บทความเรื่อง :: โหมดการขนส่งทางถนน (Truck / Road Transport)
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP                    

           การขนส่งทางบกหรือการขนส่งทางถนน เป็นการขนส่งหลักที่ใช้ในการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เนื่องจากเป็นการขนส่งที่สะดวก และราคาถูก และสามารถขนส่งสินค้าไปถึงผู้บริโภคได้ (Door to door) นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นประเทศหนึ่งที่มีการพัฒนาทางด้าน Road Network มากที่สุด โดยมีถนนหนทางครอบคลุมทั่วประเทศเป็นระยะทางถึง 170,000 กิโลเมตร เป็นโครงข่ายคิดเป็น 36% ซึ่งจัดว่าอยู่ในขั้นที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

ถนนในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

1. ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง คือ ทางหลวงที่ออกแบบเพื่อให้การจราจรผ่านได้ตลอด รวดเร็วเป็นพิเศษ โดยควบคุมการเข้าออกอย่างเต็มรูปแบบ (Fully-Controlled Access) และที่บริเวณจุดตัดกันของถนนจะทำเป็นทางแยกต่างระดับหรือก่อสร้างเป็นสะพานให้ถนนสายอื่นยกข้ามทางหลวงพิเศษนี้ โดยไม่รบกวนการสัญจรบนทางหลวงประเภทนี้ กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยายฐานะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงพิเศษ

2. ทางหลวงแผ่นดิน คือ ทางหลวงสายหลักที่เป็นโครงข่ายเชื่อมระหว่างภาค จังหวัด อำเภอ ตลอดจนสถานที่ที่สำคัญ โดยกรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขยาย บูรณะและบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงแผ่นดิน

3. ทางหลวงชนบท คือ ทางหลวงนอกเขตเทศบาลและเขตสุขาภิบาลที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดและกรมทางหลวงชนบทเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง ขยาย บูรณะและบำรุงรักษาและได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงชนบท

4. ทางหลวงเทศบาล คือ ทางหลวงในเขตเทศบาลที่เทศบาลเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขยาย บูรณะและบำรุงรักษาและได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงเทศบาล

5. ทางหลวงสุขาภิบาล  คือ  ทางหลวงในเขตสุขาภิบาลที่สุขาภิบาลเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างขยาย บูรณะ และบำรุงรักษา และได้ลงทะเบียนไว้เป็นทางหลวงสุขาภิบาล

           การขนส่งสินค้าภายในประเทศโดยใช้ถนนมีความสำคัญเมื่อเทียบกับการขนส่งประเภทอื่น ๆ โดยในปี พ.ศ. 2546 มีการขนส่งสินค้าทางถนนประมาณ 440 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 88 ของการขนส่งสินค้าภายในประเทศทั้งหมด โดยสินค้าที่มีการขนส่งทางถนนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. อ้อย 2. ดิน หิน ทราย 3. แร่ธาตุ  โดยมีปริมาณการขนส่งในปี พ.ศ. 2546 ประมาณ 62 ล้านตัน 51 ล้านตัน และ 38 ล้านตัน ตามลำดับ  ระบบการขนส่งต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างทางบก-ทางบก (Land-Land) จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งทางบกระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน 7 ประเทศ ซึ่งคาดว่าในปี 2549 จะมีปริมาณการขนส่ง 1.4 ล้านตัน และเพิ่มเป็น 4 ล้านตันในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.3-4.6 ของปริมาณการขนส่งโดยคอนเทนเนอร์ภายใต้ระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 8.4 ต่อปี ทั้งนี้ ระบบการขนส่งต่อเนื่องเชื่อมโยงระหว่างทางบก-ทางอากาศ (Sea-Air) จะมีสนับสนุนการส่งออกสินค้าหลักของไทย โดยสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าเกษตร (พืชผล ,พืชผัก ,ไม้ดอก, ไม้ประดับ ฯลฯ) สินค้าอุตสาหกรรม (อิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ฯลฯ) แต่เป็นสินค้าที่มีน้ำหนักไม่มาก ซึ่งคาดว่าในปี 2549 จะมีปริมาณการขนส่ง 14,000 ตัน และเพิ่มเป็น 83,000 ตันในปี 2564 คิดเป็นสัดส่วน  ร้อยละ 0.05-0.1 ของปริมาณการขนส่งโดยคอนเทนเนอร์ภายใต้ระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 13.7 ต่อปี

           ประเภทของการขนส่งด้วยรถบรรทุก (Truck Transportation) อาจแบ่งได้เป็น การขนส่งที่ใช้ประเภทรถหัวลากที่เรียกว่า Hauler ซึ่งมีคุณสมบัติในการลาก ประเภทรถพ่วงที่เรียกว่า Trailer ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้ในการขนส่งสินค้าที่เป็นคอนเทนเนอร์ (Containers) , การขนส่งที่ใช้รถหัวลากที่ใช้ในการลากรถพ่วงที่บรรทุกสินค้าที่เป็นของเหลวบรรจุในถังขนาดใหญ่ (Liquid Tank) ซึ่งสินค้าที่บรรทุกจะเป็นพวก Liquid , ของเหลว , ก๊าซ , ผลิตภัณฑ์ ทางเคมีในลักษณะดังกล่าว  , รถหัวลากที่ใช้ลากรถพ่วงประเภทที่เป็นแบบเปิดประทุน ซึ่งเหมาะกับสินค้าที่เป็น Bulk Cargoes สินค้าทางการเกษตรและสินค้าอื่นๆ ที่เป็นลักษณะบรรจุใน Packaging ต่างๆ นอกจากนี้ รถสินค้าประเภทตู้ทึบที่เรียกว่า Van  เป็นลักษณะของรถบรรทุกที่มีการทำเป็นตู้ทึบ ซึ่งส่วนใหญ่ทำด้วยเหล็กหรืออลูมิเนียม ซึ่งอาจมีได้ทั้งรถขนาดเล็ก และ รถขนาดใหญ่ โดยตู้ทึบนั้นอาจจะเปิดตู้ได้ทั้งด้านหลังและด้านข้าง ซึ่งอาจมีการดัดแปลงให้สามารถเปิดออกเป็นสะพาน ให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้าขึ้นและลงได้สะดวก หรือมีการติดตั้งเครื่องทำความเย็น ที่เรียกว่า Refrigerator หรือที่เรียกว่า เจนเซท (Genset) ที่ต้องการขนส่งสินค้าที่ต้องรักษาอุณหภูมิ

           การขนส่งทางบกจัดเป็นการขนส่งที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยการขนส่งทางบกจะเป็นการขนส่งที่สำคัญของไทย โดยจะคิดเป็น 84-88% ของการขนส่งทั้งหมด และของสหรัฐอเมริกาจะคิดเป็น 45% การขนส่งทางบกนั้นจัดเป็นการขนส่งที่ได้รับความนิยม เพราะเป็นการสะดวกสามารถรับ-ส่งสินค้าจาก Point to Point คือ ตั้งแต่ Upstream Suppliers จนถึง End Customers และอัตราค่าขนส่งก็ยังไม่สูงหากเทียบกับการขนส่งทางอากาศ โดยค่าขนส่งจะแปรผันขึ้นอยู่กับปริมาณที่บรรทุก และระยะทางของการขนส่ง แต่อย่างไรก็ดี การขนส่งด้วยการบรรทุกจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าทางรถไฟ ซึ่งมีข้อเสียในการใช้เวลาในการขนส่งมากกว่าทางบก และสินค้าที่บรรทุกไม่สามารถรับ-ส่งได้ แบบที่เป็น Point To Point ปัญหาหลักของการขนส่งด้วยรถบรรทุก ก็คือการสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในช่วงเที่ยวกลับซึ่งมักจะไม่มีสินค้า


          ประโยชน์ที่สำคัญของการขนส่งทางบก คือ สามารถใช้สอดคล้องกับการขนส่งที่เป็นระบบ DC (Distribution Center) โดยสามารถนำสินค้าที่ได้รวบรวมเก็บไว้ในคลังที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าและจัดหารถบรรทุกตามขนาดและประเภทที่เหมาะสมสำหรับสินค้าและสถานที่จัดส่งปลายทางโดยการขนส่งทางบกในปัจจุบัน โดยอาศัยการจัดการ Logistics ได้พัฒนาจนสามารถจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ ตามเวลาที่ต้องการที่เรียกว่า Real Time Delivery..


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก