บทความเรื่อง :: Managing Inventory การจัดการสินค้าคงคลัง
 


โดยธนิต  โสรัตน์
ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP


    การจัดการสินค้าคงคลังเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการถือครองสินค้า ซึ่งเป็นต้นทุนประมาณร้อยละ 47 ของต้นทุนโลจิสติกส์ทั้งหมด คลังสินค้าจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของการจัดการโลจิสติกส์ที่เป็นที่รู้จักรองจากกิจกรรมด้านการขนส่ง โดยภารกิจและบทบาทหน้าที่ของคลังสินค้าเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ (Space Utility) ต่อต้นทุนรวม บทบาทของสินค้าคงคลังจึงมีผลต่อผลกำไรและขาดทุนของธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วัตถุประสงค์หลักของการจัดการโซ่อุปทานโลจิสติกส์ก็เพื่อการลดต้นทุนการถือครองสินค้าให้มากที่สุด ซึ่งเป้าหมายของทุกธุรกิจก็ล้วนต้องการลดต้นทุนในการถือครองสินค้าภายใต้การคงประสิทธิภาพต่อการส่งมอบแบบทันเวลา โดยการขจัดกิจกรรมต่างๆซึ่งไม่มีมูลค่าเพิ่มและส่งผลต่อการงอกเงยและการเพิ่มของสินค้าคงคลัง ทั้งนี้ปรัชญาของการบริหารจัดการคลังสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ก็คือมีสินค้าให้เก็บน้อยที่สุด หรือไม่มีสินค้าให้เก็บ  ก็เนื่องจากสินค้าคงคลังถือเป็นต้นทุนที่สำคัญทั้งในด้านต้นทุนเงินทุน , ต้นทุนค่าเสียโอกาส , ต้นทุนในการดูแลสินค้า , ต้นทุนพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้า รวมทั้งต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบริหารคลังสินค้า เช่น  ดอกเบี้ย , เงินทุนหมุนเวียน ,ค่าเสื่อมราคา , ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเกิดจากการเก็บและถือครองสินค้า-วัตถุดิบ โดยภารกิจหลักของคลังสินค้า จะทำหน้าที่ในฐานะเป็นสถานที่ในการเก็บรักษาสินค้า หรือวัตถุดิบ คลังสินค้าจึงเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งด้าน Demand และ Supply เกี่ยวข้องกับการถือครองสินค้า (Inventory Carrying) บทบาทหน้าที่สำคัญของคลังสินค้าจะช่วยลดระยะเวลาในการส่งมอบสินค้า (Lead Time) และหรือการรอระยะเวลาในการผลิตสินค้า คลังสินค้าเป็นกิจกรรมที่สำคัญในระบบโลจิสติกส์ในฐานะเป็นกระบวนการในการจัดการความสมดุลของเวลาและระยะทางกับความต้องการ
อย่างไรก็ดี ในระบบการผลิตแบบดั้งเดิมจะเน้นบทบาทของคลังสินค้า ด้วยการเก็บวัตถุดิบ - สินค้าจำนวนมากไว้ในคลังสินค้าเพื่อพร้อมจะผลิตและส่งมอบให้ได้อย่างทันเวลา ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง โดยประสิทธิภาพของการบริหารจัดการคลังสินค้ามักมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับสภาพคล่องทางธุรกิจ คือ ยิ่งปริมาณสินค้าคงคลังสูง สภาพคล่องของบริษัทฯมักจะต่ำ สินค้าคงคลังที่มีปริมาณสูงมากเพียงใด ก็จะมีส่วนสำคัญต่อผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น การจัดการคลังสินค้ายุคใหม่จึงเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการความสัมพันธ์ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงกับปริมาณสินค้าที่จะเก็บในคลัง เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อความพึงพอใจของลูกค้าที่จะมีต่อการส่งมอบสินค้าที่เป็นไปตามเงื่อนไข ที่ได้มีการตกลงทั้งด้านเวลา และปริมาณสินค้า ภายใต้ข้อจำกัดทั้งด้านการเงินและของระยะเวลาขนส่งที่ไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งที่ควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในการจะมีสินค้าคงคลัง เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ที่จะมีในอนาคต อันเกิดจากความไม่แน่นอนของการส่งมอบสินค้า


     จากบริบทที่กล่าวถึงข้างต้น จะเห็นได้ว่าต้นทุนหลักของการจัดการโลจิสติกส์ จะเกี่ยวข้องกับสินค้าคงคลัง ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนคลังสินค้า (Warehouse Cost) และปัจจัยค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสินค้า (Inventory Carrying Cost) โดยต้นทุนทั้งสองค่อนข้างมีตัวเลขที่ใกล้เคียงกันและมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ สินค้าคงคลังสูงก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการจัดการคลังสินค้า ก็จะสูงตามไปด้วย โดยปัจจัยทั้งสองมีความหมายที่ใกล้เคียงกันแต่มีความต่างกัน โดยที่การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) เป็นการจัดการเกี่ยวข้องกับการไหลลื่นของสินค้าและวัตถุดิบ ให้มีปริมาณภายใต้ความสมดุลทั้งอุปสงค์และอุปทาน สามารถสนองตอบต่อการผลิตอย่างต่อเนื่อง สนองตอบต่อกิจกรรมทางการตลาด เพื่อส่งมอบสินค้าตามเงื่อนไขทั้งเวลาและปริมาณ (Time & Quantity Utility) ภายใต้ต้นทุนที่แข่งขันได้ และความพึงพอใจของลูกค้า สำหรับการจัดการคลังสินค้า (Warehouse Management) จะเกี่ยวข้องกับการควบคุมวัสดุ สิ่งของ สินค้าและวัตถุดิบ การรับ การเก็บรักษา และการส่งมอบ ทั้งภายในองค์กรและระหว่างองค์กรในโซ่อุปทานโลจิสติกส์ การจัดการคลังสินค้าจึงมุ่งเน้นที่ตัวโครงสร้างพื้นฐาน ขีดความสามารถ การออกแบบทั้งตัวอาคารและระบบการจัดการเพื่อให้สินค้าสามารถเคลื่อนย้ายอย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมหลักของการเคลื่อนย้ายสินค้าจะเกี่ยวข้องกับการจัดการที่เกี่ยวข้องกับอรรถประโยชน์เชิงพื้นที่ (Place Utility) การสนองตอบด้านปริมาณของสินค้าและวัตถุดิบที่จะเก็บ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการแบบฟอร์มการรับและเบิกสินค้า รวมทั้งการควบคุมปริมาณสินค้าซึ่งอยู่ในคลังที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบที่เป็นเอกสาร (Form Utility) และเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ การบริหารจัดการโซ่อุปทานโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศเพียงใดแต่ในสภาวะที่เป็นจริง ธุรกิจก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีสินค้าคงคลัง ประเด็นก็คือ ควรจะมีในปริมาณที่เท่าใดจึงจะเหมาะสม ภายใต้ความสมดุลของสินค้าที่เก็บ ให้มีจำนวนซึ่งเกิดความประหยัดสูงสุด แต่ยังคงขีดความสามารถสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าแบบ Just in Time


   การจัดการสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพเกี่ยวข้องกับการจัดการเงินวัฏจักรของทุนหมุนเวียน ที่เป็น Working Capital Cycle เนื่องจากส่วนใหญ่แล้วสินค้าคงคลังเป็น 1/3 ของเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ โดยสินค้าคงคลังในลักษณะที่เรียกว่า Dead Stock ก็จะส่งผลต่อสภาพคล่องทางธุรกิจ ที่เรียกว่า Dead Money การนำการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมาประยุกต์ใช้ ในภาคการผลิตจะต้องเริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายในการลดสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบ เพราะเป็นปัจจัยภายในที่ควบคุมได้ โดยจะต้องมีแนวคิดเกี่ยวกับสินค้าคงคลังอยู่ในหมวดของค่าใช้จ่าย (Expense) ไม่ใช่เป็นทรัพย์สินหมุนเวียน (Current Asset) ซึ่งเป็นหลักการทางบัญชี ธุรกิจที่มีการจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะเน้นต่อการลดต้นทุนด้วยการถือครองสินค้าและวัตถุดิบให้น้อยที่สุด คือ ซื้อเมื่อจะผลิตและจะผลิตต่อเมื่อมีแผนการส่งมอบสินค้า โดยปรับเปลี่ยนการจัดซื้อเป็น Stockless Purchasing และเปลี่ยนระบบการผลิตเป็น Make to Order Production


  อย่างไรก็ตาม แต่ละธุรกิจหรือสินค้าบางประเภทอาจจะยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องมีสินค้าคงคลังสำหรับช่วยปกป้องความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากความผันแปรต่างๆ ที่เกิดจากการแปรปรวนของความต้องการของลูกค้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการแข่งขันหรือสินค้าซึ่งมีในบางฤดูกาล อีกทั้ง ในบางกรณีซพพลายเออร์คู่ค้า และลูกค้าที่อยู่ในโซ่อุปทาน ล้วนแต่อยู่ห่างกันคนละซีกโลก ทำให้เกิดความจำเป็นในการถือครองสินค้าคงคลังที่ต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้สามารถสนองตอบต่ออรรถประโยชน์ทั้งเชิงเวลาและระยะทาง ปัจจัยสำคัญจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการความพอเหมาะพอดีของสินค้าคงคลังกับต้นทุนโลจิสติกส์ การจะลดต้นทุนจากสินค้าคงคลังอย่างมีประสิทธิภาพ จึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์และความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสัดส่วนของระยะทางกับระยะเวลารอรับสินค้า (Distance & Lead Time Utility) โดยเฉพาะต้นทุนในการเก็บและรักษาสินค้า ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนหลักที่สำคัญ ประการแรก ต้นทุนเงินทุน (Capital Cost) ประการที่สอง ต้นทุนในการดูแลสินค้า ประการที่สาม ต้นทุนจากความเสี่ยงในการจัดเก็บสินค้า ประการที่สี่ ต้นทุนจากพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน ประการที่ห้า ต้นทุนจากการเสียโอกาส ดังนั้น การบริหารความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานต่อปริมาณสินค้าคงคลัง จะเป็นปัจจัยต่อการวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของกระบวนการการจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ โดยการจัดการสินค้าคงคลังที่มีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อต้นทุนและต่อศักยภาพของการแข่งขันในธุรกิจซึ่งสามารถวัดได้จากอัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงคลัง ซึ่งเกิดจากสัดส่วนของต้นทุนขายกับสินค้าคงคลังเฉลี่ย ซึ่งวิธีการในการที่จะลดสินค้าคงคลังเป็นสิ่งที่ยากต่อการนำไปปฏิบัติ เนื่องจากแต่ละธุรกิจก็จะมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ไม่มีสูตรสำเร็จและไม่มีตำราใดทั้งของฝรั่งหรือไทยที่จะเป็นยาวิเศษแก้ได้ ขึ้นอยู่กับทักษะและการประยุกต์แนวคิดทางวิชาการให้สอดคล้องกับแต่ละธุรกิจ วิธีการในการดำเนินการลดต้นทุนด้วยการลดปริมาณสินค้าคงคลัง จำเป็นต้องใช้ศาสตร์ทางโลจิสติกส์ เช่น EOQ , Kanban Systems , Lean Pull ฯลฯ โดยการนำมาผสมผสานเพื่อให้เกิดประสิทธิผลต่อการลดลงของสินค้าคงคลัง แต่ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพต่อการผลิตและการสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้า


*******************


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 22-06-2007  

 
หน้าหลัก