บทความเรื่อง :: The Role of Warehouse Management
 


โดย ธนิต  โสรัตน์
ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP


    เป้าหมายที่สำคัญของคลังสินค้า จะทำหน้าที่ในฐานะเป็นสถานที่ในการเก็บรักษาสินค้า หรือวัตถุดิบ คลังสินค้าจึงเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งด้าน Demand และ Supply เกี่ยวข้องกับการถือครองสินค้า (Inventory Carrying) บทบาทหน้าที่สำคัญของคลังสินค้าจะช่วยลดระยะเวลาในการส่งมอบสินค้า (Lead Time) และช่วยลดระยะเวลาในการส่งมอบสินค้าอันเนื่องมาจากต้องรอการสั่งซื้อวัตถุดิบและหรือการรอระยะเวลาในการผลิตสินค้า คลังสินค้าเป็นกิจกรรมที่สำคัญในระบบโลจิสติกส์ในฐานะเป็นกระบวนการในการจัดการความสมดุลของเวลาและระยะทาง (Time & Distance) กับความต้องการ (Demand) ในระบบการผลิตแบบดั้’เดิมแก้ปัญหาการส่งมอบแบบ Just in Time โดยเน้นบทบาทของคลังสินค้า ด้วยการเก็บวัตถุดิบ - สินค้าจำนวนมากไว้ในคลังสินค้าเพื่อพร้อมจะผลิตและส่งมอบให้ได้อย่างทันเวลา ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง โดยคลังสินค้าที่ได้มีการพัฒนาต่อยอดไปสู่ศูนย์กระจายสินค้าเป็นลักษณะ Customer Area Base จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการส่งมอบสินค้าทันเวลา ที่เรียกว่า “Next Day Delivery” เนื่องจากบทบาทหน้าที่ของ Warehouse จะเกี่ยวข้องกับสินค้าคงคลัง ซึ่งเกี่ยวข้องกับต้นทุนทางด้านเงินทุนหมุนเวียน


     ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการคลังสินค้ามักมีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับสภาพคล่องทางธุรกิจ แต่จะสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับ Return of Investment โดยสินค้าคงคลังที่มีปริมาณสูงมากเพียงใด ก็จะมีส่วนสำคัญต่อผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น การจัดการคลังสินค้าจึงเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการจัดการความสัมพันธ์ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงกับปริมาณสินค้าที่จะเก็บในคลัง เพื่อสนองตอบต่อความพึงพอใจของลูกค้าที่จะมีต่อการส่งมอบสินค้าที่เป็นไปตามเงื่อนไข ที่ได้มีการตกลงทั้งด้านเวลา และปริมาณสินค้า ภายใต้ข้อจำกัดทั้งด้านการเงินและของระยะเวลาขนส่งที่ไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ทั้งที่ควบคุมได้และไม่สามารถควบคุมได้ อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในการจะมีสินค้าคงคลัง เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ที่จะมีในอนาคต อันเกิดจากความไม่แน่นอนของการส่งมอบสินค้า วัตถุดิบ หรือสินค้ารูปแบบใด  คลังสินค้าจึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของการจัดการโลจิสติกส์ที่เป็นที่รู้จักรองจากกิจกรรมด้านการขนส่ง โดยภารกิจและบทบาทหน้าที่ของคลังสินค้าเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ (Space Utility) ต่อต้นทุนรวม


    บทบาทหน้าที่ของคลังสินค้า ประกอบด้วย หน้าที่ในการรับสินค้า (Receiving) โดยการตรวจสอบจำนวน คุณลักษณะในการที่จะแยกแยะ จัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ โดยการจัดการที่มีระบบการตรวจสอบและตรวจนับความถูกต้องที่เกี่ยวข้องกับปริมาณ ,จำนวน ,สภาพ และคุณภาพ  โดยคลังสินค้าทุกประเภทจะทำหน้าที่ในฐานะผู้ทรงสิทธิในความเป็นเจ้าของสินค้าชั่วคราว ซึ่งหมายถึง ความรับผิดชอบที่จะมีต่อตัวสินค้า หน้าที่ในการควบคุมและรับผิดชอบต่อสินค้าที่จัดเก็บอยู่ในคลัง ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการ ทั้งการใช้เทคนิค เทคโนโลยีในการเก็บเพื่อความคุมคุณภาพของสินค้า รวมถึงการจัดเตรียม , เครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงประเภทต่างๆ เช่น รถยก , ชั้นหรือหิ้งสำหรับวางสินค้า , การควบคุมบรรยากาศ อุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมในคลังให้เหมาะสมกับสินค้าแต่ละประเภท รวมถึงอาศัยระบบและการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Automated Robot System (ระบบหุ่นยนต์) ,ระบบ Bar Code หรือ RFID รวมถึงระบบการสื่อสารอิเล็กโทรนิกส์ โดยกิจกรรมในการควบคุมสินค้านี้จะเกี่ยวข้องกับการคัดแยกสินค้า , การบรรจุ , การแบ่งบรรจุ , การคัดเลือก , การติดป้าย และที่สำคัญและเป็นหัวใจของคลังสินค้า คือ การควบคุมทางด้านเอกสาร ทั้งที่เกี่ยวกับรายงาน (Status) การเคลื่อนไหว การรับและการเบิก-จ่าย ที่เรียกว่า Inventory Report และการควบคุมทางบัญชี  หน้าที่ในการส่งมอบจ่ายแจกสินค้า เป็นการส่งมอบสินค้าให้กับฝ่ายผลิตหรือลูกค้า หรือผู้ที่มาเบิกหรือตามคำสั่งของผู้ฝากสินค้า ซึ่งจะต้องส่งมอบสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้รับ ทั้งจำนวน , สภาพ , สถานที่และเวลา (The right thing at the right place in the right time) ซึ่งจะต้องมีกระบวนการคัดเลือกสินค้าและระบบการจัดส่งให้กับลูกค้า ด้วยหน้าที่นี้ทำให้คลังสินค้า สามารถแยกออกตามลักษณะของภารกิจ ได้แก่ คลังสินค้าเพื่อการจัดเก็บ (Storage Warehouse) ,คลังสินค้าสำหรับจำหน่าย , ศูนย์ขนส่งสินค้า , คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded) , ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Cross Dock Warehouse) และศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ฯลฯ หน้าที่ความรับผิดชอบทางกฎหมายในการชดใช้ความเสียหาย ที่เรียกว่า “Liability” อันเกิดจากการกระทำใดๆซึ่งทำให้ผู้ฝากสินค้าหรือเจ้าของสินค้าเสียหาย ทั้งจากการเสียหายโดยตรงจากการเก็บรักษา , การสูญหาย , การเสื่อมสภาพ หรือเสื่อมราคา ซึ่งเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้รับฝากสินค้า ซึ่งความรับผิดชอบนี้ครอบคลุมถึงผู้รับผิดชอบดูแลคลังสินค้าในฐานะนายคลังฯ และผู้ให้บริการภายนอก (Outsources Service)


    บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคลังสินค้าจะเกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อความคล่องตัว (Agility Responsiveness) เป็นการสนองตอบในภาคของอุปสงค์ ในลักษณะที่เป็นการประหยัดต่อขนาดในลักษณะที่เป็นการสั่งซื้อ การขนส่งครั้งละจำนวนมาก ซึ่งจะได้อำนาจในการต่อรองด้านราคาและส่วนลดตามปริมาณที่สั่งซื้อ และยังส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งสินค้าต่อหน่วยที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องมีการจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ขึ้นอยู่ปริมาณสินค้าคงคลังว่าควรจะมีจำนวนเท่าไหร่จึงจะเป็นปริมาณที่พอเหมาะต่อทั้งการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) และการประหยัดต่อความเร็ว (Economies of Speed) คลังสินค้ายังเป็นสิ่งจำเป็นเปรียบเสมือนกันชนในระบบโซ่อุปทาน โดยเฉพาะที่ผู้ซื้อและผู้ขายอยู่ห่างกัน แต่ละฝ่ายจึงจำเป็นที่จะต้องมีคลังสินค้า ยิ่งระยะทางห่างกันเพียงใด ก็จะมีความสัมพันธ์กับปริมาณของสต๊อกส่วนเกินและต้นทุนที่เกี่ยวกับสินค้าคงคลัง


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 22-06-2007  

 
หน้าหลัก