บทความเรื่อง :: วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำเดือนกันยายน 2550
 


ธนิต โสรัตน์

รองเลขาธิการ สายงานเศรษฐกิจ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

21 กันยายน 2550

สรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนสิงหาคม 2550

          สถานะเศรษฐกิจไทยในเดือนสิงหาคมค่อนข้างไปในทิศทางชะลอตัวมากกว่าที่ประมาณการณ์ ว่าหลังจากการลงประชามติ ความเชื่อมั่นทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนน่าจะกลับคืนมา แต่ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนกลับขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 0.8% โดยดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจยังคงปรับตัวลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อว่าหลังจากการเลือกตั้งรัฐบาลผสมคงมีหลายพรรค และการเมืองจะไม่มีเสถียรภาพทำให้การลงทุนมีการชะลอตัวเพื่อรอดูนโยบายและทิศทางการเมือง เหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เศรษฐกิจในช่วงนี้มีความไม่แน่นอนเห็นได้จากการส่งออก ซึ่งเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวที่เติบโตลดลงจากในช่วงครึ่งปีแรกที่เฉลี่ยร้อยละ 18.3 โดยการส่งออกในเดือนกรกฎาคม ขยายตัวร้อยละ 5.9 แต่ในเดือนสิงหาคม ตัวเลขของกรมศุลกากรขยายตัว 6.1 แต่ตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์ออกมาแก้ไขใหม่เป็น 17.9% ทำให้ 8 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกขยายตัว 16.9% คิดมูลค่า 97,321.0 ล้าน USD และการนำเข้าขยายตัว 6.3% มีมูลค่า 90,833.6 ล้าน USD ทำให้เกินดุลการค้า 6,487.5 ล้าน USD (ขณะที่เขียนวิเคราะห์บทความนี้ยังไม่ทราบตัวเลขที่แท้จริงของการส่งออกเดือนสิงหาคมว่าเป็นเท่าใดแน่) สำหรับช่วงเดือนสิงหาคม หนี้ที่ไม่ส่งผลต่อรายได้เริ่มส่งสัญญาณต่อ NPL ที่เพิ่มสูงขึ้น คิดเป็นร้อยละ 4.4 จากเดิมที่ในไตรมาสแรก NPL ทั้งระบบอยู่ที่ร้อยละ 4.18 ของสินเชื่อรวม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ถึงแม้ว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับร้อยละ 1.6 แต่ก็มีข้อสังเกตว่าเริ่มมีความเสี่ยงต่อการว่างงานมากขึ้น โดยเฉพาะในสาขาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับ สัดส่วนของผู้สมัครงานใหม่ต่อจำนวนการบรรจุงานที่ค่อนข้างทรงตัว อย่างไรก็ตาม คาดว่าในไตรมาสที่ 3 การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะเป็นประมาณร้อยละ 4.5 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมจะขยายตัวร้อยละ 5.6

 

ปัจจัยที่มีผลต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศในช่วงนี้ ประกอบด้วย

ภาคการส่งออก

          เศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมาถูกขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออก ภายใต้สถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงครึ่งปีแรก ยังคงทำให้การเติบโตอยู่ในระดับที่สูง ทำให้ผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศในอัตราสูง (Local Content) ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนเนื่องจากเป็นออเดอร์ที่รับมาล่วงหน้า บางโรงงานขาดสภาพคล่องและหลายโรงงานมีการปิดตัวไป โดยการส่งออกของไทยในช่วงเดือนกรกฎาคม มีการชะลอตัวลงเหลือ 5.9% แต่ภาพรวมการส่งออก 8 เดือนแรก สามารถขยายตัวได้ดีถึง 16.9% โดยเป็นการขยายตัวในเชิงเงินบาท 5.14% โดยคาดว่าการส่งออกเฉลี่ยใน 3 เดือนสุดท้ายของปี ก็น่าจะไม่เกินร้อยละ 8 – 10 ทำให้การส่งออกทั้งปี จะมีการขยายตัวไม่เกินร้อยละ 13.0 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 144.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปีแรกที่การส่งออกของไทยหดตัวเหลือร้อยละ 60.37 ต่อ GDP (ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยเป็นร้อยละ 65 ของ GDP)

 

ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการส่งออกของไทยประกอบด้วย

1.   ผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยของเฟด (FED) เมื่อวันที่ 19 กันยายน ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.5 จากร้อยละ 5.25 เหลือร้อยละ 4.75 ถือเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยขั้นรุนแรงที่สุดในรอบหลายปี โดยนัยเป็นการแก้ปัญหาระบบซัพไพร์ม ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งด้านการบริโภคและอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯมีการตกต่ำมากที่สุด โดย FED หวังว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ  ซึ่งจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีเงินไหลออกมาทำ Carry Trade เข้ามาในตลาดหุ้นและตลาดเงินของไทย และจะทำให้ในการเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาทอีกครั้งหนึ่ง

2.   ปัจจัยเกี่ยวกับซัพไพร์ม เนื่องจากตลาดสหรัฐฯ เป็นร้อยละ 15 ของการส่งออก และเป็นตลาดส่งออกทางอ้อมผ่านประเทศจีนและหลายๆประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นซัพพลายเชน ผลกระทบของซัพไพร์ม จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาชะลอตัว โดย GDP ของสหรัฐที่ลดลง 1% จะมีผลกระทบต่อ GDP ของไทยประมาณ 0.8% จึงมีผลโดยตรงต่อภาคการผลิตของไทยและเศรษฐกิจโลก จำเป็นที่จะต้องมีการติดตามถึงผลกระทบและมีมาตรการต่างๆ ในการรองรับเนื่องจากการลดดอกเบี้ยของ FED ซึ่งนายเบน เบอร์นันเก้ ประธาน FED ก็ออกมากล่าวว่า อาจจะมีมาตรการปรับดอกเบี้ยในครั้งต่อไป อีกประมาณ 0.25% ในเดือนตุลาคม ศก.นี้ โดยตลาดสหรัฐฯในช่วง 7 เดือนแรก ตัวเลขลดลงเหลือเพียงร้อยละ 12.95 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่มีต่อการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน

3.   สถานการณ์ของค่าเงินบาทมีความเปราะบาง ค่าเงินบาทของไทยที่ผ่านมาได้รับผลทางบวกจากปัญหาซัพไพร์ม ของสหรัฐฯ ทำให้มีเงินทุนไหลกลับ ส่งผลให้เงินบาทในช่วงเดือนกันยายนค่อนข้างมีเสถียรภาพแต่ไปในลักษณะที่ค่อนข้างแข็งค่า เฉลี่ยที่ 34.26 บาท ต่อ USD หรือแข็งค่าคิดเป็นร้อยละ 4.93 เมื่อเทียบกับค่าเงินบาทในช่วงต้นปี (อัตราซื้อเฉลี่ยตั๋วเงินของวันที่ 18 กันยายน อยู่ที่ 34.0529 บาทต่อ USD) อย่างไรก็ดี  ธปท. ออกมาแจ้งว่า อัตราดอกเบี้ยของไทย พิจารณาจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลักไม่จำเป็นที่ ธปท. จะต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม FED เพราะขณะนี้ดอกเบี้ย RP ของไทยอยู่ที่ร้อยละ 3.25  ทั้งนี้ เศรษฐกิจของไทยเป็นระบบเปิด ธปท. จึงควรจะมีมาตรการที่ยืดหยุ่น เพราะการแข็งค่าของเงินบาท เป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะที่ผ่านมาผู้ส่งออกบอบช้ำมากเกินกว่าที่จะรับได้อยู่แล้ว ดังนั้น หากเงินบาทมีทิศทางที่แข็งค่าและผันผวน ธปท. จะต้องมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมาแก้ไข เพราะการส่งออกเป็นปัจจัยเดียวในขณะนี้ที่พยุงเศรษฐกิจของประเทศ

4.   มาตรการการแทรกแซงค่าเงินบาทของ ธปท. ไม่ให้มีการผันผวน ต้องยอมรับว่าค่าเงินของภูมิภาคมีการแข็งค่าไปตาม Demand – Supply ของเงิน USD เพียงแต่ประเด็นว่าเครื่องมือในการลดความผันผวนของประเทศเพื่อนบ้านของไทยมีความคล่องตัวกว่า เช่น กรณีของเงินริงกิตมาเลเซีย มีการแข็งค่าเพียง 2-3% เพราะทางมาเลเซีย ได้ใช้เงินเข้าไปซื้อดอลล่าร์มากถึง 30,000 ล้าน USD ในขณะที่ประเทศไทยปี 2549 ก็ได้ใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศไปถึง 18,000 ล้าน USD และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2550 ก็ใช้เงินไปอีก 8,000 ล้าน USD ในการแทรกแซงไม่ให้เงินบาทแข็งค่ากว่าที่เป็นอยู่ การที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับการขาดทุนของ ธปท. ในการเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาท จำเป็นที่จะต้องเร่งออกกฎหมาย เพื่อให้ทาง ธปท. มีความคล่องตัวต่อการแก้ไขปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต โดยเฉพาะคาดว่าในปี 2551 ปัจจัยจากการถดถอยของตลาดสหรัฐจะเป็นตัวเร่งให้เงินดอลล่าร์มีการอ่อนค่าลงไปมากกว่านี้ และเงินบาท อาจมีการแข็งค่าไปกว่าอัตราปัจจุบัน

 

ปัจจัยการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทย

          เศรษฐกิจของไทยที่ยังขับเคลื่อนได้ในขณะนี้นอกเหนือจากการส่งออกแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของการใช้จ่ายของรัฐบาล (G) ซึ่งคาดว่าเมื่อสิ้นเดือนกันยายน จะสามารถใช้จ่ายได้ร้อยละ 93 ของงบประมาณจำนวน 1,306,842.9 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการบริโภค โดยคาดว่าจากความเชื่อมั่นทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนซึ่งยังไม่ดีจะส่งผลต่อการชะลอตัวการบริโภคจะยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ถึงแม้ว่าจะได้รับผลดีต่อการใช้เงินในช่วงการเลือกตั้งบ้าง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของ สอท. เดือนสิงหาคม มีการปรับตัวที่ระดับ 76.0 เป็นการปรับตัวในทางบวกเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคมที่ระดับ 72.7 โดยคาดว่าปีนี้การขยายตัวภาคอุตสาหกรรม อาจขยายได้เพียง 6% จากเป้าที่ตั้งไว้ 6.5% ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภครวมทั้งปี ของภาคเอกชน (C) จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.7 และเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐขยายตัวร้อยละ 7.8 ทำให้การบริโภครวมสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 2.6 ซึ่งถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับการขยายตัวในปี 2549 ที่ร้อยละ 3.2 , ปี 2548 ร้อยละ 5.5 และปี 2547 ร้อยละ 6.1 อันเป็นผลมาจากการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้ง สถานการณ์ด้านความมั่นคงใน 3 จังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้การลงทุนของภาคเอกชนจะมีการหดตัวลงไปอย่างมาก

จากตัวเลขของ สศช. ได้กล่าวถึงการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรก การลงทุนของเอกชน (I) ที่เป็นเม็ดเงินจริงลดลงร้อยละ 1.5 แต่อย่างไรก็ตามวงเงินลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงเดือนมกราคม ถึง กรกฎาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท ยังไม่รวมโครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และโครงการเมกะโปรเจค อีกประมาณ 6 แสนล้านบาท เป็นสัญญาณที่ดีว่าการลงทุนน่าจะกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2551 โดยคาดว่าการลงทุนในภาคเอกชนทั้งปีนี้ จะขยายตัวได้ร้อยละ 1.0 ซึ่งถือว่าต่ำสุดเมื่อเทียบกับปี 2549 ร้อยละ 3.9 , ปี 2548 ร้อยละ 10.9 และปี 2547 ร้อยละ 16.2 ดังนั้นการที่เงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำที่ร้อยละ 2.0-2.5 จึงไม่ใช่เรื่องที่ประหลาดใจ

 

เปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยและแนวโน้มปี 2550

 

 

ข้อมูลจริง

ประมาณการ

2547

2548

2549

2550

GDP (ณ ราคาประจำปี : พันล้านบาท)

6,489.8

7,087.7

7,813.1

8,399.0

อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %)

6.3

4.5

5.0

4.0-4.5

การลงทุนรวม ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)

16.2

10.9

3.9

1.0

การลงทุนรวม ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %)

5.0

11.3

4.5

3.0

การบริโภครวม ภาคเอกชน

6.2

4.3

3.1

1.7

มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้าน USD)

94.9

109.2

128.2

144.9

อัตราการขยายตัว (%)

21.6

15.0

17.4

13.0

อัตราการขยายตัว (ปริมาณ,%)

8.4

4.3

9.0

8.5

มูลค่าการนำเข้าสินค้า (พันล้าน USD)

93.5

117.7

126.0

135.4

อัตราการขยายตัว (%)

25.7

25.9

7.0

7.5

อัตราการขยายตัว (ปริมาณ,%)

12.3

8.9

-0.8

3.0

เงินเฟ้อ (%)

2.7

4.5

4.7

2.0-2.5

 

ที่มา : สศช, 3 กันยายน 2550

 

ปัจจัยเสี่ยงซึ่งมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2551

          ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ได้ประเมินเศรษฐกิจของไทยว่าในปี 2550 เศรษฐกิจของไทยจะเติบโตได้ไม่เกินร้อยละ 4.0-4.20 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งปีนี้คาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ 8.3 โดยการเติบโตของประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับรั้งท้าย กว่าอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่มีการเติบโตเพิ่มมากขึ้น กว่าที่ ADB คาดไว้  โดย ADB คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยว่าในปี 2551 จะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 5.0 อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของ สศช. และ ธปท. ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจของไทยในปี 2550 จะเติบโต 4.0-4.5 (ไตรมาสแรกโต 4.2% , ไตรมาสที่ 2 โต 4.4%) และในปี 2551 เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 4.5% – 6.0%

ประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องนำมาวิเคราะห์ถึงอนาคตเศรษฐกิจไทย ประกอบด้วย

1.   เศรษฐกิจโลกจะมีการชะลอตัว จะเป็นปัจจัยที่จะฉุดเศรษฐกิจของไทย ซึ่งภาคการค้าระหว่างประเทศอยู่ใน GDP ถึงร้อยละ 116 อนาคตของเศรษฐกิจไทยจึงผูกพันกับขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยการเตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีการชะลอตัวลง โดยดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวเพียงร้อยละ 4.1

2.   ความกังวลกับปัญหาซัพไพร์มของสหรัฐฯ ว่าจะมีการขยายตัวต่อการบริโภคของประชาชนสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของประเทศต่างๆที่ลดลงและเป็นปัจจัยต่อการแข่งขันด้านราคา ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยที่อาจมีการชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีจนไปถึงปี 2551

3.   ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและระบบการเงินของโลก อันเกิดจากการอ่อนค่าของเงิน USD อาจจะทำให้มีการ Carry Trade โดยมีเงินสกุลแข็ง Inflow ไหลเข้าและออกมาทำกำไรในค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทของไทยมีการแข็งค่าและมีความผันผวนส่งผลกระทบต่อการส่งออกมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ควรจะมีเครื่องมือ Financial Tool ใหม่ๆ ในการเพิ่มความยืดหยุ่นให้ได้มากกว่าที่เป็นอยู่

4.   ประเด็นปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลชุดใหม่และภาคการเมืองที่ไม่นิ่ง จะส่งผลต่อความไม่ต่อเนื่องของนโยบายของรัฐบาลใหม่ เช่น การเร่งรัดโครงการเมกกะโปรเจกต่างๆ ได้แก่ รถไฟฟ้า , โครงการขยายนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โครงการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ , มาตรการลดความผันผวนของค่าเงินบาท รวมทั้งมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งได้ทำร่วมกับภาคเอกชนอาจมีการหยุดชะงัก โดยหลายโครงการยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ขณะที่เวลาของรัฐบาลชุดปัจจุบันเหลือเพียงอีก 3 เดือน จะไม่เหลือเวลามากนักในการแก้ปัญหาซึ่งเป็นเศรษฐกิจระยะยาว                   

5.   เกี่ยวกับปัญหาราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบส่งมอบเดือน ตุลาคม 2550 ปรับตัวมาอยู่ที่ระดับกว่า 74 USD ต่อบาเรล และน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์กปรับราคาเป็น 81.93 USD ต่อบาเรล โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลซึ่งเป็นปัจจัยต่อต้นทุนโลจิสติกส์ได้ปรับราคามาอยู่ที่ 92.62 USD ต่อบาเรล หากเป็นการปรับตัวระยะสั้นก็ไม่น่ามีปัญหามาก แต่หากเป็นระยะยาวจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคที่จะลดลง และส่งผลกระทบต่อกรอบพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

     ทั้งหมดนี้ จะเป็นปัจจัยต่อการชะลอตัวและการผันผวนต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 3 เดือนหลังของปีจนไปถึงปีหน้า โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับความเชื่อมั่นทางการเมืองและนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาลชุดใหม่ต่อการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นปัญหาที่ท้าทายเพื่อรอรับการแก้ไขจากรัฐบาลที่จะมาจากภายหลังการเลือกตั้งในปี 2551..

 


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 24-09-2007  

 
หน้าหลัก