บทความเรื่อง :: การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ หรือ Multimodal Transport (MT) คืออะไร
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP                     

             เป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าด้วยวิธีการผสมผสานการขนส่งหลายรูปแบบจากสถานที่หนึ่งหรือจากผู้ส่งสินค้าต้นทางไปสู่สถานหนึ่งหรือต่อเนื่องไปจนถึงสถานที่หรือผู้รับสินค้าปลายทาง โดยการส่งมอบนั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการขนส่งรายเดียว หรือภายใต้สัญญาขนส่งเพียงฉบับเดียว เป็นลักษณะการขนส่ง ซึ่งเหมาะสำหรับการขนส่งเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคหรือการขนส่งระหว่างประเทศ โดยการผสมผสานการขนส่งสินค้า จากที่หนึ่งที่ใด (One Point) หรือจากประเทศหนึ่งประเทศใด ไปสู่อีกที่หนึ่งหรืออีกประเทศหนึ่งซึ่งเป็นอาณาบริเวณที่เป็นจุดพบสุดท้าย (Interface Final Point) โดยใช้รูปแบบการขนส่งตั้งแต่ 2 รูปแบบขึ้นไป ภายใต้การบริหารจัดการของผู้ขนส่งรายเดียว และมีสัญญาขนส่งฉบับเดียว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดระยะเวลาของการขนส่ง (Just In Time) , ลดต้นทุน (Reduce Transport Cost) , เพิ่มประสิทธิภาพให้มี   ศักยภาพการแข่งขัน (Core Competitiveness) และให้สินค้ามีและความปลอดภัยที่ดีกว่า (More Cargoes Security) หรือเป็นวิธีการขนส่งสินค้าแบบเบ็ดเสร็จที่ครอบคลุมการขนส่งทุกประเภท โดยผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ในการสนองความต้องการของกระบวนการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ Logistics และลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของธุรกิจ  ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ Supply Chain ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนของคลังสินค้า , ต้นทุนที่เกี่ยวกับการผลิต และการกระจายสินค้า

องค์ประกอบของการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ

1. เป็นรูปแบบการขนส่งสินค้า หรือเคลื่อนย้ายสินค้าที่มีลักษณะการขนส่งหลายรูปแบบมาผสมผสานกัน ภายใต้ผู้ให้บริการขนส่งรายเดียว ซึ่งจะต้องรับผิดชอบตั้งแต่สินค้าต้นทางไปถึงผู้รับปลายทาง

2. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ มุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพด้านต้นทุน เมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งทางถนน โดยการขนส่งประเภทนี้จะให้ความสำคัญต่อประเภทการขนส่งหลัก ได้แก่ การขนส่งทางรถไฟ หรือการขนส่งทางน้ำ โดยจำกัดระยะทางในการขนส่งทางถนนให้น้อยที่สุด รวมถึงการใช้ในระยะทางสั้นๆในช่วงต้นทางหรือในช่วงการส่งมอบสินค้าปลายทาง

3. จะเป็นลักษณะของการขนส่ง ที่เรียกว่า Door to Door Delivery  คือ การขนส่งจากประตูจนถึงประตู หรือ การขนส่งจากต้นทางไปถึงผู้รับปลายทาง

                จะเห็นได้ว่า รูปแบบการขนส่งหลายรูปแบบจะมีลักษณะเป็นการขนส่งที่เน้น Door to Door Delivery เป็นลักษณะการจัดส่งสินค้าที่ต้องมีการขนส่งต่อกันเป็นทอดๆ หรือ MODE ของการขนส่งต่างๆ การขนส่งประเภทนี้จึงเหมาะสำหรับการขนส่งเชื่อมโยงภูมิภาค หรือการขนส่งระหว่างประเทศ ดังนั้น การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการขนส่งซึ่งมีการส่งมอบจากสินค้าต้นทาง จนกระทั่งสินค้าได้มีการส่งมอบให้กับผู้รับปลายทาง บางครั้งจึงเรียกการขนส่งแบบนี้ว่า Origin to Origin  ซึ่งโลจิสติกส์ให้ความสำคัญต่อระยะเวลาการส่งมอบจะต้องเป็นไปตามกำหนดที่ได้มีการตกลงกันที่เรียกว่า Just in time และระบบโลจิสติกส์ได้กลายเป็น Global Logistics จึงได้นำระบบการส่งมอบที่เป็น Door to Door Delivery มาใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างภูมิภาค และการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างกับการขนส่งภายในประเทศ ซึ่งจะมีลักษณะการขนส่งที่เป็นแบบการขนส่งแบบเดียว เช่น จากรถบรรทุกรับสินค้าจากต้นทางก็สามารถส่งไปได้ถึงผู้รับ แต่เนื่องจากรูปแบบการขนส่งระหว่างประเทศจำเป็นจะต้องใช้บริการขนส่งหลายรูปแบบซึ่งต้องอาศัยโหมดการขนส่งทั้งจากรถบรรทุก รถไฟ และเปลี่ยนเป็นการขนส่งทางเรือ หรือทางอากาศ จนสินค้าถึงมือ ผู้รับปลายทาง โดยผู้ให้รับบริการการขนส่งทอดแรกนั้นจะต้องรับผิดชอบต่อตัวสินค้าตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงผู้รับปลายทาง ซึ่งผู้ให้บริการจะต้องมีทักษะและเครือข่ายเนื่องจากจะมีความซับซ้อน เส้นทางและพาหนะที่ใช้ในการขนส่งแต่ละโหมดโดยต้องเข้าใจเกี่ยวกับกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศุลกากรในแต่ละประเทศ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของเส้นทาง การที่จะต้องเข้าใจในรูปแบบการขนส่งของแต่ละประเทศ   การขนส่งแบบ Door to Door Service จำเป็นต้องมีพันธมิตรในต่างประเทศในการรับจัดการขนส่งสินค้าจนไปถึงมือผู้รับปลายทาง จึงต้องมีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรและเชื่อมโยงการขนส่งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศในลักษณะการเชื่อมต่อในระหว่างโหมดการขนส่งในหลายๆ ทอด จนสินค้าไปจนถึงผู้รับ ซึ่งเจ้าของสินค้าจะต้องสามารถที่จะติดตามสถานะของสินค้าในระหว่างการขนส่ง ซึ่งจะต้องนำระบบการติดตามที่เรียกว่า Trace and Track เพื่อให้ทั้งลูกค้าต้นทางและปลายทางสามารถติดตามสถานะสินค้าโดยผ่านระบบ Internet

           การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ จะปรากฎอยู่ในเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศที่เรียกว่า “Incoterm 2000” เช่น CPT , CIP , DDU และ DDP เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการมอบความรับผิดชอบให้ผู้ขนส่งที่เรียกว่า “Carriage” ซึ่งโดยทางปฏิบัติจะมีการทำหน้าที่ในการเชื่อมวิธีการขนส่งของที่แตกต่างกันเข้าด้วยกัน เพราะว่าโดยธรรมชาติของการขนส่งของระหว่างประเทศแล้วการขนส่งของระหว่างประเทศ    จำต้องใช้รูปแบบการขนส่งอย่างน้อยสองรูปแบบขึ้นไปเชื่อมต่อกัน เช่น เรือเชื่อมกับรถ ซึ่งตามสภาพความเป็นจริงไม่มีรูปแบบการขนส่งใดที่จะมีศักยภาพในการเชื่อมต่อแหล่งกำเนิดของกับแหล่งความต้องการบริโภคให้เข้าถึงกันได้โดยไม่ต้องใช้รูปแบบการขนส่งอื่น แหล่งกำเนิดและจุดหมายปลายทางของของมิได้อยู่ริมทะเลหรือท่าเรือเสมอไป ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบการขนส่งอื่นเพื่อขนส่งของเข้ามาเชื่อมต่อ เช่น ทางบกเชื่อมต่อจากท่าเรือ เพื่อให้ของเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางของผู้รับภายในประเทศ  การเชื่อมต่อรูปแบบการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ไม่ได้จำกัดแค่เพียงการเชื่อมต่อเส้นทางเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเชื่อมการประสานงานด้านการจัดการขนส่ง การควบคุมของความรับผิด ตลอดจนการเชื่อมต่อระบบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการขนส่งและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยอาศัยลักษณะเด่นของแต่ละรูปแบบการขนส่งที่รวมเข้าด้วยกัน การเชื่อมต่อรูปแบบการขนส่งก่อให้เกิดระบบการทำงานที่เป็นระเบียบและเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ


 สาระสำคัญของการเป็นขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ คือ

1. การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ต้องเป็นการขนส่งสินค้าที่ใช้การขนส่งตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไป และจะเป็นการขนส่งต่อเนื่องระหว่างการขนส่งทางบกกับการขนส่งทางทะเลหรืออาจเป็นการขนส่งทางทะเลกับการขนส่งทางอากาศ

2. เป็นการขนส่งทั้งในประเทศและหรือระหว่างประเทศ  การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาจถูกนำมาใช้กับการขนส่งของทั้งการขนส่งภายในประเทศ (Domestic multimodal transport) และการขนส่งของระหว่างประเทศ (International multimodal transport) แต่โดยทั่วไปแล้ว การขนส่งของที่จำเป็นต้องใช้รูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปขนส่งของต่อเนื่องกันไป มักเป็นการขนส่งที่มีระยะทางไกล ๆ  จึงนิยมนำเอาการขนส่งต่อเนื่องดังกล่าวไปใช้กับการขนส่งของระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

3. เป็นการขนส่งของตามสัญญาฉบับเดียว  ในการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบระหว่างประเทศนี้ ผู้ส่งของกับผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเพียงผู้เดียวเป็นผู้รับผิดชอบโดยจะออกเอกสารการขนส่งฉบับเดียวสำหรับการขนส่งของ และมีการคิดอัตราค่าขนส่งเดียวตลอดเส้นทาง (Single rate) ตลอดจน      ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจะเป็นผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อการขนส่งตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง

                 ในกรณีของประเทศไทย พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ก็ได้ผ่านรัฐสภาแล้ว ขณะนี้ก็อยู่ในเรื่องของการเตรียมการในการออกเป็นกฎกระทรวงในการที่จะนำมาบังคับใช้ ซึ่งประเทศไทยก็จะเป็นผู้นำในอาเซียนในการที่จะนำกฎหมายนี้มาใช้เป็นประเทศแรก เนื่องจากประเทศไทยก็ได้ประกาศตัวในการที่จะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นประโยชน์ที่ประเทศจะได้ก็จะต้องมีการพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ และผู้ประกอบการขนส่งจะต้องมีความรับผิดชอบและมีความเข้าใจในเรื่องของการส่งมอบที่เป็น Multimodal Transport ซึ่งตรงนี้เอง ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของคนไทยส่วนใหญ่ ยังไม่มีขีดความสามารถในการให้บริการ และมีความเสียเปรียบเนื่องจากผู้ประกอบการไทยจะขาดเครือข่าย Network ซึ่งภาครัฐเมื่อผลักดันกฎหมายนี้ออกมาแล้วสิ่งที่จะต้องทำเร่งด่วน คือต้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของประเทศไทยให้ศักยภาพในการแข่งขันกับผู้ประกอบการของของบริษัทข้ามชาติ  ไม่เช่นนั้น ก็ไม่รู้ว่าประเทศไทยจะมี พ.ร.บ. ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเอาไว้ทำไม..??


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก