บทความเรื่อง :: แม่น้ำเจ้าพระยาเส้นทางขนส่งที่ถูกลืม..???
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP          


การขนส่งทางน้ำในแผ่นดิน (Water Inland Transport)

              การขนส่งทางน้ำในแผ่นดิน อาจจะเป็นแม่น้ำ ทะเลสาป ลากูน ทะเลสาปน้ำเค็ม ซึ่งมีเส้นทางอยู่ในส่วนของแผ่นดินใหญ่ (Main Land) การขนส่งประเภทนี้สำหรับในประเทศไทยจะคิดเป็น 4% ของการขนส่งทั้งหมด จัดว่าเป็นรูปแบบการขนส่งสินค้าที่สำคัญประเภทหนึ่ง เพราะสามารถรับช่วงขนส่งสินค้าจากส่วนต่างๆ ลึกเข้าไปในแผ่นดินของประเทศ ซึ่งมีแม่น้ำหรือทะเลสาปผ่าน ทำให้สามารถใช้ในการขนส่งสินค้าที่มีการเชื่อมโยงกับการขนส่งสินค้ารูปแบบอื่น เช่น จากเรือที่เป็น Ocean Ship – รถไฟ –การขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางบก เนื่องจากในบางสถานที่เป็นดินแดนที่ทุรกันดาร หรือไม่ได้เป็นเมืองเศรษฐกิจ ซึ่งไม่มีการคุ้มทุนในการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมหรือขนส่งด้วยทางอากาศ การขนส่งทางน้ำในแผ่นดินในต่างประเทศ โดยประเทศในยุโรปเป็นที่นิยมมากเพราะเป็นการขนส่งที่ประหยัดกว่า เมื่อเทียบกับการขนส่งทางบก โดยเฉพาะในประเทศเยอรมัน , ฝรั่งเศส และอังกฤษ สำหรับประเทศไทยเส้นทางขนส่งที่สำคัญจะใช้แม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรือสามารถแล่นได้จากนครสวรรค์ ปากน้ำโพ และมีความพยายามให้เรือสามารถขึ้นไปได้ถึงเชียงใหม่ แต่ก็ยังมีปัญหาที่เกี่ยวกับแก่งต่างๆ

              การพัฒนาการขนส่งทางแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 จนถึงฉบับที่ 6 ได้มีการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ โดยมีการปรับปรุงร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามาโดยตลอด โดยการขุดลอกร่องน้ำ สร้างรอใต้น้ำและสร้างแนวกำแพงป้องกันตลิ่งพัง เพื่อให้ร่องน้ำมีความลึกต่ำสุด 1.7 เมตร และสร้างท่าเรือขึ้น 2 แห่ง ที่อำเภอเมืองนครสวรรค์ และอำเภอตะพานหิน (จังหวัดพิจิตร) รวมทั้งสร้างเรือลำเลียงเหล็กท้องแบน ให้เหมาะสมกับร่องน้ำเพื่อประโยชน์ในการบรรทุกสินค้าให้ได้จำนวนมากๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากการขุดลอกร่องน้ำโดยการดูดทรายออกไปทำได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น กระแสน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะพัดเอาทรายมาทับถมร่องน้ำอีก ส่งผลให้ร่องน้ำกลับมาตื้นเขินเหมือนเดิม ทั้งนี้ ร่องน้ำมีความลึกไม่เพียงพอที่เรือจะแล่นผ่านได้ตลอดเส้นทางและตลอดปี โดยเฉพาะฤดูแล้งลำน้ำจะตื้นเขิน ไม่สามารถใช้การขนส่งสินค้าทางน้ำได้  เพื่อให้สามารถเดินเรือได้ตลอดปี จะต้องมีการก่อสร้างก่อสร้างเขื่อนยกระดับเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาและน่าน โดยจุดที่น่าจะก่อสร้างควรจะอยู่ที่หลัก กม. 205 (อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี) และที่หลัก กม. 345 (อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์) ซึ่งจะส่งผลให้เรือที่กินน้ำลึกประมาณ 3 เมตร สามารถแล่นผ่านได้ตลอดทั้งปี โดยกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี (กรมเจ้าท่าเดิม) ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2536 อนุมัติงบประมาณจำนวน 36 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา 2 แห่ง ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้างเขื่อนยกระดับดังกล่าว ซึ่งการศึกษาและสำรวจได้เสร็จในปี 2540 แต่เป็นช่วงประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเงินและการคลังของประเทศอยู่ในภาวะที่ไม่ค่อยจะเอื้ออำนวยมากนัก ทางกระทรวงการคมนาคมจึงมีการชะลอโครงการ  โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับเพื่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และน่าน  ปัจจุบันปรากฏอยู่ในยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง กลุ่มที่ 2 (นครสวรรค์ , กำแพงเพชร , พิจิตร , อุทัยธานี) และปรากฏอยู่ในยุทธศาสตร์จังหวัดนครสวรรค์ด้วย โดยถือว่าเป็นโครงการที่มีผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกลุ่มจังหวัดดังกล่าว และของจังหวัดนครสวรรค์เป็นอย่างสูง นอกเหนือจากการเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของภาคเหนือ ยังส่งผลโดยรวมต่อประเทศ โดยเฉพาะในการลดค่าใช้จ่ายด้าน Logistics ซึ่งกำลังเป็นปัญหาของประเทศ

                 สภาพของลำน้ำเจ้าพระยาเหนือจังหวัดอ่างทอง อ.ไชโย ซึ่งเป็นอำเภอเหนือสุดของจังหวัดที่ติดต่อกับ อ.พวงบุรี ตั้งแต่วัดไชโยขึ้นไป แม่น้ำเจ้าพระยาค่อนข้างจะตื้นแต่ใต้อำเภอไชโยลงมาจนถึงอำเภอป่าโมก ลำน้ำเจ้าพระยาจะมีร่องน้ำลึก สามารถที่จะทำท่าเรือได้ แต่จะต้องมีการขุดรอกแม่น้ำ ตั้งแต่ใต้  อ.เมือง จ.อ่างทอง ติดต่ออำเภอป่าโมก ต่อเนื่องถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ การขนส่งทางน้ำในแผ่นดิน ที่เรียกว่า Inland Water Transport จะต้องมีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะการขนส่งทางน้ำจะประหยัดกว่าการขนส่งทางถนน ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งพัฒนาการใช้ประโยชน์ของลำน้ำเจ้าพระยามาเป็นแผนพัฒนา Logistics เช่นเดียวกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟ , สนามบิน และทางถนน ในส่วนของการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ปทุมธานี , พระนครศรีอยุธยา , อ่างทอง , สิงหบุรี , ชัยนาท และนครสวรรค์  จะต้องมีการพัฒนาโดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดให้ต่อเนื่องไปในการกำหนดเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับ การขนส่งสินค้าทางน้ำ การสร้างเขตส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางน้ำ โดยกำหนดให้เป็นในเขตลงทุนพิเศษ โดยเน้นการขนส่งทางน้ำเพื่อจะได้รับสิทธิประโยชน์จาก BOI จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจให้มาพัฒนาและใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าเหมือนกับที่เคยเป็นในสมัยอดีต ซึ่งจะส่งผลต่อการลดต้นทุนด้านพลังงานและด้าน Logistics ของไทยได้ในระยะยาว..

 


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก