บทความเรื่อง :: ความสำคัญของลอจิสติกส์และซัพพลายเชน
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP          

            Logistics และ Supply Chain ต่างดำเนินกิจกรรมอยู่ในอาณาบริเวณของตลาด ซึ่งก็คือลูกค้า แต่โดยข้อเท็จจริงในอาณาบริเวณของตลาดใช่จะมีแต่เฉพาะลูกค้า แต่ก็ยังเป็นอาณาบริเวณเดียวกันกับคู่แข่งและอุปสรรคหรือภัยคุกคาม (THREAT) ทั้งที่อาจมาจากคู่แข่ง , จากกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างจากภาครัฐที่เรียกว่า โครงสร้างส่วนบนของวิถีการผลิตที่เรียกว่า Super structure ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคมที่มีต่อสินค้าของเรา ดังนั้นการที่จะ  แยกส่วนกระบวนการ Logistics และ Supply Chain ในลักษณะแยกส่วน อาจทำให้ลดศักยภาพในการแข่งขัน จึงต้องมีการจัดการแบบบูรณาการ (Integration) เป็นการจัดการแบบองค์รวม คือมีลักษณะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่จะเข้มขนาดไหนจะให้น้ำหนักของ Logistics น้อยกว่าหรือมากกว่า Supply Chain ย่อมขึ้นกับสถานะภาพและความรุนแรงของการแข่งขันในตลาด หรือลักษณะความพร้อมของแต่ละธุรกิจและความสอดคล้องของการนำ Supply Chain Management (SCM) มาประยุกต์ใช้ในองค์กร  จะเห็นถึงความคล้ายและความแตกต่างของลอจิสติกส์และซัพพลายเชน ซึ่งต่างก็มีกระบวนการซึ่งมีกิจกรรมสนับสนุนซึ่งกันและกัน โดยยากที่จะแยกออกจากกัน

ลอจิสติกส์และซัพพลายเชนต่างมีวัตถุประสงค์ที่แท้จริง (Real Purpose) ดังนี้
1. เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า (Core Competitiveness)
2. เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถทำกำไรได้ดีกว่า (Core Compentency in Profit)
3. เพื่อทำให้องค์กร มีความยั่งยืนและมั่นคง (Sustainable Organization)

            Supply Chain Management : SCM ซึ่งประกอบด้วย กระบวนการต่างๆ ซึ่งขับเคลื่อน โดยต่างมีภาระกิจ (Mission) ที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดก็จะสนับสนุนเป้าหมาย (Objective) ไปในทิศทางเดียวกัน ในอันที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ทั้ง 3 ข้อข้างต้น  การที่จะกำหนดว่าหน่วยงานใดหรือกระบวนการใดจะเป็น Logistics หรือ Supply Chain จึงไม่อาจกำหนดเป็นวิธีการตายตัวได้ เช่น หน่วยงานจัดซื้อและจัดหา บางองค์กรก็เอาไปรวมไว้กับแผนกลอจิสติกส์แต่บางองค์กรก็เรียกหน่วยงานจัดซื้อ “Supply Chain” ขึ้นอยู่กับลักษณะและประเภทของธุรกิจ โดยจากตาราง “ความเป็นบูรณาการของ SCM”  พอจะแยกแยะภาระกิจ (Mission) ของกระบวนการต่างๆใน Supply Chain ออกได้เป็น ดังต่อไปนี้

  1. หน้าที่ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ (Strategy Plan) ในระดับขั้นตอนการวางแผนการตลาด โดยเน้นเป้าหมาย เพื่อให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันที่เหนือกว่า Core Competitive
  2. ภาระกิจในการเติมคำสั่งซื้อ (Full Fill Order) ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกิจกรรมของหน่วยงานบริการลูกค้า (Customers Service) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละธุรกิจ บ้างก็นำหน่วยงานนี้ไปขึ้นอยู่กับการตลาด บ้างก็นำไปไว้กับฝ่ายการผลิต บ้างก็ขึ้นตรงกับแผนก Supply Chain แต่ไม่ว่าจะไปวางไว้ที่หน่วยงานใด เป้าหมายของภาระกิจนี้ก็เพื่อให้เกิดความพอใจของลูกค้า ที่เรียกว่า “Customer Satisfaction”
  3. หน้าที่ในการจัดซื้อจัดหา ซึ่งในการจัดการ Supply Chain (ซึ่งไม่ใช่ เซ็งลี้ เชน) ภาระกิจการจัดซื้อไม่ใช่มุ่งไปสู่การขูดรีด (Exploitation) ให้ได้ราคาที่ต่ำสุด แต่มุ่งที่จะเป็นการทำธุรกิจที่เรียกว่า Win Win Partnership ดังนั้น  ภาระกิจของหน่วยงานจัดซื้อจึงมุ่งไปสู่การจัดการคู่ค้าสัมพันธ์ ที่เรียกว่า SCR : Supplier Relationship Management ทั้งนี้ กิจกรรมของการจัดซื้อ ถือเป็นกิจกรรมในการสร้างพันธมิตรในการร่วมพลังทางธุรกิจ (Business Synergy) โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ธุรกิจต้องมีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ (Competitive Cost)
  4. หน้าที่สำคัญและดูว่าจะโดดเด่นของซัพพลายเชน ก็คือ การจัดการขนส่งทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งก็จะเป็นเรื่องที่สามารถบริหารจัดการได้ แต่ภาระกิจส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นการจัดการต่อปัจจัยภายนอก (External Factor) ซึ่งค่อนข้างจะควบคุมไม่ได้ เนื่องจากการขนส่งจะเป็นการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการจากแหล่งหนึ่ง (First Origin) ไปสู่อีกแหล่งหนึ่ง (Destination Origin) ซึ่งอาจจะอยู่อาณาบริเวณใกล้กันหรือต่างกันคนละมุมโลก ต้องอาศัย Mode การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport : Land , Sea , Rail , Air) รวมถึงต้องมีการผ่านพิธีการศุลกากร ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายข้อห้ามของแต่ละท้องถิ่นหรือแต่ละประเทศรวมถึงภัยธรรมชาติและภัยจากสงครามการก่อการร้าย จะเห็นได้ว่าการขนส่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมของ Logistics ดังนั้นลอจิสติกส์จึงไม่ใช่มีความหมายเฉพาะเป็นกิจกรรมภายในองค์กร อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ดี เป้าหมายของการจัดการขนส่งสมัยใหม่ ก็เน้นไปที่การส่งมอบแบบทันเวลา Just In Time ซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงความเข้มของการส่งมอบสินค้าจะต้องเป็นแบบให้ตรงกับเวลาที่ลูกค้าต้องการ ที่เรียกว่า Real Time
  5. ภาระกิจหลักของกระบวนการจัดการ Supply Chain ก็คือ จะต้องมีการเก็บสต๊อกสินค้า (Stock) ให้น้อยที่สุด หรือในปัจจุบันการจัดการคลังสินค้าสำเร็จรูปนั้นในบางธุรกิจสามารถทำได้ถึง Zero Stock คือ ไม่มีการเก็บสินค้าเลย ทั้งนี้ ก็เพื่อสนองต่อเป้าหมายที่สำคัญ ก็คือ ต้องการให้ธุรกิจมีต้นทุนที่แข่งขันได้ ซึ่งการที่จะทำภาระกิจนี้ให้มีประสิทธิภาพนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการกระจายต้นทุน Cost Sharing ไปสู่บุคคลที่สาม ซึ่งก็หมายถึง Logistics Provider หรือ Outsources
  6. หน้าที่ในการจัดการเพื่อให้เกิดการไหลลื่น (Flow) ทั้งที่เกี่ยวกับสินค้าและข้อมูลข่าวสารภายในองค์กร ซึ่งภาระกิจนี้จะอยู่ในกระบวนการหรือในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสินค้า (Moving) และข้อมูล ซึ่งเป็นกิจกรรมของ Logistics ซึ่งตรงภาระกิจนี้เองทำให้เกิดการสับสนว่า Logistics เป็นกิจกรรมเฉพาะภายในองค์กรและ Supply Chain เป็นกิจกรรมระหว่างองค์กร โดยไปเอากิจกรรมของการเคลื่อนย้ายสินค้าภายในองค์กร ไปรวมกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องระหว่างองค์กร สำหรับเป้าหมายสำคัญของการเคลื่อนย้ายสินค้าและข้อมูลภายในองค์กรนั้น มีเป้าประสงค์ที่สำคัญเพื่อเป็นตัวเชื่อมให้แต่ละกระบวนการใน Supply Chain สามารถเชื่อมต่อกันเป็นโซ่ ที่รู้จักกันในนามโซ่แห่งคุณค่า หรือ Value Chain ซึ่งการที่จะดำเนินการให้ได้ถึงเป้าหมายนี้ จำเป็นจะต้องการจัดการข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ รวมถึง ต้องมีระบบอัตโนมัติเพื่อการจัดการการไหลลื่นของวัตถุดิบ-สินค้า (Flow Automation Systems) ทั้งนี้ในกระบวนการเคลื่อนย้ายสินค้าและข้อมูลข่าวสาร (Moving & Flow) จะมีผลต่อประสิทธิผลของการจัดการซัพพลายเชน เพราะจะเป็นกิจกรรมที่เชื่อมอยู่ตรงรอยต่อของโซ่อุปทาน
  7. หน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเครือข่ายและเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในส่วนการวางแผนการตลาด , การเคลื่อนย้ายสินค้า , การกระจายสินค้าและส่วนงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยทั้งหมดนี้ก็มีเป้าหมายเพื่อความพอใจของลูกค้า (Customers Satisfaction) และให้การจัดองค์กร มีความเป็นบูรณาการทางข้อมูลสารสนเทศ
  8. หน้าที่ในการสร้างความแตกต่างที่เหนือกว่า (Differentiate) เนื่องจากการนำการบริหารจัดการ Supply Chain มาใช้ มีวัตุถประสงค์สำคัญก็เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ทั้งในตัวสินค้าและบริการ ซึ่งภาระกิจนี้จะเป็นกิจกรรมเสริม (Strength Service) ซึ่งจะเป็นกิจกรรมซึ่งจะต้องกระจายไปอยู่แต่ละกระบวนการต่างๆของ Supply Chain แต่จะกระจายไปมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความเข้มข้นและนโยบายของธุรกิจเป็นสำคัญ ซึ่งในการดำเนินธุรกิจในสมัยปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยการแข่งขัน ยากที่จะแยกความแตกต่างของคุณภาพในตัวสินค้าและราคา จึงจำเป็นจะต้องมีการแข่งดี (Benchmarking) เพื่อสร้างจุดแตกต่างออกจากคู่แข่ง ซึ่งก็เป็นเรื่องของการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) นั่นเอง
  9. ภาระกิจที่ถือเป็น Highlight ของซัพพลายเชน ก็คือ ต้องการให้มีการขายซ้ำจากลูกค้า (Repeat Order) ซึ่งจะนำธุรกิจไปสู่การสร้างกำไรแบบยั่งยืน (Sustainable Profit) ซึ่งการที่จะให้ลูกค้าที่เคยสั่งซื้อสินค้าให้กลับมาซื้อสินค้าอย่างสม่ำเสมอในสภาพท่ามกลางการแข่งขัน ทั้งคุณภาพ ราคา และบริการ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ในภาระกิจนี้ก็เพื่อให้ลูกค้ามีการซื้อซ้ำได้นั้น ทุกๆ กิจกรรมของ Supply Chain จะต้องมีการสนองตอบที่ดีจากลูกค้าหรือที่รู้จักกันว่า ECR : Efficient Customer Response ในการจัดการสมัยใหม่จึงได้วางหน้าที่นี้ไว้กับหน่วยงานลูกค้าสัมพันธ์ (CRM : Customers Relationship Management)
  10. หน้าที่ในการวางแผนการตลาด (Marketing Planning) จะเป็นภาระกิจที่อยู่ในกิจกรรมของหน่วยงานคาดคะเนความต้องการของลูกค้า (Demand Forecasting) ซึ่งในบางธุรกิจ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนกการตลาดแต่บ้างก็แยกเป็นหน่วยงานอิสระ ซึ่งเป้าหมายในการวางแผนการตลาดก็คือ ต้องการข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยและรวดเร็ว ซึ่งหากจะสังเกตให้ดีจะเห็นว่าภาระกิจวางแผนการตลาดนี้จะมาเชื่อมกลับกลายเป็นกิจกรรมของหน่วยงานวางแผนการตลาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การปฏิสัมพันธ์ในแต่ละกระบวนการใน Supply Chain จะมีความเป็นบูรณาการเชื่อมต่อกันที่เป็นวงแหวนไม่ใช่ในรูปแบบที่ขนานกับแบบอนุกรม

ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 27-04-2007  

 
หน้าหลัก