บทความเรื่อง :: Thailand Logistics & Supply Chain Efficiency
 


Logistics & Supply Chain Efficiency

โดย ดร.ธนิต โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

19 มีนาคม 52

ประสิทธิภาพของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และโซ่อุปทานของไทย

            ประสิทธิภาพของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของประเทศไทย มีความก้าวหน้าน้อยมาก เห็นได้จากคณะกรรมการโลจิสติกส์แห่งชาติซึ่งได้มีมติ ครม. มาตั้งแต่ปลายสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จนมาถึงอดีตรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ” หรือที่เรียกว่า คบส. ก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรมากนักหรือแทบจะเรียกได้ว่ายังไม่ได้มีการประชุมด้วยซ้ำไป แต่เนื่องจากการผลกระทบการเมืองที่ไม่นิ่ง และการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้ง รวมถึง ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยในประเทศไทย ทำให้รัฐบาลที่ผ่านมาแทบไม่ให้ความใส่ใจหรือสนใจต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ผลแห่งการขาดประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของประเทศไทย เห็นได้จากต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ในระดับที่สูงประมาณไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 18.9 ต่อ GDP หรือ ประมาณร้อยละ 10-12 ต่อราคาขาย หากคำนวณ GDP ปี 2552 (ประมาณ 9.373 ล้านล้านบาท) มูลค่าของต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยจะอยู่ที่ประมาณปีละ 1.771 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศคู่แข่งที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 8-10 ต่อ GDP  โดยประสิทธิภาพของการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนจะสัมพันธ์ในทางตรงข้ามกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ปัจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูงกว่าที่ควรจะเป็น เห็นได้จากต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยมีสินค้าคงคลังประมาณร้อยละ 8.5 ของ GDP หรือประมาณ 45% ของต้นทุนรวมทั้งหมด ซึ่งต้นทุนสินค้าคงคลังของไทยสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วกว่าเท่าตัว การที่ต้นทุนสินค้าคงคลังสูงแสดงให้เห็นถึงความที่ไม่มีประสิทธิภาพของการพัฒนาระบบโซ่อุปทานในภาคการผลิตของเอกชนไทย ทั้งนี้ ภาคธุรกิจของคนไทย ส่วนใหญ่แล้วยังไม่มีการบริหารจัดการโซ่อุปทานในองค์กรและระหว่างองค์กร ถึงแม้ว่าจะมีการจัดตั้ง “แผนกโลจิสติกส์” ในบริษัท แต่การบริหารก็ยังแยกส่วนไม่มีการบูรณาการทางข้อมูลภายในและเชื่อมโยงกับ “การจัดการโซ่อุปทาน” (Supply Chain) ซึ่งถูกจัดชั้นเป็นเพียงการจัดการหาจัดซื้อหรือเพียงกิจกรรมขนส่ง ปัญหาการพัฒนาโลจิสติกส์ของภาคอุตสาหกรรมของคนไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ SME จึงอยู่ในระดับขั้น “การเรียนรู้” แต่ไม่สามารถมาเอา Knowledge Base ไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติไปสู่การลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้อย่างเป็นระบบ เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งที่การพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยขาดประสิทธิภาพ ก็คือการไม่สามารถกระจายต้นทุนหรือ Cost Sharing ไปยังผู้ให้บริการโลจิสติกส์หรือ Logistics Service Provider โดยผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของคนไทย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม SMEs มีความอ่อนแอไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจผู้ให้บริการจากต่างชาติ ซึ่งมักจะเข้ามาทำธุรกิจในลักษณะที่เป็น Turn Key Business ผู้ให้บริการของคนไทยระดับกลางที่พอแข่งขันกับต่างชาติได้ก็มีจำนวนไม่มาก ข้อจำกัดของผู้ให้บริการของคนไทยจะอยู่ที่การสร้างเครือข่าย ดังนั้น หากจะพัฒนาประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ของธุรกิจไทย จำเป็นที่จะต้องเร่งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของคนไทยให้มีประสิทธิภาพ เพราะจะเป็นกลไกสำคัญต่อการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการผลิต


ไฟล์ประกอบ 020-ThailandLGT-SPCEfficiency-Digest.pdf


วันที่ 20-04-2009  

 
หน้าหลัก