บทความเรื่อง :: วิกฤติราคาน้ำมัน ทางออกของประเทศไทยอยู่ตรงไหน ผลกระทบที่จะมีต่อภาคการผลิตและประเทศไทย
 


บทความพิเศษสายงานโลจิสติกส์

วิกฤติราคาน้ำมัน ทางออกของประเทศไทยอยู่ตรงไหน

โดยธนิต  โสรัตน์

รองประธาน และประธานสายงานโลจิสติกส์

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

2 มิถุนายน 2551

ผลกระทบที่จะมีต่อภาคการผลิตและประเทศไทย

จากที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบตั้งแต่ช่วงพฤศจิกายน 2550 ถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2551 ซึ่งเป็นระยะเวลาเพียง 6 เดือน ราคาน้ำมันดิบในตลาดเวสต์เท็กซัส ปรับตัวขึ้นถึง 35.78% ดังนั้น ทิศทางของราคาน้ำมันของตลาดโลกคงไปทางขาขึ้น โดยหลายกระแสคาดว่าราคาน้ำมันอาจจะทะลุ 150 ดอลล่าร์ ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า จำเป็นที่ประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศซึ่งพึ่งพิงการค้าระหว่างประเทศในอัตราที่สูง ขณะที่ต้องนำเข้าน้ำมันกว่าร้อยละ 90 จะต้องมีแผนระดับชาติในการเตรียมรับมือจากวิกฤติราคาน้ำมัน การที่ภาครัฐใช้นโยบายรายวันในการแก้ปัญหา โดยให้ ปตท. เข้าแทรกแซงตลาดหรือการแก้ปัญหาราคาสินค้าแบบ “ธงฟ้า” หรือการกำหนดจุดจอดรถ รวมทั้ง มาตรการกดดันให้โรงกลั่นลดส่วนต่างของโรงกลั่น ซึ่งอาจลดราคาน้ำมันได้ในระดับหนึ่ง อาจช่วยได้ทางจิตวิทยาหรือในระยะเฉพาะหน้า แต่ปัญหาราคาน้ำมันครั้งนี้ ต่างกับที่เกิดในอดีต เพราะเป็นการขึ้นที่รุนแรง มาตรการของภาครัฐจะต้องมีความซับซ้อนในหลายมิติ เพราะประเทศไทยผจญปัญหาน้ำมันแพงแต่ไม่ขาด หากมาตรการต่างๆไปส่งผลต่อปริมาณน้ำมัน ผลกระทบจะหนักกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันปรับตัวสูงมากในขณะนี้ ทำให้ภาคการผลิตและภาคประชาชนรับมือไม่ไหว ปัญหาอาจลุกลามจะกลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจและการเมืองต่อไป ผลกระทบในระยะสั้นและกลางที่มีต่อประเทศไทยที่เห็นชัดเจนก็คือต้นทุนวัตถุดิบในภาคการผลิต รวมทั้งภาคเกษตรมีราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากวัตถุดิบนอกเหนือจากที่มีต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น ก็ยังได้รับผลจากต้นทุนโลจิสติกส์ที่มีการปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากค่า Freight  และค่ากระจายสินค้า โดยต้นทุนที่สูงขึ้นผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิตและขนส่งไม่สามารถผลักไปไว้ในราคาสินค้าได้   เนื่องจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงของผู้บริโภคที่มีรายได้สุทธิลดลง จากภาระค่าน้ำมันที่ใช้ในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ขนส่งมวลชนหรือการใช้รถพาหนะส่วนตัว ก็ล้วนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น ดังนั้นการขึ้นราคาของผู้ผลิตก็เป็นการผลักภาระเพียงบางส่วนไปให้ผู้บริโภคเท่านั้น ผู้ผลิตส่วนใหญ่โดยเฉพาะ SMEs ก็ยังต้องซัฟเฟอร์รับส่วนต่างของต้นทุน ซึ่งส่วนใหญ่ขณะนี้เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง เห็นได้จาก NPL ที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ ปัญหาราคาน้ำมันซึ่งลุกลามกลายเป็นวิกฤติราคาน้ำมัน ส่งผลต่อเงินเฟ้อของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม ขึ้นถึงร้อยละ 7.6 ซึ่งสูงกว่าประเทศสิงคโปร์ซึ่งเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 6.7 แต่ก็ยังน้อยกว่าประเทศจีน ซึ่งเงินเฟ้ออยู่ที่ 8.5 ,อินโดนีเซียร้อยละ 9 ,ฟิลิปปินส์ร้อยละ 8.3 ,อินเดียร้อยละ 7.4 เงินเฟ้อของไทยในฐานะเป็นผู้ผลิตอาหาร ถือว่าสูงมาก เพราะในกลางปี 2550 เงินเฟ้อของเราอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ถึง 2.2 เท่านั้น โดยเงินเฟ้อของไทยที่เพิ่มขึ้นสูงขณะนี้มีความน่าเป็นห่วง เพราะทำให้สัดส่วนเงินฝากต่อเงินเฟ้อติดลบถึง 5.94% หากราคาน้ำมันยังขยับไปในอัตรานี้ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3 ไปถึงร้อยละ 8  นอกจากนี้ปัจจัยการขาดดุลการค้า ซึ่งในช่วงแค่เพียง 4 เดือนแรกของปีนี้ก็ขาดดุลไปถึง 2,989.9 ล้านดอลล่าร์ และมีแนวโน้มว่าเงินดุลเดินสะพัดอาจติดลบจะเกิดปัญหาขาดดุลแฝดหรือ Twin Deposit ก็จะไปกดดันการอ่อนค่าของเงินบาท หลายคนเริ่มวิตกว่าประเทศไทยอาจเข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจชงักงัน (Stagflation) แต่ผู้เขียนยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ไปถึงขั้นนั้น เนื่องจากไทยเป็นเมืองเกษตร โดยมีเกษตรกรกว่า 40% และราคาผลิตภัณฑ์เกษตรยังไปได้ดี ทำให้ยังมีแรงซื้อทำให้ตัวเลขการผลิตยังไม่ลดมากนัก แต่ภาคเอกชนยังคงมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2551 ปรับตัวอยู่ที่ 78.8 เป็นการปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม 2551 ที่ระดับ 83.2 ซึ่งเป็นผลจากความไม่เชื่อมั่นด้านราคาน้ำมันที่ไปกดดันค่าขนส่งและต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้น ทั้งนี้ หากในช่วงไตรมาสที่ 3 ถึงไตรมาสที่ 4 หากราคาน้ำมันปรับสูงไปกว่านี้ก็จะมีผลกระทบที่รุนแรง

ดังนั้น การแก้ปัญหาน้ำมัน จะต้องมองว่าเป็นวิกฤติราคาน้ำมัน รัฐบาลต้องชัดเจนเกี่ยวกับพลังงานทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น BIO หรือเอทานอล จะต้องมีการพัฒนาอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันพลังงานทางเลือกของไทยมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ในด้านผลกระทบต่อราคาเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าในระยะสั้น อาจยังไม่เห็นผลชัดเจนเพราะยังโชคดีที่สินค้าเกษตรไทยส่วนใหญ่ราคาดี แต่ในไตรมาสที่ 4 หากราคาน้ำมันไปถึง 150 ดอลล่าร์และเงินเฟ้อไปถึงร้อยละ 8 บวกกับสถานการณ์ที่เปราะบางทางการเมืองและการที่ไม่มีนโยบายการรับมือราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่ชัดเจน อาจส่งผลต่อการชงักงันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหากปัญหาซัพไพร์ม ซึ่งมองดูว่ามีความคลี่คลายหรือไม่รุนแรง ขยายผลมากอย่างที่คิด แต่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2551 ทางธนาคารกลางสหรัฐหรือ FED ก็ยังคงปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐลงอีกจนเหลือเพียงร้อยละ 1.2 จากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 และปรับเหลือร้อยละ 2.0  นอกจากนี้ การที่การซื้อและการผลิตชงักงันจะส่งผลต่อปัญหาด้านแรงงาน เพราะทุกครั้งในอดีตที่มี “Oil Crisis” ก็จะมีผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า Economic After Shock ส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจประชาชนและการเมืองอย่างรุนแรง

 

 

**************************


ไฟล์ประกอบ 159_TNT.pdf


วันที่ 04-06-2008  

 
หน้าหลัก