องจักรหรือระหว่างรอเคลมประกันภัย ประมาณร้อยละ 19 และปิดกิจการถาวรหรือย้ายออกไปนอกพื้นที่ ประมาณร้อยละ 12 จากตัวเลขดังกล่าวนี้แสดงว่า โรงงานที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังกลับมาผลิตได้ไม่ดีนัก สะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการส่งออกในไตรมาส 1 ของปี 2555 ที่มีการหดตัวเหลือเพียงร้อยละ 3.86

 

 

 

สาเหตุที่โรงงานบางส่วนฟื้นฟูได้ล่าช้า

1.      ความเสียหายมากกว่าที่ประมาณการไว้ โรงงานในพื้นที่อยุธยาและปทุมธานีอยู่ในพื้นที่รับน้ำ ทำให้น้ำท่วมในโรงงานเฉลี่ย 2 เมตร ทำให้เครื่องจักรได้รับความเสียหายมาก

2.      การพื้นฟูการผลิตของภาคเอกชนล่าช้า โรงงานบางแห่งต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่หรือส่วนที่เสียหาย โดยเฉพาะเครื่องจักรที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการผลิต โดยส่วนใหญ่ต้องนำเข้าและใช้เวลาในการผลิต  อีกทั้งผู้ผลิตเครื่องจักรมีคิวการผลิตอยู่ก่อนแล้ว ขณะที่เครื่องจักรบางส่วนเป็นเครื่องจักรเก่า โรงงานที่ผลิตในต่างประเทศเลิกผลิตไปแล้ว

3.      การชดเชยประกันภัยล่าช้า บางโรงงานอยู่ระหว่างการเจรจาค่าประกันภัย ยังเจรจาความเสียหายไม่ได้ ทั้งด้านเครื่องจักรและวัตถุดิบ ตัวเลขต้นเดือนมีนาคม 2555 ยอดจ่ายประกันได้ประมาณร้อยละ 25 ของตัวเลขทั้งหมด

4.      การอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินล่าช้า  โรงงานบางส่วนมีปัญหาด้านการเงินและสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะจากสถาบันการเงินของรัฐ

5.      การขาดแคลนแรงงาน  โดยเฉพาะแรงงานทักษะเพราะช่วงน้ำท่วมแรงงานกระจัดกระจาย บางคนเปลี่ยนงานใหม่หรือกลับเข้าสู่แรงงานภาคเกษตร ทำให้ต้องฝึกทักษะแรงงานกันใหม่

6.      การขาดสภาพคล่องทางการเงิน โรงงานบางส่วนทั้งในนิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมฯ ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่อง บางโรงงานต้องให้คนออกจากงานจำนวนมาก/ขาดสภาพคล่องในการบูรณะเครื่องจักร

 

บทเรียนของประเทศไทยจากภัยพิบัติน้ำท่วมปี 2554

            ปัจจุบันภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้เริ่มนำการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เข้ามาเป็นกระบวนการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับบทเรียนจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554 ซึ่งคาดการณ์ว่าเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ความเสียหายไม่น้อกว่า 600,000 ล้านบาท เฉพาะเงินเคลมประกันภัยมีตัวเลขสูงถึง 486,748 ล้านบาทแล้ว  ทั้งนี้ปัญหาภัยพิบัติซึ่งเกี่ยวกับน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ ภาครัฐจะต้องมีวิธีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเป็นประจัยลดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะนำไปเป็นบทเรียน และการขาดประสบการณ์จากการบริหารจัดการน้ำที่ดีในปีที่แล้ว มาประเมินและจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ

แนวทางการป้องกันและลดความเสียหายจากภัยพิบัติด้านอุทกภัย

1.      การมีแผนแม่บทและเจ้าภาพในการจัดการน้ำ รัฐบาลจะต้องมียุทธศาสตร์  แผนปฏิบัติการและงบประมาณที่เพียงพอ โดยต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมีการตรวจสอบพื้นที่รับน้ำหรือฟลัดเวย์ (Floodway) รวมถึงกำหนดพื้นที่แก้มลิงในการรับน้ำ (Flood Plain) และจะต้องมีระบบทางด่วนพิเศษในการระบายน้ำท่วมหรือ “Super-Express Floodway” ออกจากพื้นที่อุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม

2.      ศูนย์เตือนภัยและศูนย์ข้อมูล ที่มีการบูรณาการ มีเครื่องมือที่ทันสมัยมีเครือข่ายการสื่อสาร แจ้งข่าวให้กับประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ต้องมีช่องทางการสื่อสารที่เป็นภาษาอังกฤษ  ญี่ปุ่น  และสามารถให้ข้อมูลกับนักลงทุนและประชาชนได้

3.      ในระยะยาวจะต้องจัดทำผังเมืองว่าด้วยการป้องกันน้ำท่วมแห่งชาติ  หรือ National Flood Plain Zoning  ต้องมีกฎหมายพิเศษในการกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม  ที่อยู่อาศัย  การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องไม่ไปขวางกั้นเส้นทางระบายน้ำ

4.      การบริหารเส้นทางระบายน้ำรอบนิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ  พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่สำคัญ  เช่น นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน  ได้มีการสร้างกำแพงป้องกันน้ำท่วม แต่พื้นที่รอบนอกนิคมฯ ยังขาดการพัฒนาบูรณะอย่างเป็นบูรณาการ เช่น การยกระดับถนนหรือถนนลอยฟ้าเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งการขุด ลอก คลองระบายน้ำ หรือการเจาะอุโมงค์ลอดเส้นทางรถไฟ เพื่อเป็นการระบายน้ำ

5.      การจัดทำแผนและคู่มือภัยพิบัติ  เพื่อให้มีการจัดทำคู่มือป้องกันและแผนรับมือภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม  ไฟไหม้รุนแรง  แผ่นดินไหว ฯลฯ  โดยจะต้องกำหนดเส้นทางสำรวจในการขนส่งสินค้า  และเชื้อเพลิง  มีศูนย์ประสานงานอยู่ที่ไหน ติดต่อได้อย่างไร และใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการ ซึ่งจะต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง ส่งเสริมให้ภาคการผลิต มีการจัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ Business Continuity Plan ให้สอดคล้องกับแผนสำรวจของภาครัฐ

6.      การสร้างความเชื่อมั่นการลงทุน  รัฐบาลและภาครัฐจะต้องกำหนดมาตรการรับมือกับภัยพิบัติและปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในอนาคต  โดยให้มีแผนและหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วประเทศ เพียงสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนโดยมีการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ควบคู่กับมาตรการอื่นๆ

7.      การพัฒนาเครือข่ายสำรองภาคอุตสาหกรรมต่อสถานการณ์ภัยพิบัติ   จากสถานการณ์ภัยพิบัติประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดจากปัญหาอุทกภัย  ภัยจากแผ่นดินไหว หรือเหตุการณ์ธรรมชาติที่ที่คาดไม่ถึง  อันเกิดจากความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากปัญหาโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ  และคุกคามต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและกระทบต่อความเชื่อมั่นของคู่ค้า  นักลงทุน

           

การจัดทำยุทธศาสตร์ –ร่วมภาครัฐ-ภาคอุตสาหกรรม เพื่อการผลิตอย่างต่อเนื่องภายใต้ภัยพิบัติ

ปัญหาด้านภัยพิบัติธรรมชาติได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงของประเทศไทยในลำดับต้น  จำเป็นที่จะต้องมีการประเมินโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงอย่างจริงจัง ซึ่งจำเป็นต้องมีหน่วยงานเจ้าภาพในการเตรียมแผนป้องกันและรับมือภัยพิบัติประเภทต่างๆ  ซึ่งจะต้องเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งมีอำนาจ-หน้าที่ สามารถสั่งการหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นบูณาการ และสนับสนุนให้ภาคเอกชนจัดตั้งศูนย์ป้องกันและรับมือภัยพิบัติ  เพื่อให้อุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งภาคอุตสาหกรรม  ภาคส่งออก-นำเข้า  ภาคท่องเที่ยว  ภาคขนส่ง ฯลฯ  โดยแต่ละภาคส่วนจะต้องมีแผนสำรองและสร้างเครือข่ายกันเอง ในกรณีที่มีปัญหาภัยพิบัติ

นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ จะต้องการสร้างเครือข่ายการผลิตสำรองในช่วงภัยพิบัติ เพื่อให้สามารถรับมือต่อความเสี่ยงที่เกิดจากภัยพิบัติประเภทต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Management) และมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการชะงักงันของโซ่อุปทานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกัน  รวมถึงด้านขนส่งและการกระจายสินค้าให้สินค้าสามารถส่งมอบให้กับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้

 

 

ข้อแสนอแนะแนวทางการรับมือภัยพิบัติด้านอุทกภัยในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

1.      การจัดทำแผนร่วมกับภาครัฐ ในการจัดทำยุทธศาสตร์ป้องกันภัยพิบัติระยะสั้น  โดยเฉพาะกับภัยพิบัติจากอุทกภัย ซึ่งน่าจะมีระยะเวลาที่สามารถปกป้องภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องทั้งด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน  ด้านผังเมือง  ด้านแนวพื้นที่ฟลัดเวย์  (Flood way) และพื้นที่รับน้ำ (Flood Plain)  โดยเฉพาะในพื้นที่ซึ่งมีความเสี่ยงจากภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2554

2.      การจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ลดความเสี่ยงภัยภาคอุตสาหกรรมจากอุทกภัยอย่างถาวร และยั่งยืน โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงพื้นที่อุตสาหกรรม ให้สามารถรองรับภัยจากน้ำท่วมได้อย่าถาวร  ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดทำผังเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน

3.      การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีแผนสำรองรับมือภัยพิบัติ  โดยให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม (Industrial Cluster) ไปร่วมกันจัดทำแผนให้มีระบบการเตรียมการที่พอเพียงในการป้องกันลดผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วม  ซึ่งให้แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมีแผนสำรองจะเป็นการลดความเสี่ยงและปกป้องโซ่อุปทานการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ

4.      การสนับสนุนผ่าน BOI ให้ภาคอุตสาหกรรมและศูนย์กระจายสินค้ามีการกระจายตัวในหลายพื้นที่  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบหากเกิดอุทกภัยเหมือนเมื่อในอดีต

5.      สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีการสร้างเครือข่ายการผลิตสำรองในช่วงที่เกิดภัยพิบัติ  ซึ่งการจัดตั้งเครือข่ายนี้จะต้องทำเป็นอย่างระบบและมีความเป็นรูปธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐจะต้องมี Database ของอุตสาหกรรมที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน (Industrial Cluster) และมีความเป็นโซ่อุปทานต่อกัน เพื่อในกรณีฉุกเฉินสามารถที่จะช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนวัตถุดิบ หรืออะไหล่เครื่องจักร

6.      การสนับสนุนให้มีแผนการกระจายสินค้าได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน  ซึ่งเกี่ยวข้องด้านโลจิสติกส์ เป็นการจัดทำแผนร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง  ผู้บริหารกรมศุลกากร และหน่วยงานทหาร-ตำรวจ  รวมทั้งผู้บริหารประตูเศรษฐกิจที่สำคัญ (Gateway) เช่น ท่าเรือ  สนามบิน  เส้นทางรถไฟ ฯลฯ  ในการจัดทำแผนขนส่งสินค้าและกระจายสินค้าได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ  โดยการจำลองสถานการณ์และจัดทำเป็นคู่มือ และหรือเว็บไซต์เส้นทางสำหรับขนส่งสินค้าให้กับลูกค้าในต่างประเทศได้อย่างไม่ชะงักงัน  โดยเฉพาะการกระจายสินค้าที่เป็นเครื่องอุปโภค-บริโภค สู่ประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติได้

 

***********************************

 

บทความนี้เป็นรายงานวิชาการส่วนบุคคลของ ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

จัดทำเพื่อประกอบการเสวนาหัวข้อ  “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ‘รับมือ’ ความเสี่ยงใหม่ ‘ภัยพิบัติ’”

จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ บริษัท บางจาก ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555

เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กร

 


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 18-06-2012  

 
หน้าหลัก