บทความเรื่อง :: วิกฤติราคาน้ำมัน ทางออกของประเทศไทยอยู่ตรงไหน แนวโน้มระดับราคาน้ำมันจะไปถึงไหน 2 มิถุนายน 2551
 


บทความพิเศษสายงานโลจิสติกส์

วิกฤติราคาน้ำมัน ทางออกของประเทศไทยอยู่ตรงไหน

โดยธนิต  โสรัตน์

รองประธาน และประธานสายงานโลจิสติกส์

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

2 มิถุนายน 2551

แนวโน้มระดับราคาน้ำมันจะไปถึงไหน

          จากที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบตั้งแต่ช่วงพฤศจิกายน 2550 ถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 6 เดือน ราคาน้ำมันดิบในตลาดเวสต์เท็กซัส ปรับตัวขึ้นถึง 35.78% ดังนั้น ทิศทางของราคาน้ำมันของตลาดโลกคงไปทางขาขึ้น โดยหลายกระแสคาดว่าราคาน้ำมันอาจจะทะลุ 150 ดอลล่าร์ ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จำเป็นที่ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศซึ่งพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศในอัตราที่สูง ขณะที่ต้องนำเข้าน้ำมันกว่าร้อยละ 90 จะต้องมีแผนระดับชาติในการเตรียมรับมือจากวิกฤติราคาน้ำมัน การที่ภาครัฐใช้นโยบายรายวันในการแก้ปัญหา โดยให้ ปตท. เข้าแทรกแซงตลาดหรือการแก้ปัญหาราคาสินค้าแบบ “ธงฟ้า” หรือการกำหนดจุดจอดรถ รวมทั้ง มาตรการกดดันให้โรงกลั่นลดส่วนต่างของโรงกลั่น ซึ่งอาจลดราคาน้ำมันได้ในระดับหนึ่ง อาจช่วยได้ทางจิตวิทยาหรือในระยะเฉพาะหน้า แต่ปัญหาราคาน้ำมันครั้งนี้ ต่างกับที่เกิดในอดีต เพราะเป็นการขึ้นที่รุนแรง มาตรการของภาครัฐจะต้องมีความซับซ้อนในหลายมิติ เพราะประเทศไทยผจญปัญหาน้ำมันแพงแต่ไม่ขาด หากมาตรการต่างๆไปส่งผลต่อปริมาณน้ำมัน ผลกระทบจะหนักกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันปรับตัวสูงมากในขณะนี้ ทำให้ภาคการผลิตและภาคประชาชนรับมือไม่ไหว ปัญหาอาจลุกลามจะกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองต่อไป

            แนวโน้มของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีทิศทางขาขึ้นโดยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.   การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ยังคงมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 3.8% แต่อุปทานน้ำมันดิบทั้งโลกสามารถขยายตัวได้เพียง 1% จากการรายงานของสถาบัน IEA ระบุว่ากำลังการผลิตน้ำมันทั้งโลกสามารถผลิตได้ ประมาณ 87 ล้านบาเรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการมีถึงร้อยละ 88 ล้านบาเรลต่อวัน ทำให้ปริมาณน้ำมันที่จะซัพพลายเข้ามาในตลาดติดลบถึง 1.149%

2.   การเข้ามาเก็งกำไรของกองทุนเฮดฟันด์ ซึ่งเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯและเก็งกำไรในตลาดซื้อ-ขาย ล่วงหน้าน้ำมัน (SPOT) รวมทั้ง การซื้อขายน้ำมันในตลาดจรไม่ว่าตลาดสิงคโปร์ , เวสต์เท็กซัส , เบรนท์ , ดูไบ , โอมาน , ทาปิส เป็นต้น ซึ่งต้องเข้าใจว่ากองทุนเฮดฟันด์ไม่ใช่มีเฉพาะชาติตะวันตก ขณะที่กองทุนในชาติตะวันออก ซึ่งปัจจุบันมีทั้งประเทศในตะวันออกกลาง จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ก็มีกองทุนประเภทนี้อยู่ไม่น้อยกว่า 1.5 - 2.5 ล้านล้านดอลล่าร์

3.   ความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดีเซล ยังมีการตึงตัวอันเกิดจากประเทศนอกกลุ่มโอเปคไม่สามารถเพิ่มการผลิตได้ โดยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (กำมะถัน 0.5%) ในตลาดสิงคโปร์ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ปิดตัวทำสถิติสูงสุดที่ 161.89 ดอลล่าร์ และราคาน้ำมันเบนซิน 95 ปิดตัวที่ 132.04 ทั้งนี้ การที่จะวิเคราะห์ราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินจะต้องดูราคาในตลาดจรเป็นราคา FOB ซึ่งโรงกลั่นและผู้ค้ามักจะไป Bidding Price ที่ตลาดสิงคโปร์

4.   ทิศทางของราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทำ “New Hight” โดยราคาน้ำมันทาปิส จะเป็น Leader Price ที่ราคา 132.29 ดอลล่าร์ (21 พ.ค. 51) ตามมาด้วย West Texas (WT) ราคาอยู่ที่ 129.07 ดอลล่าร์ โดยราคาของ WT ในช่วงพฤศจิกายน 2550 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 95 เหรียญ เฉพาะ 6 เดือน ราคาปรับตัวสูงขึ้นถึง 34 ดอลล่าร์สหรัฐฯ นอกจากนี้อุปสงค์ความต้องการน้ำมันของประเทศกำลังพัฒนาทั้งเอเชีย , ละติน ทั้งนี้ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ยังมีการนำเข้าน้ำมันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเตรียมรับงานโอลิมปิคของจีนในเดือนสิงหาคม 2551 รวมทั้งปัญหาแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของจีน ส่งผลกระทบต่อการขนส่งและการขุดถ่านหินและแก๊ซธรรมชาติ และการพัฒนาเมืองที่เสียหาย ล้วนส่งผลต่ออุปสงค์ในทางบวกของราคาน้ำมันทั้งสิ้น โดยราคาน้ำมันอย่างน้อยความต้องการจะตึงตัวไปจนถึงเดือนสิงหาคม – กันยายน ซึ่งเป็นช่วงสิ้นเทศกาลโอลิมปิคของประเทศจีน

5.   การที่อัตราดอลล่าร์ยังมีการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหา Sub-Prime ซึ่งเดิมคาดว่าจะยุติโดยเร็ว แต่มีการประมาณว่ามาตรการต่างๆของรัฐบาลสหรัฐฯคงจะเห็นผลในช่วงปลายปี 2551 โดยในปีนี้การถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ยังคงมีอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่รุนแรงอย่างที่คาด โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจคาดว่าจะอยู่ในระดับ 0.3 – 1.2% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก

6.   กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ รายงานว่าน้ำมันสำรองลดลงถึง 0.8 ล้านบาเรล ซึ่งจะไปกดดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้น เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน และเป็นฤดูการท่องเที่ยวมีการใช้พลังงานมาก โดยราคาน้ำมันไนแมกซ์ ส่งมอบเดือนกรกฎาคม ไปอยู่ที่ระดับ 135.04 ดอลล่าร์ต่อบาเรล

จากปัจจัยดังกล่าวล้วนเป็นการกดดันต่อทิศทางของการเพิ่มขึ้นของราคา จากการคาดการณ์ของ Goldman Sachs คาดการณ์ว่าจากอุปทานราคาน้ำมันดิบของโลกที่ติดลบและการเข้ามาลงทุนทำกำไรในตลาดจรน้ำมันรวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวจะเป็นแรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินสหรัฐฯ รวมทั้ง ปริมาณน้ำมันดิบที่ซัพพลายเข้าไปในตลาดมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคต ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่จะทำให้ราคาน้ำมันสูงต่อไป แต่จะสูงเท่าใดคงไม่มีใครประมาณการณ์ได้ ซึ่งปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ยุค “Triple Digit Oil Price” โดยคาดว่าราคาน้ำมันในช่วงครึ่งหลังของปี 2551 ราคาน้ำมันอาจสูงขึ้นถึง 141 เหรียญสหรัฐฯ และในช่วงต้นปี 2552 ราคาน้ำมันดิบจะไปอยู่ที่ 148-150 ดอลลาร์ต่อบาเรล

 

 


ไฟล์ประกอบ 163_TNT.pdf


วันที่ 10-06-2008  

 
หน้าหลัก