บทความเรื่อง :: เศรษฐกิจโลกกำลังผจญกับความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น
 


รายงานพิเศษ สายงานเศรษฐกิจและโลจิสติกส์ ส.อ.ท.

เศรษฐกิจโลกกำลังผจญกับความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น 

 

 

โดย ดร.ธนิต  โสรัตน์

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

25 เมษายน 2554

 

ความเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น

 

เหตุการณ์ความไม่สงบในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกำลังเป็นเหตุให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูง และมีแนวโน้มที่จะทำสถิติสูงกว่าช่วงปี 2551 ที่ราคาน้ำมันดิบเคยปรับตัวสูงขึ้นถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะกระทบต่อเศรษฐกิจของโลก สาเหตุสำคัญเกิดจากการเก็งกำไรจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบีย เยเมน และกำลังส่อเค้าที่จะลุกลามไปหลายประเทศในตะวันออกกลาง บวกกับตลาดตอบสนองต่อความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีเค้าว่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด ถึงแม้ว่าตัวเลขอัตราการว่างงานลดลงไม่มาก รวมทั้งการใช้น้ำมันเตาเพื่อผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นที่สูงขึ้นประมาณ 10-12 เปอร์เซ็นต์ เพื่อชดเชยเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 6 ตัวที่รั่วไหลออกมาจนถึงปลายเดือนเมษายน 2554 เตาหมายเลขข 2 และหมายเลข 4 ยังหาทางแก้ไขการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีไม่ได้

ระดับราคาน้ำมันโลกที่พุ่งขึ้นสูงมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและต่อเศรษฐกิจไทย จึงเป็นปัจจัยที่จะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบของตลาดโลกยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ราคาน้ำมันดิบตลาดจร (Spot Market) ตลาดเบรนท์ ณ วันที่ 22 เมษายน ปิดที่ 125.41 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบตลาดเวสต์เท็กซัส ปิดที่ 111.69 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ ส่งมอบ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 116.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์แตะระดับสูงสุดในรอบ 30 เดือน  ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนไปตามสถานการณ์การเมืองในแอฟริกาเหนือ และตะวันออกกลาง ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเริ่มลดลงมาเล็กน้อย แต่ราคาส่งมอบใน 3 เดือนข้างหน้า ค่อนข้างทรงตัวที่อัตราราคา 115-120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  สภาวะระดับราคาน้ำมันโลกที่สูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ทำให้ราคาน้ำมันในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาปรับไปถึงร้อยละ 37.5 เป็นประเด็นความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบปี 2553 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.9 ของตัวเลขการส่งออก โดยคาดว่าในปี 2554 จะมีการขยายตัวเชิงมูลค่ากว่าร้อยละ 25 หรือคิดเป็นมูลค่าร้อยละ 8.96 ของ GDP

ทั้งนี้ ระดับราคาน้ำมันที่สูง มีส่วนสำคัญต่อเงินเฟ้อ และต่อระบบเศรษฐกิจและภาวะความมั่นคงของรัฐบาลของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลไม่สามารถชดเชยน้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลชดเชยถึงลิตรละ 6.0 บาทต่อลิตร (จากเดิม 6.40 บาท/ลิตร) ส่งผลให้ต้องลดภาษีสรรพสามิตลิตรละ 5.305 บาท เพื่อนำเงินไปชดเชยกองทุนน้ำมันเดือนละ 11,438 ล้านบาท ทำให้เงินกองทุนติดลบเดือนละประมาณ1,671 ล้านบาท ประเด็นก็คือ หากพ้นจากเดือนกันยายน ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายที่ตรึงราคาดีเซล โดยที่ราคาน้ำมันยังพุ่งสูงกว่าปัจจุบัน หากรัฐบาลไม่สามารถชดเชยราคาน้ำมันได้ต่อไป และปล่อยให้ลอยตัวย่อมส่งผลกระทบต่อการเมือง และต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร เพราะไม่ต้องการให้มีผลต่อเงินเฟ้อ ซึ่งการชดเชยน้ำมันดีเซล มีส่วนกดเงินเฟ้อไว้ประมาณร้อยละ 0.4 ถึง 0.7 ของ GDP

ปัจจัยอะไรทำให้ราคาน้ำมันสูงสุดในรอบ 2 ปีเศษ

ความกังวลต่อสถานการณ์สงครามกลางเมืองในลิเบีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 8 ของโลก ทำให้การผลิตลดลงไป 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน กอปรกับความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทั้งในเยเมน ซีเรีย บาห์เรน และไนจีเรีย ที่มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวสูงขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 120-125 ดอลลาร์/ บาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ส่งมอบเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มขึ้น ปิดที่ 111.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2.5 ปี ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบ ส่งมอบเดือน พ.ค. ปิดที่ 108.99 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ราคาน้ำมันดีเซล ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่ตลาดสิงคโปร์ ส่งมอบเดือน พ.ค. ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 134 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบผันผวน เกิดจากการเก็งกำไรตามปัจจัยพื้นฐานและปัจจัยทางจิตวิทยา ซึ่งคาดว่าตลาดจะมีลักษณะ Supply Shock และจะมีการกักตุนน้ำมันมากขึ้น โดยสถานการณ์ไม่สงบทางการเมืองที่ยืดเยื้อและรุนแรงในลิเบีย รวมถึงการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ยังเป็นแรงขับเคลื่อน ความกังวลว่าอาจเกิดการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันและท่าเรือทางตะวันออกของลิเบีย กระทบต่อจิตวิทยาด้านอุปสงค์ ทำให้ตลาด Spot Market มีการเก็งกำไรและได้ผลประโยชน์สูงสุด ประมาณว่าราคาน้ำมันในปัจจุบัน สูงกว่าความเป็นจริงประมาณ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น จากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เมืองฟูกูชิม่าทั้ง 6 ตัวได้รับความเสียหาย มีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี โดยเฉพาะเตาที่ 4 ซึ่งยังมีปัญหาจนสถานะอยู่ในระดับ 7 เทียบเท่ากับกรณีที่เกิดที่เชอร์โนบิลในรัสเซีย เมื่อปี 2529 ซึ่งถ้าสถานการณ์มีความยืดเยื้อและรุนแรง อาจจะส่งผลต่อการกลับมาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทำให้ต้องใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10-12 ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลต่อปริมาณการนำเข้าน้ำมันที่สูงขึ้น

มาตรการของรัฐบาลไทยกับการรับมือน้ำมันขาขึ้น

            ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศปี 2553 ปริมาณ 283.97 ล้านบาร์เรล คิดเป็นมูลค่า 23,905 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป 14.235 ล้านบาร์เรล และมีการนำเข้า LPG อีกปีละประมาณ 6.66 ล้านเมตริกตัน ขณะที่ปี 2554 คาดว่าจะนำเข้าน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 29,881 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 25.0 (ไทยมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปปีละประมาณ 38.69 ล้านบาร์เรล) ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค คิดเป็นร้อยละ 9.0 ของ GDP หรือคิดเป็นสัดส่วนเทียบเท่ากับการส่งออกร้อยละ 13.6 ใกล้เคียงกับการส่งออกไปประเทศจีนบวกกับรัสเซีย เห็นได้ว่าไทยพึ่งพาการใช้น้ำมันในอัตราที่สูง ซึ่งน้ำมันที่นำเข้าเป็นปัจจัยต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง การผลิตกระแสไฟฟ้า และในภาคครัวเรือน รวมทั้งภาคเกษตร ประเด็นก็คือ มาตรการประชานิยม การใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วยของภาคครัวเรือน และการชดเชยน้ำมันดีเซลถึงลิตรละ 6.40 บาทต่อลิตร กับชดเชยแก๊ส LPG ในภาคครัวเรือนและรถยนต์ รัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืนเพียงใด เพราะมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรของรัฐบาลว่าส่งผลให้ยอดจำหน่ายน้ำมันดีเซลของบางจากปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมา จากปกติที่มียอดขายประมาณ 160-170 ล้านลิตรต่อเดือน

ทั้งนี้ รัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ฯ โดยมติค.ร.ม.เมื่อวันที่ 20 เมษายน รัฐบาลยังคงใช้มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร โดยมีผลช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2554 เนื่องจากเกรงปัญหาเงินเฟ้อและผลกระทบต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันเชิงพาณิชย์ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการขนส่ง และเครื่องมือเครื่องใช้การเกษตร ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลใช้เงินกองทุน 6.40 บาทต่อลิตร และมีการปรับลดเหลือ 6.0 บาทต่อลิตรในการตรึงราคาน้ำมัน ซึ่งกองทุนน้ำมันปัจจุบัน เงินเหลืออยู่เพียง 4,000 ล้านบาทเศษ ขณะที่การชดเชยน้ำมัน ณ วันที 21 เม.ย. ต้องใช้เงิน 11,938 ล้านบาทต่อเดือน  จากมติ ค.ร.ม.ดังกล่าว กระทรวงการคลังได้ลดภาษีสรรพสามิตจากลิตรละ 5.31 บาท เหลือ 0.005 บาท คิดเป็นภาษีสรรพสามิตทั้งหมดที่ต้องใช้ในการอุดหนุนน้ำมันดีเซลในช่วง 5 เดือน (พ.ค. – ก.ย.) เป็นเงินประมาณ 45,516 ล้านบาท ซึ่งการที่รัฐบาลใช้ภาษีสรรสามิตเข้ามาช่วยกองทุนน้ำมัน ส่งผลให้กองทุนจะติดลบลดเหลือเดือนละ 1,671 ล้านบาท ซึ่งการที่รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิต และยังคงชดเชยน้ำมันลิตรละ 6.0 บาท ได้รับการวิพากษ์ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งนักวิชาการเห็นว่ารัฐบาลไม่ควรทำ เพราะเป็นเรื่องของการหาเสียง ทำให้ราคาน้ำมันบิดเบือน และประชาชนไม่มีความประหยัดในการใช้น้ำมัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการขนส่งเห็นว่ารัฐบาลทำในสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนของภาคการผลิต ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชน ทั้งภาคเกษตรและรากหญ้า หากปล่อยราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวจะทำให้ต้นทุนการผลิตที่อั้นมานาน มีการปรับราคาอย่างเป็นลูกโซ่  ที่สุดประชาชนก็จะต้องเป็นผู้แบกราคา แต่ทั้งนี้ การตรึงราคาน้ำมันในราคา 30 บาทต่อลิตร หากแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ลดลง รัฐบาลอาจมีการทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลขึ้นครั้งละ 0.5-1 บาท แต่ก็ควรจะเป็นหลังช่วงที่ระยะเวลามาตรการตรึงราคาจบไปแล้ว

            ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยน้ำมันของประเทศกลุ่มโอเปคในเดือนมีนาคม 2553 เฉลี่ยอยู่ที่ 84.5 USD/BBL (เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) เทียบกับราคา ณ วันที่ 22 เมษายน 2554 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 116.59 USD/BBL ในช่วง 1 ปี ราคาน้ำมันสูงขึ้น 32.09 USD/BBL คิดเป็นร้อยละ 37.5 หากจะคาดเดาราคาน้ำมันใน 1.2 เดือนข้างหน้า ก็ต้องดูจากราคาน้ำมันดูไบขายล่วงหน้า ส่งมอบเดือนมิถุนายนอยู่ที่ราคา 108.99 USD/BBL สอดคล้องกับราคา Spot Price จากแหล่งอื่นๆ ส่งมอบล่วงหน้า 3 เดือน ก็อยู่ในลักษณะทรงตัวในระดับสูง เช่น น้ำมันตลาด WTI ราคา 111.72 USD/BBL มีเพียงราคาน้ำมันตลาด Brent ที่ยังคงสูง  แสดงให้เห็นว่าระดับราคาน้ำมันโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง อย่างน้อยถึงช่วงต้นของไตรมาสที่ 3  ในด้านภาครัฐ ล่าสุด สศช.ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยจาก 85-95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเป็น 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ระดับราคาน้ำมันที่สูง มีส่วนสำคัญต่อเงินเฟ้อ และต่อระบบเศรษฐกิจและภาวะความมั่นคงของรัฐบาลของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลไม่สามารถชดเชยน้ำมันดีเซล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลชดเชยถึงลิตรละ 6.0 บาทต่อลิตร เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาท จนถึงปลายเดือนกันยายน 2554 ประเด็นก็คือ หากรัฐบาลไม่สามารถชดเชยราคาน้ำมันได้ต่อไป และปล่อยให้ลอยตัวย่อมส่งผลกระทบต่อการเมือง และต่อระบบเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลต่อภาระการใช้จ่ายของประชาชน กลายเป็นประเด็นหาเสียงทางการเมือง โดยเฉพาะในช่วงใกล้การเลือกตั้งที่จะมีในเร็วๆ นี้

 

............................................................


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 25-04-2011  

 
หน้าหลัก