บทความเรื่อง :: ปัญหาและผลกระทบของประเทศไทยจากกรณี FATF ขึ้นบัญชีดำ
 


รายงานการศึกษา
เรื่อง ปัญหาและผลกระทบของประเทศไทยจากกรณี
FATF ขึ้นบัญชีดำ
โดย สายงานเศรษฐกิจ โลจิสติกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
************************************

ดร.ธนิต  โสรัตน์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

1.ความความสำคัญของเรื่องที่ศึกษา

จากการที่ FATF : The Financial Action Task Force ขึ้นบัญชีดำ (Dark Grey List) หรือถูกขึ้นบัญชี “ต้องเฝ้าระวังสูงสุด” ตามการประกาศของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน-ต่อต้านการก่อการร้าย (FATF)   

กรณีประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555  FATF ซึ่งเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจที่มีการดำเนินเกี่ยวกับการฟอกเงินได้ประกาศ เพิ่มรายชื่อประเทศไทย เข้าเป็น 1 ใน 5 “ประเทศในฐานะเป็นประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยการสกัดการฟอกเงิน” ในการป้องกันกระบวนการการก่อการร้ายข้ามชาติ ในระดับที่เป็น Grey List โดยอยู่ร่วมในบัญชีกับ 5 ประเทศ ได้แก่ ปากีสถาน  อินโดนีเซีย ไทย กานา และแทนซาเนีย โดยก่อนหน้านี้มีประเทศ ที่ถูกขึ้นบัญชีดำ จำนวน 12 ประเทศ ของ FATF ประกอบด้วย โบลิเวีย  คิวบา เอธิโอเบีย อิหร่าน เคนยา พม่า ไนจีเรีย เกาหลีเหนือ เซาตูเม ปรินซิปี ศรีลังกา ซีเรีย และตุรกี   จากรายชื่อดังกล่าว มีประเทศในอาเซียนที่ถูกขึ้นบัญชีเฝ้าระวังโดย FATF  จำนวน 3 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย และพม่า

ผลกระทบระยะสั้นเริ่มเห็นผลกระทบต่อการทำธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศ เริ่มมีความยุ่งยากจากขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นในการพิสูจน์ทราบลูกค้า (Customer Due Diligence : CDD) มากขึ้น ในธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการโอนเงินผ่านระบบธนาคารข้ามประเทศประเภทต่างๆ เช่น Trade Financing, Payments, Correspondent banking, Foreign exchange transaction รวมถึงการใช้บัตรเครดิตในต่างประเทศ บางครั้งถูกระงับการใช้ ซึ่งการโอนเงินชำระค่าสินค้าทั้งด้านการนำเข้าและส่งออก จะต้องทำ Enhanced Due Diligence: EDD ซึ่งมีขั้นตอนและเอกสารเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ทางธนาคารผู้รับโอนเงินทราบถึงแหล่งที่มาของเงิน  ทำให้ต้องใช้เวลาในการทำธุรกรรมมากขึ้น จึงอาจเกิดความล่าช้าในการชำระเงินให้กับคู่ค้า และทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นอีกด้วย รวมถึงอาจถูกจำกัดในการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ ด้วย ผลกระทบจะทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมีความยุ่งยากและเพิ่มระยะเวลา ขาดความคล่องตัวและจะทำให้มีต้นทุนค่าธรรมเนียมต่างๆเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อความหน้าเชื่อถือของประเทศ

สำหรับผลกระทบในปี 2556 และต่อเนื่องในระยะยาวหากประเทศไทยถูกจัดชั้นจาก FATF ไปสู่ระดับที่เป็นบัญชีดำ Black List จะมีผลต่อการไม่สามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคส่งออกร้อยละ 70 ของ GDP ภาคนำเข้าร้อยละ 69 ของ GDP และภาคท่องเที่ยวและการลงทุนระหว่างประเทศรวมกันประมาณร้อยละ 18-19 ของ GDP จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง

2.วิธีการศึกษาและการดำเนินงาน

1.              รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและข้อมูลจากสื่อมวลชน รวมถึงข้อมูลโดยตรงจากผู้หน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

2.              สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานเศรษฐกิจ-โลจิสติกส์ ร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ปปง.  สมาคมธนาคาร กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ของสภาอุตสาหกรรมฯ  สภาท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  ธนาคารแห่งประเทศไทย  กตล. รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน  เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2555 และการประชุมสรุปประเด็นของคณะทำงานเศรษฐกิจมหภาค การเงิน การคลัง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2555

 

3. สาระสำคัญของเรื่องและข้อวิเคราะห์

          3.1 สาระสำคัญ

      3.1.1 FATF มีความสำคัญอย่างไร

                       The Financial Action Task Force หรือ FATF เป็นองค์การระหว่างรัฐ (inter governmental organization ) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) โดยความเห็นชอบของที่ประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G 7 จัดตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันการฟอกเงินและการสนับสนุนการเงินแก่ขบวนการก่อการร้ายข้ามชาติ มีสมาชิกจำนวน 34 ประเทศ และ 2 องค์กร (The Gulf Cooperation Council และ The European Commission) โดยสมาชิกของ FATF ประกอบด้วยประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐอเมริการ  ประเทศในยูโรโซน  ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ 

               3.1.2 พันธกิจของ FATF

                       ขอบข่ายหน้าที่ของ FATF ทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti – Money Laundering/Counter Financing of Terrorism) เพื่อให้ประเทศต่างๆ จะต้องมีการปฏิบัติ ทั้งด้านกฎหมายและกระบวนการตรวจสอบในการป้องกันการฟอกเงินเพื่อก่อการร้ายในระดับนานาชาติ

               กลไกการทำงานของ FATF ประกอบด้วย

1)      การกำหนดมาตรฐานการประเมินตรวจสอบความสมบูรณ์และความบกพร่องของนานาประเทศ สำหรับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจำนวน 40 ข้อ โดยจะครอบคลุมถึงระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย ระบบการเงินและกฎเกณฑ์ทางการเงิน

2)      ความร่วมมือระหว่างประเทศ  FATF จะมีหน้าที่ในการให้ข้อแนะนำพิเศษสำหรับการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินกับการก่อการร้ายเพื่อให้ประเทศสมาชิกหรือประเทศที่สนใจนำไปปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในประเทศของตนเองให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

3)      กลไกการทำงานของ  FATF จะเป็นผู้ติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินมาตรการที่จำเป็น รวมทั้ง การติดตามและพิจารณาทบทวนเทคนิคการฟอกเงินการก่อการร้ายกับการหามาตรการต่อต้านการกระทำดังกล่าว และ ส่งเสริมสนับสนุนการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมให้กับทุกประเทศ

3.1.3 สมาชิกและการพิจารณาจัดกลุ่มประเทศความเสี่ยงของ FATF

             สมาชิกของ FATF แบ่งเป็นสองประเภท คือ 1. สมาชิกโดยตรง และ 2. สมาชิกสมทบ (Associate Member) รวมถึง กลุ่มประเทศผู้สังเกตการณ์ (observers) ปัจจุบันมีสมาชิก 36 ประเทศและ สำหรับประเทศไทยมีฐานะเป็นสมาชิกสมทบ (Associate Member) เนื่องจาก ประเทศไทยเป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง Asia Pacific Group on Money Laundering หรือ APG ที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นที่ประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2540 ซึ่งตามข้อบังคับ (Terms of References ) ของ APG กำหนดให้สมาชิกของกลุ่มต้องปฏิบัติตามข้อแนะนำของ FATF และต้องปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

               3.1.4 การจัดลำดับกลุ่มประเทศความเสี่ยงของ FATF

                       FATF ได้จัดชั้นการพิจารณาการเลื่อนลำดับเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงในการสนับสนุนการฟอกเงินเพื่อการก่อการร้าย เป็น 3 ลำดับ (โดยไทยอยู่ในลำดับที่ 2) ประกอบด้วย

               1) กลุ่ม Super Black List เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด โดยเข้าสู่กระบวนการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanction Major) ห้ามไม่ให้มีการทำธุรกรรมโดยทั้งสิ้น ปัจจุบันมี 2 ประเทศ คือ อิหร่าน และเกาหลีเหนือ

               2) กลุ่ม Dark Grey List เป็นแบล็กลิสต์ประเภทที่ได้รับการเตือนแล้ว แต่ขาดความคืบหน้าในการปรับปรุงตามมาตรการ ของ FATF ประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้ อาจถูกมาตรการอ่อนสุด เช่น การกล่าวเตือนให้มีการปรับปรุงกฎหมายและออกมาตรการที่จำเป็นจนไปถึงระดับที่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างประเทศ  (Enhanced Due Diligence: EDD) รวมถึง Hold เงินในบัญชีของธนาคารของประเทศผู้รับเงินหรือถูกโอนเงินกลับ ปัจจุบันมีประเทศอยู่ในกลุ่มดังกล่าว จำนวน 14 ประเทศประกอบด้วย ปากีสถาน อินโดนีเซีย ไทย กานา แทนซาเนีย โบลิเวีย  คิวบา เอธิโอเบีย  เคนยา พม่า ไนจีเรีย เซาตูเมและปรินซิปี  ศรีลังกา ซีเรีย และตุรกี 

               3) กลุ่ม Grey List เป็นแบล็กลิสต์ประเภทที่มีการถูกเตือนเบื้องต้น หารือต้องถูกเฝ้าระวัง เป็นลักษณะกลุ่มประเทศที่มีความคืบหน้าและมีความพยายามที่เป็นรูปธรรมในเรื่องมาตรการการป้องกันตามมาตรฐานของ FATF เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ที่เดิมอยู่ในกลุ่ม Dark Grey List

 

      3.1.5 วิธีการประเมินจัดอันดับประเทศซึ่งมีความเสี่ยงของ FATF

1)         FATF มีการประเมินมาตรฐานด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering / Counter Financing of Terrorism) ที่จะพิจารณาว่าประเทศใดมีความเสี่ยงในด้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

2)         แนวทางในการพิจารณาจากผลประเมินของแต่ละประเทศว่าได้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อแนะนำหลักและข้อแนะนำสำคัญของ FATF ซึ่งมีทั้งสิ้น 16 ข้อหรือไม่

3)         หากประเทศใดไม่สามารถที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อแนะนำหลักและข้อแนะนำสำคัญของ FATF เกินกว่า 10 ข้อ ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญซึ่งประเทศดังกล่าวจะถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์และมีความเสี่ยงต่อการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย        

               3.1.6  ประเทศไทยไม่ผ่านเกณฑ์อะไรจึงทำให้ FATF จัดเป็นประเทศมีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน-สนับสนุนการก่อการร้าย

ผลการประเมินที่ผ่านมาของ FATF  ประเทศไทยไม่ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานสากลรวม 13 ข้อ ประกอบด้วย

1)      การไม่สามารถปฏิบัติตามข้อแนะนำหลัก (Core Recommendation) จำนวน 6 ข้อ

2)      ข้อแนะนำสำคัญ (Key Recommendations) จำนวน 7 ข้อ ทั้งนี้พบว่า กลุ่มประเทศพัฒนา อาทิ สหรัฐอเมริกา  สหราชอาณาจักร อิตาลี สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย ต่างมีข้อบกพร่องและไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสากลตามที่ FATF กำหนดเช่นกัน แต่จะแตกต่างว่าประเทศไทย ตรงที่ประเทศเหล่านี้จะมีข้อบกพร่องเพียงข้อใดข้อหนึ่งตามข้อแนะนำหลักและข้อแนะนำสำคัญ (Core/Key Recommendations) เท่านั้นแต่ยังไม่เกินตามข้อกำหนดจำนวน 10 ข้อ  

 

               ข้อบกพร่องของไทย 13 ข้อซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ของ FATF

1)        ความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของไทยไม่ครอบคลุมถึงความผิดที่ FATF กำหนด และไม่ได้บัญญัติความผิดมูลฐานที่กระทำในต่างประเทศ

2)        ประเทศไทยไม่มีกฎหมายหรือระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (เกี่ยวกับกฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคู่ค้า (CDD)

3)        ประเทศไทยไม่มีกฎหมายให้สถาบันการเงินเก็บรักษาข้อมูลการแสดงตนและข้อธุรกรรมของลูกค้าหรือหลักฐานอื่นๆเป็นเวลาอย่างน้อยห้าปี เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี

4)        กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของไทยยังไม่ครอบคลุมถึงสถาบันการเงินตามที่ FATF กำหนด

5)        กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการฟอกเงินของไทยไม่ได้กำหนดให้สถาบันการเงินต้องรายงานกรณีมีความพยายามที่จะทำธุรกรรม รวมทั้งไม่มีการประเมินความเสี่ยงเรื่องการฟอกเงินในส่วนของธุรกรรมที่ได้รับยกเว้นจากหน้าที่ในการรายงาน

6)        ความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายตามกฎหมายไทยยังไม่ครอบคลุมถึง

-  การสนับสนุนทางการเงินแก่การกระทำที่ระบุในอนุสัญญาตามภาคผนวกของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

-  ผู้ก่อการร้ายหรือองค์การก่อการร้ายที่ไม่ถูกขึ้นบัญชี

-  การจัดหารือรวบรวมทรัพย์สินหรือจัดหาทรัพย์สินโดยเจตนาไม่สุจริตเพื่อให้ทรัพย์นั้นถูกใช้หรือโดยรู้ว่าทรัพย์ นั้นจะถูกนำไปใช้โดยองค์การก่อการร้ายหรือผู้ก่อการร้าย

7)  ประเทศไทยไม่มีการกำหนดอย่างชัดเจนว่าหน่วยงานใดรับผิดชอบการติดตามและควบคุมให้สถาบันการเงินปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไม่มีมาตรการป้องกันมิให้อาชญากรเป็นผู้รับประโยชน์ของสถาบันการเงิน และไม่มีมาตรการติดตามหรือตรวจสอบการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการโอนเงินที่ไม่มีการขอใบอนุญาตหรือจดทะเบียน

8)  ต้องมีหน่วยข่าวกรองทางการเงิน (FIU) ทำหน้าที่เป็นศูนย์รับข้อมูล วิเคราะห์ และส่งต่อรายงานธุรกรรมต้องสงสัยและข้อมูลอื่น

9)  ประเทศไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญากรุงเวียนนาแนะอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ (อนุสัญญาปาเลอโม) และอนุสัญญาว่าด้วยการปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและอนุสัญญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

10) การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางกฎหมาย (Mutual Legal Assistance)

11)  มาตรา 135/2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทยยังไม่ครอบคลุมถึงการสนับสนุนทางการเงินแก่การกระทำความผิดภายใต้กรอบของอนุสัญญาเกี่ยวกับการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย

12) การไม่มีมาตรการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและเงินทุนของผู้ก่อการร้ายหรือทรัพย์สินที่ใช้สนับสนุนการก่อการร้ายโดยไม่ชักช้า และไม่มีกฎหมายหรือวิธีการเฉพาะในการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ก่อการร้ายที่ถูกขึ้นบัญชีโดยประเทศต่างๆ

13) ความผิดฐานการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายไม่สอดคล้องกับอนุสัญญา ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้

 

กรณีประเทศไทยที่มีข้อบกพร่องถึง 13 ข้อ จึงเป็นที่มาให้เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555  FATF ได้ประกาศเพิ่มรายชื่อประเทศไทยเข้าเป็น 1 ใน 5 ประเทศ ที่มีความบกพร่องทางยุทธศาสตร์และไม่มีความคืบหน้าในการออกกฎหมายและกำหนดหลักเกณฑ์ต่อต้านการฟอกเงินและการให้การสนับสนุนการก่อการร้าย กลุ่มประเภทที่ 2 : Dark Grey List ซึ่ง 5 ประเทศดังกล่าว ประกอบด้วย ปากีสถาน  อินโดนีเซีย ไทย กานา และ แทนซาเนีย

             3.1.7 เหตุผลซึ่งประเทศจะต้องมีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของ FATF หากพิจารณาว่าถึงแม้ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกโดยตรงของ FATF แต่เหตุผลที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามมาตรการของ FATF 

               1) ประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นสมาชิกส่วนมากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว และอยู่ในประเทศ G20 เช่น สหภาพยุโรป (EU) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย

               2) หากประเทศไทยไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานของ FATF จะขาดความน่าเชื่อถือและเป็นข้อกีดกันทางการค้าและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barrier)

               3) กลุ่มประเทศคู่ค้าซึ่งเป็นสมาชิก FATF อาจใช้เป็นมาตรการในการกีดกันทางการค้ากับประเทศไทย ในฐานะที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน FATF ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยผูกผันกับการค้าระหว่างประเทศ มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 140 ของ GDP

               4) ผลกระทบจะมีต่อความยุ่งยากในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการโอนเงินเข้าและออกจะได้รับผลกระทบ

 

             3.1.8 ประเทศไทยจะต้องดำเนินการอย่างไร ในการพ้นจากการเป็นประเทศมีความเสี่ยงด้านการฟอกเงินฯ การดำเนินการของประเทศไทยโดยรัฐบาล จะต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมาย 2 ฉบับได้แก่

1) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

2) ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อการร้าย

             นอกจากนี้ประเทศจะต้องออกกฎหมายหรือกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎกระทรวงเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินของลูกค้า เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ FATF ให้ทันภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556  ซึ่ง FATF จะได้มีการตรวจสอบประเมินมาตรฐานของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องจากข้อแนะนำที่เกิดขึ้น  FATF ก็อาจจะการประกาศเลื่อนลำดับให้กับประเทศไทยเข้าไปสู่กลุ่มบัญชีดำ (Super Black List)  ซึ่งปัจจุบันมีประเทศอิหร่านและเกาหลีเหนืออยู่ในกลุ่นี้และถูกคว่ำบาตรในการไม่ให้ทำธุรกิรรมการเงินระหว่างประเทศ

 

4. ผลกระทบซึ่งเกิดขึ้นในปัจจุบันและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตหากประเทศไทยยังไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของ FATF

            

             4.1 ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการอยู่ในลำดับบัญชีดำ Dark Grey List  (Black List)

 

      ผลกระทบของประเทศไทยต่อกรณีอยู่ในบัญชีประเทศเฝ้าระวังสูงสุดทางการฟอกเงินและสนับสนุนเงินแก่การก่อการร้าย (Black List) อาจประกอบด้วย

      1) ประเทศไทยได้เคยถูก FATF เตือนอย่างเป็นทางการ 1-2 ครั้ง ก่อนที่จะมาถูกจัดชั้นอยู่ในกลุ่ม Dark Grey List  เข้าสู่มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงมากขึ้น เช่น กักเงิน (Hold) จากธนาคารคู่ค้าในต่างประเทศหรือในประเทศไทย ส่งผลต่อการทำธุรกรรมหรือไม่สามารถโอนเงินระหว่างประเทศได้ แต่ก็ไม่น่าจะไปถึงขั้นระดับที่ 1 ซึ่งจะต้องถูก Sanction Major

      2) ผลด้านภาพลักษณ์ของประเทศ กระทบความหน้าเชื่อถือของประเทศส่งผลต่อโอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค โดยเฉพาะการเปิด AEC ในปี 2558

      3) การทำธุรกรรมทางการเงินในระหว่างประเทศอาจเกิดความล่าช้าและไม่คล่องตัว เพราะต้องมีการตรวจสอบเอกสารมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อตลาดเงินและตลาดทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนกู้ยืมเงินของบริษัทข้ามชาติจะมีขั้นตอนยุ่งยากและใช้เวลานาน

      4) ผลกระทบจะมีต่อตลาดเงิน  โดยเฉพาะความไม่สะดวกในการทำธุรกรรมทางการโอนเงินจะมีการทำการตรวจสอบการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ (Enhanced Due Diligence: EDD) หรือการตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดการโอนเงินไม่ว่าจะเป็นการส่งออกและการนำเข้า ตลอดจนการทำธุรกรรมในตลาดทุน กล่าวคือจะต้องมีการระบุที่อยู่ผู้ทำธุรกรรม แหล่งที่มาของเงินในการทำธุรกรรม ฯลฯ จากเดิมที่แค่แสดงชื่อเลขที่บัญชีในการทำธุรกรรมต่างๆ

      5) ภาคการลงทุนและนำเข้า-ส่งออก (FDI) ได้รับผลกระทบ อาจถูกทำ Customer Due Diligence : CDD โดยถูกตรวจสอบจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหากข้อมูลไม่ชัดเจนอาจถูก Hold เงินไว้ อีกทั้ง Correspondent Bank จะลงทุนต่างประเทศมีความยุ่งยากมากขึ้น

      6) ระยะเวลาโอนเงินระหว่างประเทศใช้ระยะเวลานานขึ้น  เนื่องจากมีการตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินทำให้จากเดิมใช้ระยะเวลา 3 วันทำการ เป็น 5 วันทำการ ลดความคล่องตัวในการโอนเงินระหว่างประเทศ ของภาคธุรกิจ

      7) อาจถูกกักหรือ Hold เงินไว้ระยะหนึ่ง  ซึ่งการถูกทำ Customer Due Diligence : CDD หากผู้โอนไม่สามารถให้ข้อมูลตามมาตฐาน FATF อาจถูกธนาคาร Correspondent Bank Hold เงินไว้ระยะหนึ่งหากไม่สามารถทำให้กระจาง (Clarify) ในแหล่งที่มาของเงิน การอาจถูกโอนเงินกลับมา ทำให้ไม่สามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้ เช่น การชำระค่าสินค้า

      

4.2 ผลกระทบเฉพาะด้านธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ไทยซึ่งเกิดจากมาตรการ FATF

 

1)      ภาคส่งออก แจ้งว่ากลุ่มนักลงทุนตะวันออกกลางเริ่มไม่ชำระราคาสินค้า หรือไม่จ่ายหนี้ เนื่องจากอ้างว่าประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศเสี่ยง และการโอนเงินชำระเงินค่าสินค้าส่งออกในยุโรปถูกธนาคารบางแห่งระงับการทำธุรกรรม

2)      ภาคธนาคารพาณิชย์ สมาคมธนาคารไทยแจ้งว่า ธนาคารตัวแทนซึ่งเป็นคู่ค้าในต่างประเทศมองธนาคารในไทยว่ามีความเสี่ยงในการฟอกเงินสูง ขณะที่ลูกค้าซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวไทยก็ถูกจัดระดับความเสี่ยงในระดับสูงเช่นกัน

ก)      ผลกระทบต่อธนาคารในไทย ในปัจจุบันธนาคารตัวแทนเริ่มสอบถามข้อมูลของลูกค้าเพิ่มขึ้นและยังขอหลักฐานลูกค้าเพิ่มเติม เช่น เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือเดินทางของลูกค้า ที่ธุรกรรมในไทยด้วย เพราะการโอนเงินระหว่างประเทศต้องมีการให้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า

ข)      ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความยุ่งยากมากขึ้นในการโอนเงินข้ามประเทศ ปัจจุบันต้องตอบคำถามกับธนาคารตัวแทนในต่างประเทศแทบทุกวันบางรายถึงกับบอกว่าหากไม่ให้ข้อมูลลูกค้า จะตัดความสัมพันธ์กับธนาคารของไทยเพราะเรื่องนี้เป็นกฎข้อบังคับของประเทศของฝ่ายเขา

ค)      ธนาคารตัวแทนในต่างประเทศ (Correspondent Bank) บางแห่งเริ่มมีความไม่พอใจและอาจต้องเสียค่าธุรกรรมเพื่อการโอนเงินเพิ่มขึ้น

ง)       ธนาคารตัวแทนบางแห่งที่เคยติดต่อกันมานานก็ทราบดีว่ามาตรฐานของประเทศไทยเป็นอย่างไร แต่เพราะเขาถูกบังคับให้ดำเนินการจึงต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ผิดกฎหมายของประเทศเขา

3)        ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  มีความวิตกเพราะได้รับการสอบถามจากเอเยนต์ในต่างประเทศ และหากถูกเลื่อนอันดับไปสู่กลุ่ม 1 นักท่องเที่ยวอาจจะไม่เดินทางมาประเทศไทย และจะกระทบกับเศรษฐกิจอย่างมาก หาก FATF เลื่อนลำดับไปสู่ลำดับที่ 1 การทำธุรกรรมทางการเงินกับประเทศอื่นอาจทำไม่ได้

4)        ผลกระทบตลาดทุน สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ได้รับผลกระทบ อาจเกิดปัญหากรณีที่ลูกค้าใหม่มีวัตถุประสงค์จะไปลงทุนในต่างประเทศ หรือกรณีลูกค้าต่างประเทศจะซื้อขายหลักทรัพย์ในประเทศไทย ก็จะประสบปัญหา เพราะการโอนเงินเข้ามาที่ประเทศไทยทำได้ยาก บางธนาคารของบางประเทศไม่โอนเงินให้ ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์เกรงผลกระทบระยะยาว เพราะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามามาก หากประเทศไทยมีความเสี่ยงสูง การโอนเงินจากต่างประเทศมาลงทุนก็จะหยุดชะงัก ทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีปัญหาเรื่องเงินทุนได้

              อย่างไรก็ตามนักลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือการเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ที่มีสำนักงานอยู่ในต่างประเทศ ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งว่ายังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ซึ่งที่ผ่านมาตลาดหลักทรัพย์มีการรายงานธุรกรรมที่เกินกว่า 2 ล้านบาท ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

  

5.      การดำเนินการของประเทศไทยภายหลังถูกขึ้นบัญชีเฝ้าระวังสูงสุดจาก FATF

 

5.1 การดำเนินงานในอดีตที่ผ่านมา FATF ได้เคยมีหนังสือแจ้งและเตือนประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund และ World Bank) ได้เคยประเมินประเทศไทยพบว่ามีข้อบกพร่องในการไม่ปฏิบัติตามมาตรการของ FATF ภายใต้ความตกลงของ FATF Core/Key Recommendations จำนวน 13 ข้อ (จาก 49 ข้อ) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่วัดประสิทธิภาพของประเทศที่จะต้องมีหลักเกณฑ์และกฎหมายในการป้องกันในการก่อการร้ายข้ามชาติ  

ทั้งนี้ โดยข้อเท็จจริง FATF ยังไม่ได้จัดชั้นประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 1 ในการขึ้นบัญชีดำหรือ Super Black List กับประเทศไทย โดยจัดไทยเป็นเพียงระดับ Dark Grey List (แต่เมื่อพิจารณาก็จะได้ว่าอยู่ใน Black List ประเภทหนึ่ง) และโดยที่ผ่านมาทาง ปปง. ของไทยซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องนี้ ได้ชี้แจงให้ FATF รับทราบมาโดยตลอดว่า ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาทางการเมืองภายในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลถึง 5 รัฐบาลภายในช่วงเวลาระยะเวลา 2 ปี ทำให้กลไกการทำงานของรัฐสภาไม่สามารถออกร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ คือ 1) ร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงิน และ  2) ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อการร้าย 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตรวจสอบถึงกระแสข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องการขึ้นบัญชีดำประเทศไทยก็ต้องยอมรับว่า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ไม่ให้ความสำคัญในมาตรการของ FATF ที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเริ่มจะหันมาสนใจติดตามความสำคัญ ติดตามผลกระทบ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2555 โดยจะเห็นได้จากสื่อต่างประเทศมีการลงข่าว และปรากฏเป็นข่าวของสำนักข่าวในประเทศเพียง 2 -3 วัน

 

        5.2 การดำเนินงานของรัฐบาล หลังจากไทยถูกจัดอันดับชั้นอยู่ใน Dark Grey List

 

          5.2.1 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555  รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นผู้ดูแลเรื่องเกี่ยวกับผลกระทบและการเร่งปฏิบัติตามเงื่อนไขของ FATF ซึ่งแนวทางที่รัฐบาลจะต้องเร่งกำกับและสั่งการให้ ปปง.ดำเนินการในการออกกฎหมายและกฎกระทรวง ดังนี้

                       1. การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542  

                       2. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินเกี่ยวกับการก่อการร้าย

                       3. กฎกระทรวงว่าด้วยการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (CCD) ซึ่ง ครม.ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2555 ที่ผ่านมา

                       4. การปรับปรุงโครงสร้าง ปปง. โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)

                      

  5.2.2 กระบวนการทำงานของรัฐบาล

1)      การเร่งออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะต้องทันเวลาในการพิจารณาของ FATF ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการดำเนินการในการจัดทำร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ให้เข้าคณะรัฐมนตรี และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาจัดทำเป็นร่างกฎหมายส่งให้รัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ผ่านออกมาเป็นกฎหมาย (ขณะที่กฎกระทรวงทราบว่าได้ออกมาแล้วในเดือนพฤษภาคม)

2)      การแจ้งกรอบระยะเวลาในการออกกฎหมายให้ FATF  โดย ปปง. ต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานและกรอบระยะเวลาในการออกกฎหมายและแก้กฎหมายของไทยไปยังคณะทำงานประเมินความเสี่ยงนานาชาติ (ICRG) เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ FATF อีกครั้งหนึ่ง แต่การที่ไทยจะถูก FATF ปลดชื่อออกจากบัญชีประเทศกลุ่มเสี่ยงต่อการสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มก่อการร้ายอยู่ที่จะต้องมีการออก พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้ทันการประชุมใหญ่ FATF ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556

3)      มาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  ปปง.ร่วมกับกระทรวงการคลังควรพิจารณานำกฎหมายการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้ามาใช้ เพื่อให้ธนาคารจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าในเชิงลึกกว่าปกติในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ จะได้แก้ปัญหากรณีที่ต่างประเทศขอข้อมูลลูกค้า เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ไทยมีข้อมูลส่งให้ทันทีว่าลูกค้าเป็นใคร

4)      ปปง.จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งสถาบันการเงิน หรือภาคธนาคารพาณิชย์ของไทย จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลของเงินเข้าออก และจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากลูกค้าธนาคาร ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการแบ่งกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารต้องเฝ้าระวัง ประกอบด้วย 3 กลุ่มดังนี้

§ กลุ่มความเสี่ยงต่ำ เป็นลูกค้าทั่วไปของธนาคาร อาจมีการสุ่มตรวจธุรกรรมทางการเงินขึ้นอยู่กับแต่ละมาตรฐานของธนาคาร โดยเฉพาะบัญชีที่มียอดเงินฝาก ณ สิ้นเดือนที่มียอดเงินคงเหลือในบัญชี 2 ล้านบาท หรือ ต่ำกว่า 5 ล้านบาท เป็นต้น

§ กลุ่มระดับความเสี่ยงปานกลาง เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีรายได้เป็นเงินสด หรือเป็นการโอนเงินเข้ามาในประเทศที่มีความเสี่ยง

§ กลุ่มลูกค้าที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีธุรกรรมที่เป็นเงินสดหรือเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เช่น ร้านทอง เป็นต้น

                            

6.      ความเห็นและข้อเสนอแนะ

 

        6.1 รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามเงื่อนไขและมาตรฐานของ FATF   ดยการผลักดันและติดตามในการให้ประเทศไทยพ้นจากการถูก FATF ขึ้นบัญชีในฐานะประเทศซึ่งไม่มีมาตรฐานป้องกันการฟอกเงิน  เพราะหากประเทศไทยไม่มีการดำเนินการใดๆ เป็นรูปธรรมภายใน 1 ปี หรือภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 อาจจะต้องประสบกับปัญหาจากการบังคับใช้มาตรการตอบโต้ที่รุนแรงกว่านี้ อาทิ การชะลอเงินในการทำธุรกรรมหรือไม่สามารถโอนเงินระหว่างประเทศได้ หรือ ในกรณีเลวร้ายอาจต้องประสบกับการถูกระงับการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ (Sanction Major)  

        6.2 การเร่งรัดการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน  รัฐบาลต้องร่วมมือรัฐสภาในการออก พ.ร.บ ทั้ง 2 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงิน และ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อการร้ายประกอบด้วยกฎหมาย 2 ฉบับ คือ (1) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องการและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ 2542   (2) ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อการร้าย โดยร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับยังอยู่ในกฤษฎีกามาตั้งแต่ปี 2550 ควรเร่งดำเนินการให้ออกเป็นกฎหมายให้ทันภายในเดือนธันวาคม 2555 เป็นอย่างช้า

        6.3 รัฐบาลจะต้องชี้แจงและสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจทั้งผู้ส่งออก-นำเข้า ภาคท่องเที่ยว ตลาดทุนและภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้ทราบถึงความเป็นมา สาเหตุ และ ผลกระทบ เนื่องจากยังมีหลายภาคส่วนขาดความเข้าใจ และ ควรขอความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรการของ FATF เนื่องจากภาคเอกชนและสื่อมวลชนยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบต่อมาตรการ FATF ซึ่งปัจจุบันยังไม่เห็นผลกระทบต่อต้นทุนและระยะเวลาในการทำธุรกรรมทางการเงิน

        6.4 รัฐบาลต้องแสดงท่าทีว่าเป็นประเทศซึ่งไม่มีนโยบายสนับสนุนการฟอกเงินข้ามชาติ โดยการชี้แจงในเวทีโลกและ FATF ว่าถึงประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายโดยตรงแต่ก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีหน่วยงานของรัฐบาล เช่น ปปง. ในการดูแลการตรวจสอบการฟอกเงิน และมาตการในการป้องกันการโอนเงินที่เป็นการก่อการร้ายข้ามชาติ โดยรัฐบาลจะต้องแจ้งกำหนดการและระยะเวลาที่ชัดเจนในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับ FATF ที่จะไม่ดำเนินการออกมาตรการเพิ่มเติมใดๆ ให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึง การติดตามและจัดทำรายงานชี้แจง FATF ในการประชุมคราวต่อไป

        6.5 รัฐบาลต้องจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเข้ามากำกับในการเร่งรัดการออกกฎหมาย คณะรัฐมนตรีควรจัดให้มีคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ฝ่ายการเมืองที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านการเงิน ข้าราชการประจำจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนภาคเอกชน เพื่อจัดทำข้อมูลชี้แจงต่อ FATF โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการจัดตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมทั้งรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จะต้องเป็นประธานคณะกรรมการ และมีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการออกกฎหมาย       

          6.6 กฎหมายที่ออกมาต้องครอบคลุม มาตรฐานใหม่ ของ FATF โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และรัฐบาลจะต้องมีการติดตามมาตรฐานใหม่ ของ FATF ซึ่งจะมีมาตรฐานใหม่ที่จะมีความครอบคุมถึงแนวทางที่อิงความเสี่ยง(Risk-based approach), ความโปร่งใส, ผู้มีความเสี่ยงทางการเมือง (Politically Exposed Persons (PEP)), ระบบการโอนมูลค่าเงินและFinancial Intelligence Unit (FIU) ในมาตรฐานใหม่ของ FATF         

        6.7 กฎหมายที่ออกมาต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมและผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือจากภาครัฐ และฝ่ายการเมือง ในการใช้ไปรังแกบุคคลและหน่วยงานที่สุจริต ที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย การกำหนดความผิดมูลฐาน

6.8 รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางให้หน่วยงานที่กำกับดูแล โดยเฉพาะสำนักงานป้องกันและปรามปราบการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการตรวจสอบการโอนเงินหรือพฤติกรรมที่น่าสงสัยในการสนับสนุนการก่อการร้าย และเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่องนี้โดยตรง มีความเข้าใจเรื่องนี้ และมีการดำเนินการประสานงานกับทาง FATF มาโดยตลอด ซึ่งพบว่ามีอัตรากำลังพลไม่เพียงพอในการตรวจสอบและดำเนินการให้สอดคล้องกับพันธกิจสำคัญซึ่งมีการทำธุรกรรมจำนวนหนึ่งล้านธุรกรรม โดยเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบธุรกรรมดังกล่าวมีจำนวนน้อยมากประมาณ 5-6 คนในการดูแลการทำธุรกรรมทางการเงินของประเทศ

 

7.สรุป

         จากการที่ประเทศไทยถูก FATF : The Financial Action Task Force ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งขึ้นมาเพื่อป้องกันการฟอกเงินและต่อต้านการก่อการร้ายข้ามชาติ ถึงแม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นสมาชิกโดยตรง เป็นแต่เพียงสมาชิกสมทบ (Association Member) แต่จะต้องปฏิบัติตามข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการปราบปรามการฟอกเงินและสนับสนุนการก่อการร้าย  การที่ FATF ได้จัดชั้นการพิจารณาประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม Dark Grey List ส่งผลกระทบกับความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของประเทศไทย และในระยะสั้นได้เริ่มส่งผลกระทบต่อความยุ่งยากกับธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย ในการทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารพาณิชย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เนื่องจากธนาคารตัวแทนหรือ Correspondent Bank ในต่างประเทศมีการขอตรวจสอบเอกสารและข้อมูลของผู้โอนและผู้รับโอน ทำให้เกิดความยุ่งยากและเพิ่มระยะเวลาการโอนเงินระหว่างประเทศ

         รายงานฉบับนี้  ชี้ให้เห็นว่าหากรัฐบาลไม่เร่งดำเนินการในการออกกฎหมายและผลักดันให้มีการออกกฎหมายและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อการร้าย รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของ FATF ซึ่งเป็นเงื่อนเวลาที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ FATF จะมีการประชุมและตรวจสอบประเมินมาตรฐานของไทยอีกครั้ง หากประเทศไทยไม่ปฏิบัติตาม อาจถูก FATF ประกาศเลื่อนลำดับให้ประเทศไทยไปอยู่ในกลุ่มบัญชีดำหรือ Super Black List คือประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด  และถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanction) ห้ามไม่ให้ประเทศต่างๆ ทำธุรกรรมทางการเงิน หากประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มนี้ จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคการค้าระหว่างประเทศ ทั้งด้านภาคการนำเข้า-ส่งออก ภาคการธนาคาร ตลาดทุน การท่องเที่ยวและภาคเกษตร รวมทั้งอาจสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันและสูญเสียโอกาสต่อการเป็นศูนย์กลางตลาดเงินของอาเซียน

         ดังนั้นรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญในการผลักดันและติดตามให้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของ FATF โดยเฉพาะในการร่วมมือกับรัฐสภาในการผลักดันให้ออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันระยะเวลาที่ทาง FATF จะประชุมในครั้งต่อไป และดำเนินการทุกวิถีทางในการที่จะปลดล็อคประเทศไทยจากระดับที่เป็น Dark Grey List ไปสู่ระดับปกติโดยเร็ว

        

 

………………………………………………

 


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 29-05-2012  

 
หน้าหลัก