บทความเรื่อง :: วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำเดือนพฤษภาคม 2550
 


วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำเดือนพฤษภาคม 2550

โดยธนิต โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

เศรษฐกิจไทย 5 เดือนแรกของปี 2550

           สภาวะเศรษฐกิจไทยในภาพรวมของระยะเวลาเกือบครึ่งปีแรก มีลักษณะของทวิลักษณ์ คือ ภาคการส่งออกยังสามารถขยายตัวได้โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 18.2 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะเดียวกันภาคการบริโภคภายในประเทศมีลักษณะการชะลอตัวลง โดยสินค้าอุปโภค บริโภค มียอดขายลดลงประมาณร้อยละ 8-9 และสินค้าอุตสาหกรรมมียอดขายและคำสั่งซื้อลดลง โดยทั่วไปภาคการส่งออกของไทยอยู่ใน GDP กว่าร้อยละ 67 เมื่อการส่งออกขยายตัวก็น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อตัวเลขการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่ควรจะเพิ่มมากขึ้น แต่ในทางกลับกันตัวเลขการนำเข้าวัตถุดิบกลับมีปริมาณขยายตัวเพียงร้อยละ 2 อีกทั้ง ตัวเลขการบริโภคของภาคประชาชนกลับมีการหดตัว ทำให้สภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไปของประเทศไทยมีลักษณะชะลอตัว ลักษณะเศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลานี้ค่อนข้างสับสนเป็นเรื่องของการขาดความเชื่อมั่น ซึ่งแก้ไขได้ยากกว่าปกติ เพราะเป็นเรื่องของความรู้สึก โดยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP ในช่วง 4-5 เดือนของปี 2550 น่าจะขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 4 และมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 หรือต่ำกว่านี้โดยภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงเดือนที่ผ่านมา มีดังนี้

ภาคการบริโภคภายในและเศรษฐกิจมีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

           ที่ผ่านมาแนวโน้มการบริโภคของประชาชนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวในไตรมาสที่ 1 เพียงร้อยละ 2-3 โดยเหตุผลสำคัญก็เกิดจากประชาชนรู้สึกไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ภายในประเทศ โดยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน สำรวจโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่หกติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 77.6  และดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนมีนาคม รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ดัชนีมีการลดร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันกับปีที่แล้ว โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ ธปท. มีการปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 78.5 จากระดับ 83.0 ในไตรมาสแรกของปี ดัชนีเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนำไปสู่การลดลงของการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเกิดจากความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยุบพรรคการเมือง อีกทั้ง ประชาชนไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งตามระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้หรือไม่ และสถานการณ์หลังการเลือกตั้ง (ถ้ามี) พรรคการเมืองใดจะเข้ามาครอบครองอำนาจรัฐ ซึ่งประชาชนหวั่นวิตกต่อสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น ทั้งกรณีที่การเลือกตั้งล่าช้า และภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐบาลที่ได้มาอาจจะไม่เป็นที่พอใจของประชาชน
            อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเชิงบวกของประเทศไทยก็ยังมีอยู่มาก ได้แก่ สถานะเงินเฟ้อของประเทศซึ่งถึงแม้ว่าราคาน้ำมันจะเริ่มมีการขยับตัวสูงขึ้นถึง 65-66 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาเรล แต่สถานการณ์การใช้น้ำมันของโลก ก็ไม่ได้ส่อแววว่าจะมีการเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าสถานการณ์การขึ้นราคาคงเป็นลักษณะชั่วคราว ซึ่งก็ไม่น่าจะส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปมากนัก ซึ่งเงินเฟ้อของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับร้อยละ 1.8 และมีแนวโน้มว่าเดือนมิถุนายนน่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ  1.6 ซึ่งคาดว่าเงินเฟ้อในปีนี้ไม่น่าจะเกินร้อยละ 2.5  สำหรับอัตราดอกเบี้ย RP หรืออัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วัน ซึ่ง กนง. ได้มีการประกาศปรับลดลงไปเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 โดยลดลงไปอีกร้อยละ 0.5 ทำให้ดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารแห่งประเทศไทยเหลือร้อยละ 3.5 (จากอัตราต้นเดือนมกราคม 2550 ที่ระดับ 4.9375%) ซึ่งในปีนี้ดอกเบี้ยได้มีการลดไปถึง 3 ครั้ง คือ ในช่วงเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ลดลงไปเดือนละร้อยละ 0.25 และเดือนมีนาคมลดลงไปอีกร้อยละ 0.5 โดยธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ย MLR จากร้อยละ 7.25 เป็นร้อยละ 7.0 และเงินเบิกเกินบัญชี MOR ลดลงจากร้อยละ 7.5 เป็นร้อยละ 7.25 ส่วนอัตราดอกเบี้ยรายย่อย MRR ลดลงจากร้อยละ 7.75 เป็นร้อยละ 7.50 ซึ่งทั้งหมดจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนและการบริโภค อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยเชิงลบด้วยความเชื่อมั่นน่าจะส่งผลให้กดดันต่อการชะลอตัวด้านการบริโภคของประชาชนในไตรมาสที่สองอย่างชัดเจน ซึ่งการลดลงของการบริโภคน่าจะมากกว่าในไตรมาสที่ 1 ซึ่งแนวโน้มจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และการเชื่อมั่นจากสถานการณ์ทางการเมืองน่าจะส่งผลต่อการบริโภคที่ดีขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3

ด้านการลงทุนมีการชะลอตัว

            การลงทุนของประเทศยังมีลักษณะชะลอตัว โดยการลงทุนของภาคเอกชนในเดือนมีนาคม หดตัวร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันกับปีก่อน โดยในไตรมาสแรกสินค้าทุนและเครื่องจักรมีการนำเข้าลดลงประมาณร้อยละ 9.2 ซึ่งสอดคล้องกับการใช้อัตรากำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคมอยู่ที่ร้อยละ 80.1 การลงทุนในภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศยังไม่ชัดเจน ซึ่งเหตุผลสำคัญก็เกิดจากความไม่มั่นใจในสถานะทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ผลจากการลงนามในข้อตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ก็น่าจะส่งผลต่อการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตไปสู่ตลาดในภูมิภาคอาเซียน แต่การลงทุนก็น่าจะเป็นในช่วงหลังการเลือกตั้ง ก็คงภายในปีหน้า ดังนั้น การลงทุนในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมาจากภาครัฐ ซึ่งมีการเตรียมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ โดยปัจจัยบวกเพื่อให้เกิดการลงทุนจะมาจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงก็น่าจะเป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชน แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยความเชื่อมั่น เพราะดอกเบี้ยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิต หากการบริโภคที่ชะลอตัวลง และปัจจัยความเชื่อมั่นที่ภาครัฐยังไม่สามารถนำกลับคืนมา การลงทุนในช่วงนี้คงอยู่ในลักษณะของโปรเจกต์มากกว่าที่จะเห็นเม็ดเงินจริง
 

ปัจจัยจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำ

            การวิเคราะห์เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้จะต้องให้ความสนใจไปที่ปัจจัยเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกของประเทศไทย เนื่องจากการที่ ธปท. สามารถลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 5 ในช่วงต้นปี 2550 ลงมาเหลือ 3.50 ในช่วงเดือนพฤษภาคม ก็เกิดจากปัจจัยเงินเฟ้อของประเทศที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ กนง. สามารถใช้มาตรการทางการเงิน โดยการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) ของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ทำให้ Real Interest ของไทยยังเป็นบวกที่ร้อยละ 1.5 ซึ่งหากสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้คงที่ในลักษณะเช่นนี้ก็จะส่งผลให้ ธปท. ยังสามารถใช้ช่องว่างของ Real Interest ในการที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกอย่างน้อยร้อยละ 0.25 หรือร้อยละ 0.25-0.50 อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยที่ลดลงไปแล้ว น่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสม โดยคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยทั้งปี อย่างมากก็ไม่น่าจะสูงเกินกว่าร้อยละ 2.5 อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของไทยก็อาจมีการพุ่งขึ้นสูงกว่านี้ หากราคาน้ำมันดิบมีการปรับตัวสูงจากค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ประมาณ 66.5 ดอลล่าร์สหรัฐฯ/บาเรล

การแข็งค่าของเงินบาท

         สถานการณ์แข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการปรับตัวอ่อนค่าลงของเงินดอลล่าร์ยังคงมีการต่อเนื่อง บวกกับการตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น อังกฤษ และยูโร โดยเฉพาะธนาคารกลางจีนได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยพร้อมทั้งขยายแถบแกว่งค่าเงินหยวนให้เคลื่อนไหวในแต่ละวันจากร้อยละ +0.30 เป็นร้อยละ +0.5% โดยมีเป้าหมายใหญ่ เพื่อลดอุณหภูมิการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังร้อนแรงอยู่ที่ระดับ 11.1% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่าเงินหยวนจะมีการปรับค่าให้แข็งขึ้น  ซึ่งส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินในสกุลต่างๆ ซึ่งปัจจุบันเงินบาทของไทยเกือบจะมีการแข็งค่าเกือบมากที่สุดในรอบ 10 ปี คือในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 34.5 – 34.6 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งลักษณะการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงนี้จะเป็นลักษณะที่แข็งค่าทั้งภูมิภาค เช่น เปโซ/ฟิลิปปินส์แข็งค่า 5.3% ,บาท/ไทย 4.7%  , ริงกิต/มาเลเซีย 3.61%,    รูเปีย / อินโดนีเซีย 1.9% , ดอลล่าร์ / สิงคโปร์ 0.6% , รูปี / อินเดีย 9.5 และเยน/ญี่ปุ่น -1.7% ซึ่งจะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่าจะยังคงมีมาตรการสำรอง 30% และ Full HEDGING ป้องกันความเสี่ยงเต็มจำนวน ค่าเงินบาทของไทยก็ยังคงมีความแข็งค่าเกือบสูงสุดในภูมิภาคเป็นรองเฉพาะฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อสูงมาก
           สำหรับสภาวะอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในตลาด Off Shore ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 33.25 บาทต่อดอลล่าร์ ซึ่งมีช่องว่างต่างจากตลาด On Shore 1.25 บาทจากที่เคยมีช่องว่างก่อนหน้านี้ 2.25-2.5 บาท เหตุผลสำคัญนักค้าเงินไม่ได้ความสำคัญต่อเงินบาท ซึ่งในตลาดค้าเงินเกือบจะไม่มีการเทรดค่าเงินบาท ทั้งนี้ สถานะเงิน US Dollar ในตลาดภายในประเทศจะมีความต้องการน้อย มีแต่คนรอขาย เนื่องจากการถดถอยของการนำเข้าส่วนใหญ่มีเพียงธนาคารแห่งประเทศไทยและบริษัทน้ำมันที่จะซื้อ จากสถานะการขยายตัวการส่งออกที่ดีมากทำให้มีเงินดอลล่าร์ Inflow เข้ามาในระบบมากกว่าที่ไหลออก ฐานะการเงินดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงเดือนที่ผ่านมา เกินกว่า 2.1 พันล้านบาท ทำให้ไทยมีเงินสำรองเงินตราต่างประเทศกว่า 70.5 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ธปท. วันที่ 11 พ.ค. 2550) ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่จะส่งผลต่อการแข็งค่าของเงินบาทในลักษณะที่ทรง กับค่อยๆแข็งค่า ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเงินดอลล่าร์ อาจมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้บ้างจากปัจจัยความเชื่อมั่นตัวเลขการผลิตในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าที่คาดไว้ ซึ่งส่งผลทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อาจดีขึ้นกว่าที่คาด อีกทั้ง แนวโน้มที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าได้บ้างเล็กน้อย ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับผู้ส่งออก

การส่งออกของไทยในไตรมาสแรกขยายได้ดีมาก

           การส่งออกในขณะนี้ถือเป็นปัจจัยหลักในการที่ค้ำยันเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการส่งออกที่ผ่านมาสามารถขยายตัวได้ดีในระดับ 18% อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการส่งออกดังกล่าวตั้งมั่นอยู่บนความไม่มั่นคง เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ส่วนหนึ่งเกิดจากการรับออเดอร์ล่วงหน้า 3-6 เดือน การวิเคราะห์สถานการณ์ส่งออกจากนี้ไป จึงต้องมองในระยะหลังไตรมาสที่ 2 เพราะหากเงินบาทยังมีการแข็งค่าก็จะทำให้ส่งผลต่อการควบคุมต้นทุนได้ลำบาก โดยอุตสาหกรรมบางประเภท อาจขยายตัวได้เพียง 3-5% หรือติดลบ โดยออเดอร์ในช่วงไตรมาสที่ 2 เริ่มชะลอตัวลง ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม , อุตสาหกรรมพลาสติก , อุตสาหกรรมผลิตรองเท้า , อุตสาหกรรมอาหารบางประเภท, อุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตร และอุตสาหกรรมที่มี Local Content สูง ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังเติบโตได้ดี ก็จะเป็นอุตสาหกรรมส่งออกยานยนต์ , อุตสาหกรรมกุ้งแช่แข็ง (ตลาดญี่ปุ่น) , อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 15 ,อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง , อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งภาครัฐกับภาคเอกชนในมุมมองนี้ยังมีความแตกต่างกัน โดยรัฐเห็นว่าเงินบาทไม่มีผลต่อการส่งออก ขณะที่ภาคเอกชนยอมขยายการส่งออกทั้งที่ขาดทุนเพื่อรักษาฐานลูกค้า จึงขึ้นอยู่กับความสามารถของ ธปท. ในการที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แกว่งตัว และหรือแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่ง เพื่อให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของประเทศ

ปัจจัยที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

            การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย น่าจะเห็นผลดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องสร้างความเชื่อมั่นและดำเนินมาตรการต่างๆในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมาตรการที่จะทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวและขยายตัวได้ น่าจะประกอบด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

  1. การเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งในช่วงตุลาคม 2549 – เมษายน 2550 สามารถเบิกจ่ายได้เพียง 49.5% ซึ่งต่ำกว่าปีที่แล้ว โดยภาครัฐต้องเร่งเบิก-จ่ายให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ในช่วงกรกฎาคม - สิงหาคม และให้ได้ร้อยละ 93-95 ในช่วงปลายปีงบประมาณ รวมทั้งนำเม็ดเงินจริงเข้าไปลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งภาครัฐได้มีโครงการไว้
  2. การกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภาคประชาชน ได้แก่ มาตรการอัดฉีดงบประมาณผ่านธนาคารรัฐเพิ่มอีก 40,000 ล้านบาท ถึงแม้จะถูกมองว่าเป็นนโยบายประชานิยมก็จำเป็นจะต้องทำ โดยเฉพาะโครงการในระดับรากแก้วในชนบท ซึ่งราคาสินค้าเกษตรจากการรายงานของสำนักเศรษฐกิจการเกษตรมีทิศทางที่อ่อนตัวลงประมาณ 8.5% ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการสร้างงานต่างๆเพื่อรองรับผู้ว่างงานที่เพิ่งออกจากระบบการศึกษา ประมาณ 7.2 แสนคน ถึงแม้ว่าปัจจุบันอัตราการว่างงานของไทยจะอยู่ในระดับร้อยละ 1.5 แต่ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ล่อแหลมเช่นนี้เป็นเรื่องที่ประมาทไม่ได้ เพราะหากเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 3.5 จะทำให้มีผู้ว่างงานมากขึ้นเป็นร้อยละ 1.9
  3. การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินจริง โดยภาคธนาคารจะต้องเร่งการลดอัตราดอกเบี้ยให้มีอัตราซึ่งสอดคล้องกับการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย และเร่งพิจารณาสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยการนำเงินในระบบที่เหลือเป็นจำนวนมาก มากระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปก็คือ สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ของไทย เพิ่มจาก 29.09% เป็น 31.69%
  4. การรักษาเสถียรภาพของเงินบาท ไม่ให้มีการผันผวนและแข็งค่าเกินกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีมาตรการในการช่วยเหลือผู้ส่งออกในรูปแบบต่าง
  5. การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและประชาชน โดยภาครัฐควรมีมาตรการการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคควบคู่ไปกับมาตรการสร้างความเชื่อมั่นด้านการเมือง โดยกำหนดระยะเวลาการเลือกตั้งที่ชัดเจน รวมทั้ง การประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐ จะต้องให้เข้าถึงประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ ทุกโครงการจะต้องเห็นผลในระยะสั้น ส่วนโครงการในระยะยาวควรเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้า ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง

หมายเหตุ ข้อความในเอกสารนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันใดๆ การเชื่อถือขอให้อยู่ในดุลยพินิจ


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-05-2007  

 
หน้าหลัก