บทความเรื่อง :: ความสำคัญของการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ (HUB & Spokes) ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP           


             ศูนย์กลาง (HUB) หมายถึง การใช้ประโยชน์เชิงพื้นที่ในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์   (Logistics  Hub) เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบโลจิสติกส์ทั้งหมดไว้อย่างเป็นระบบ  อันประกอบไปด้วยการขนส่ง การเคลื่อนย้ายสินค้า-บริการ , ข้อมูลข่าวสาร และการเคลื่อนย้ายทุน โดยมีความพร้อมเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง และระบบสาธารณูปการ ภายใต้การสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและมีการจัดการกฎหมายและระเบียบ ข้อบังคับที่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริมธุรกรรมทางการค้า และมีการพัฒนาระบบขนส่งที่เชื่อมโยง ทั้งทางบก-ทางน้ำ-ทางอากาศ รวมถึงการให้มีระบบพื้นฐานในการบริการและการอำนวยความสะดวกในการเก็บและกระจายสินค้า  สามารถจัดการการเคลื่อนย้ายสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  รวมถึงประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการเชื่อมโยงเครือข่ายการกระจายสินค้าทั้งภายในประเทศและเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ     ศูนย์กลางโลจิสติกส์เป็นผลสืบเนื่องจากการสร้างประสิทธิภาพทางด้านโลจิสติกส์ให้สูงขึ้น  เพื่อให้เกิดกระบวนการสร้างงานหรือกระบวนการเพิ่มคุณค่า   (Value  Added  Process)  กับสินค้าที่ส่งผ่านในโซ่อุปทานนั้นๆ โดยประเทศไทยมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์  มีพื้นที่ติดทะเลทั้งทางด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน      และสามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบทั้งประเทศพม่า   ลาว   กัมพูชา  มาเลเซีย  เวียดนาม  และจีน  นอกจากนี้  สภาพเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  (Export-oriented  country)   มีมูลค่าและปริมาณการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นเป็นลำดับ  โดยแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้มีความเจริญเติบโตทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศอย่างรวดเร็ว   (ยกเว้นประเทศพม่า และ สปป.ลาว)  อีกทั้งแนวโน้มการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีของประเทศไทย  ทำให้การค้าระหว่างประเทศของประเทศต่างๆ  ในภูมิภาค  ยิ่งมีการเจริญเติบโตที่สูงขึ้น  ดังนั้น  ทิศทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทยในปัจจุบัน  จึงมุ่งไปที่การยกระดับระบบโลจิสติกส์สู่มาตรฐานสากล  เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าในภูมิภาค ทั้งนี้  ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศโดยเฉพาะจีน , มาเลเซีย , สิงคโปร์ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนายกระดับมาตรฐานระบบโลจิสติกส์นำหน้าประเทศไทยไปมากแล้ว โดยมาเลเซียต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP จะประมาณ 15% ขณะที่สิงคโปร์ประมาณ 7-10% สำหรับประเทศไทย 20-25% โดยแต่ละประเทศดังกล่าวก็มุ่งไปที่การพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลาง   โลจิสติกส์  (Logistics  Hub)  ทั้งนี้ จากการเปิดเสรีทางการค้า และเขตการค้าเสรีอาเซียนก่อให้เกิดภาวะการแข่งขันด้านการผลิตและการตลาดมีความรุนแรง  โดยเฉพาะประเทศต่างๆในอนุภูมิภาคอินโดจีน และลุ่มแม่น้ำโขง จะมีลักษณะปัจจัยคล้ายคลึงกัน จึงทำให้มีการแข่งขันในตลาดเดียวกัน 

              ประโยชน์ของการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำ มีผลต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ  ในด้านเพิ่มศักยภาพขีดความสามารถในการแข่งขัน (Core Competitiveness) และการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหรือ  GDP  การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ยังมีผลต่อการเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งทางบกและแม่น้ำโขง รวมถึงการเชื่อมโยงเมืองท่าสำคัญในภูมิภาค และ สามารถใช้ประโยชน์จากท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือต่างๆ รวมถึง การขนส่งทางถนนและทางรถไฟในการเชื่อมโยงกับประเทศลาว  ,พม่า , กัมพูชา  และกับประเทศจีนตอนใต้  อย่างไรก็ดี การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ยังก่อให้เกิดการเป็นศูนย์การค้าและการเงินระหว่างประเทศ  เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมที่การเคลื่อนย้ายของสินค้าและบริการจากประเทศต่างๆ จะต้องใช้เส้นทางในประเทศไทยเพื่อส่งผ่านไปประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และกระบวนการไหลผ่านดังกล่าวจะส่งผ่านเทคโนโลยี  ความรู้  และทักษะในการจัดการต่างๆ  มาสู่ประเทศด้วย  ดังนั้น  บุคลากรของประเทศจึงมีศักยภาพมากขึ้น  เป็นการเพิ่มผลิตภาพมากขึ้น  (Productivity)   และสุดท้ายก็จะนำไปสู่การมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  (well-being)  ส่งผลทำให้เป็นศูนย์รวมสินค้าของภูมิภาค (Collecting Port) ทำให้มีปริมาณสินค้าจำนวนมากเพิ่มการขนส่งระหว่างประเทศก่อให้เกิดการประหยัดจากขนาดจากการขนส่งสินค้า  (Economies  of  Scale)  และการประหยัดจากความรวดเร็ว  (Economies  of  Speed)  คือ  ความสามารถในการจัดการการเคลื่อนย้ายและการกระจายสินค้าในปริมาณที่มากขึ้น  ด้วยระยะเวลาตอบสนอง  (Response  Time)  ที่ดีขึ้น  เพราะจะมีความถี่ของพาหนะการขนส่ง เช่น ปริมาณเที่ยวของเรือและเครื่องบินที่มากขึ้น ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อหน่วยสินค้าลดลง  และบริการดีขึ้น  (Cost  Effective)  ผลิตภาพการผลิต  (Productivity)  เพิ่มขึ้น  ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการช่วยสนับสนุนการดำเนินการของสาขาการผลิตและการค้าในประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น  ทั้งนี้ กระบวนการสร้างคุณค่าให้กับประเทศ  (Value  Creation)  จากกิจกรรมของการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคและของโลก ก่อให้เกิดกิจกรรมเสริมคุณค่าต่างๆในโซ่อุปทานของระบบโลจิสติกส์ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์  (Value  added  of  infrastructure)  ไม่ว่าจะเป็นจุดรวบรวมและกระจายสินค้าของภูมิภาค  (Packing  House / Regional Distribution  Center)  ท่าอากาศยานหรือท่าเรือ ศูนย์ซ่อมเรือ , เครื่องบิน , ตู้คอนเทนเนอร์ ฯลฯ ทำให้ประเทศไทยมีคุณค่าในฐานะเป็นประเทศสนับสนุนการค้าของโลก เหมือนกรณีเช่นประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น รวมทั้ง การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ  โดยการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์  (Global  Logistics  Business)  และการลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง  เช่น  ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  ด้านการค้าและบริการ  เป็นต้น  ดังนั้น  ผลประโยชน์ทางตรงที่ประเทศจะได้รับจะออกมาในรูปของรายได้ที่เกิดจากการประกอบการ  (Operating  Income)  และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการจ้างงานด้านโลจิสติกส์  การพัฒนาระบบโลจิสติกส์จึงกลายมาเป็นปัจจัยที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน   (Competitive  Advantage)  การเป็นศูนย์กลาง     โลจิสติกส์ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจึงจะก่อให้เกิดผลดีต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม  (Tangible  and  intangible  economic  benefits)


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก