บทความเรื่อง :: สถานการณ์การส่งออกกับสภาวะทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทไตรมาสแรกของปี 2550
 


โดยธนิต โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก
 

            ภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรก เศรษฐกิจมีภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นทุกหมวดมีการปรับลด โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ร้อยละ 86.8 ยอดคำสั่งซื้อลดลงร้อยละ 1.39 ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงร้อยละ 3.29 ตัวชี้วัดการชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจเห็นได้จากยอดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 และภาษีที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวติดลบ 0.1% ซึ่งก็สอดคล้องกับยอดการขายปูนซีเมนต์ที่ติดลบ 4.6% อุตสาหกรรมที่ชี้ชัดแสดงถึงเศรษฐกิจขาลงของประเทศไทย เห็นได้จาก อัตราการขายรถยนต์ในประเทศในไตรมาสแรกติดลบถึง 18% ซึ่งเป็นการติดลบสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2542 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3% ซึ่งคาดว่าราคาน้ำมันในปีนี้หากไม่มีความผิดปกติก็น่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 60-65 ดอลล่าร์ต่อบาเรล ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีน่าจะต่ำกว่าร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสแรกน่าจะประมาณ 3.8-4.0% และคาดว่าในไตรมาสที่สองน่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกัน

ภาคการส่งออก
 

            การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกมีการขยายตัวประมาณร้อยละ 18.1 โดยในเดือนมกราคม การส่งออกสามารถขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 17.7 เดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวร้อยละ 18.4 และเดือนมีนาคม ขยายตัวร้อยละ 18 โดยเป็นการขยายตัวของหมวดอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าสูง สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศที่ใช้ Local Content สูง ค่อนข้างจะมีการชะลอตัวและได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมกลุ่มอาหาร , อุตสาหกรรมรองเท้า , อุตสาหกรรมการ์เมนต์ ซึ่งต้องมีการปรับระบบการผลิตตามคำสั่งซื้อและลดการผลิตเพื่อเก็บสต๊อก ภายใต้ค่าเงินบาท ซึ่งยังมีการแข็งค่าแบบเสถียรในช่วงอัตรา 34.7 – 35.0 บาทต่อดอลล่าร์ ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างจะคงที่มาตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการส่งออกของประเทศไทยยังสามารถขยายตัวได้กว่าร้อยละ 18 ทำให้ภาครัฐมีการคาดการณ์ว่าการส่งออกของปี 2550 จะเท่ากับหรือสูงกว่าที่กระทรวงพาณิชย์ประมาณการณ์ไว้ที่ร้อยละ 12.5

ประเด็นที่น่าจะต้องพิจารณา อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยยังขยายตัวในอัตราสูง ทั้งที่ค่าเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่า น่าจะประกอบด้วย

  1. ภาคการส่งออกที่ขยายตัวยังอยู่ในกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้ง อุตสาหกรรมที่มีการนำเข้าสูง เช่น อุตสาหกรรมเคมี เป็นต้น ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบเนื่องจากความต้องการในตลาดต่างประเทศยังคงสูง แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้รายได้สุทธิจากการส่งออกลดลง
  2. การส่งออกที่ผ่านมา ผู้ผลิตจำเป็นจะต้องเพิ่มปริมาณการผลิตให้สูงขึ้น เพื่อชดเชยกับรายได้สุทธิที่ลดลง เนื่องจาก การส่งออกที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18 แต่เมื่อคำนวณในรูปเงินบาทจะเป็นการเพิ่มขึ้นเพียง 7.4% ทำให้ผู้ประกอบการจะต้องส่งออกมากขึ้น เพื่อให้มีรายได้มารองรับค่าใช้จ่ายที่มีการขยายตัว
  3. การส่งออกยังคงเป็นออเดอร์เก่า ซึ่งบางบริษัทมีการรับล่วงหน้า 3-6 เดือน ขณะเดียวกันผู้ส่งออกก็ยังคงขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่ก็ยังมีความจำเป็นในการที่ยังต้องส่งออกเพิ่มรักษาลูกค้า
  4. ข้อเท็จจริง ผู้ผลิตไม่สามารถที่จะหยุดการผลิตได้ เนื่องจากจะมีผลต่อคนงานและอุตสาหกรรมได้มีการลงทุนไปกับคนงานทางด้านการฝึกฝน , การหยุดการผลิตจะส่งผลต่อการจ้างงานในอนาคต
  5. สถานการณ์ผลิตในปัจจุบันเป็นการใช้สินค้าในสต๊อก โดยเห็นได้จากการนำเข้าที่ติดลบ ประเด็นที่ต้องติดตามไปว่าสถานการณ์เช่นนี้ จะดำรงอยู่ได้นานแค่ไหน เนื่องจากการส่งออกของไทยกว่าร้อยละ 40 ต้องใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ

สถานะของค่าเงินบาท

          เงินบาทของไทยในช่วงปลายไตรมาสแรก ค่อนข้างจะมีการเสถียร ค่าเงินบาทไม่มีการแกว่งตัวมากนัก ผลส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย RP ลงร้อยละ 0.5 ทำให้ดอกเบี้ยเป็นร้อยละ 4.0 อีกทั้ง มาตรการประกันความเสี่ยง Full Hedge ของธนาคารแห่งประเทศไทยมีผลทำให้ผู้นำเงินเข้ามาลงทุนจะต้องมีการประกันความเสี่ยง 100% แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ค่าเงินบาทของไทยค่อนข้างจะเสถียรในปัจจุบัน เนื่องจากค่าเงินสกุลในภูมิภาค ได้มีการแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกัน แต่ประเทศไทยก็ยังสูงกว่าประมาณร้อยละ 9 อีกทั้ง ในตลาดเงินมีการรอการตัดสินใจของ FED ซึ่งคาดว่าอัตราดอกเบี้ย FED จะมีการลดลง และนักการเงินเห็นว่า ค่าดอลล่าร์มีการอ่อนค่ามากไปแล้ว นักลงทุนบางส่วนเริ่มทีการซื้อดอลล่าร์กลับคืน นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ประเทศจีนมีการลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.37% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของจีนลดลงเหลือร้อยละ 2.79 
 

         นอกจากนี้ จากการที่ภาครัฐได้มีการแปลงหนี้สกุลต่างประเทศเป็นเงินบาทเพื่อลดความต้องการเงินบาทในตลาด เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เงินบาทมีค่าที่คงที่หรืออ่อนตัวลงไปเล็กน้อย โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีโครงการแปลงหนี้ต่างประเทศเป็นเงินบาทประมาณ 120,000 ล้านบาท (เป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม) ,บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย) โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้แปลงหนี้เงินก็ธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย วงเงิน 348 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมทั้งได้ปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ต่างประเทศชำระคืนก่อนกำหนดไปอีก 35,900 ล้านบาท ซึ่งส่งผลทำให้ความต้องการเงินบาทในตลาดต่างประเทศลดลง ทำให้ค่าเงินที่ผ่านมาค่อนข้างจะทรงตัวในอัตราที่ยังแข็งค่าประมาณ 34.77-35.0 บาทต่อ     ดอลล่าร์ โดยเงินบาทในช่วงปลายเดือนมีนาคม มีการแข็งค่ามากที่สุดที่ 34.66 บาทต่อดอลล่าร์
 

การวิเคราะห์สถานะค่าเงินแข็งค่าแบบคงที่ ประกอบด้วย

  1. ปัจจัยความเชื่อมั่นและความเสี่ยงต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการชะลอตัวในการลงทุน ซึ่งเศรษฐกิจภายในของประเทศซึ่งมีแนวโน้มถดถอยลง เริ่มส่งสัญญาณต่อนักลงทุนและนักการเงินต่างประเทศ ที่จะ Wait and See ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าเงินของไทยค่อนข้างเสถียร
  2. แนวโน้มที่เงินบาทของไทยยังคงไม่อ่อนค่า สาเหตุเกิดจากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการส่งออกมากกว่าการนำเข้า ทำให้ดุลการค้าเกินดุลกว่า 5.0 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวยังมีการขยายตัวกว่าร้อยละ 6.4 ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด เกินดุลเฉพาะในไตรมาสแรกประมาณ 5.9 พันล้านสหรัฐฯ โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยใกล้เคียง 71,000 ล้านบาท 
  3. การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 เมษายน ร้อยละ 0.5 ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ซึ่งหักเงินเฟ้อดอกเบี้ยของไทยก็จะใกล้เคียงกับของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่ ธปท. จะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงไปอีกร้อยละ 0.5 ในเดือนกรกฎาคม ถึงแม้ว่า ธปท. ได้ชี้แจงว่าการลดดอกเบี้ยไม่มีผลต่อระดับค่าเงินบาท แต่ก็ส่งผลทางจิตวิทยาต่อปัจจัยด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้ค่าเงินบาทยังคงสถานะที่ไม่แกว่ง แต่เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมอื่น โดยเฉพาะการที่มีเงินทุนไหลเข้าทำให้ค่าเงินของไทยยังคงแข็งค่าแบบคงที่


          อย่างไรก็ตาม ทิศทางเงินบาทของไทยยังคงต้องมีการติดตาม เนื่องจากที่ผ่านมาการแข็งค่าค่อนข้างสวนกับทฤษฎีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งปัจจัยด้านความเชื่อมั่น รวมถึงมาตรการสำรองเงินทุนไหลเข้า 30% ล้วนแต่เป็นปัจจัยด้านลบที่โดยทฤษฎีค่าเงินบาท ควรจะอ่อนค่า แต่ก็ยังแข็งค่าแบบคงที่จนนำไปสู่อัตราแลกเปลี่ยนปกติ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกคงจะไม่ได้เห็นอัตราแลกเปลี่ยน 40-42 บาท แต่ผู้ส่งออกอยากได้อัตราที่ไม่แกว่ง เรื่องของเงินบาทมีทั้งคนได้คนเสีย เศรษฐกิจของไทยจึงขึ้นอยู่กับการจัดการความสมดุล ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง (อนึ่งฯ ความเห็นในบทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัว การเชื่อถือและนำไปอ้างอิงขอให้อยู่ในดุลยพินิจ..)


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 22-05-2007  

 
หน้าหลัก