บทความเรื่อง :: วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำเดือนเมษายน 2550
 


เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกของปี 2550

โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP 

           เศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรก ตัวเลขของภาครัฐยังไม่มีผลสรุปออกมา แต่ภาพที่เห็นได้ชัดเจนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2549  มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 82.7  สำหรับยอดคำสั่งซื้อ (Sale) ลดลงร้อยละ 1.39 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงร้อยละ 3.29 โดยดัชนีชี้วัดทุกรายการทั้งภาคการผลิตและผลประกอบการก็ล้วนลดลงทั้งสิ้น รวมถึงการลดลงของการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของประเทศไทยลดลงกว่าร้อยละ 27 สภาพคล่องในตลาดเงินระยะสั้น ยังอยู่ในระดับสูง เกินกว่า 600,000 ล้านบาท โดยภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งแรกต่ำกว่าร้อยละ 4.0 อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ GDP ของ สศช. ณ วันที่ 6 มีนาคม 2550 ยังประมาณการว่า GDP ยังขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.0 ภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาสแรก มีดังนี้

  1. ภาคการบริโภคภายใน พบว่าประชาชนกว่าร้อยละ 82.2 ได้รับผลกระทบจากสถานะทางเศรษฐกิจ โดยในไตรมาสแรก ปี 2550 อุปสงค์ภายในประเทศชลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะหมวดการอุปโภค บริโภค และการลงทุนภาคเอกชน
  2. ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 5 ปี ส่งผลกระทบต่อการจ่ายจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ บ้านและที่ดิน ซึ่งมีตัวเลขลดลงอย่างชัดเจน รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ มีอัตราการขายในประเทศติดลบร้อยละ 18 (3 เดือนแรก) เป็นการติดลบมากที่สุดนับจากปี 2542 ส่วนรถจักรยานยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยอื่นๆ ล้วนแต่มีตัวชี้วัดที่ลดลงทั้งสิ้น ซึ่งในปีนี้ ดัชนีชี้วัดจากการใช้จ่ายในงานกาชาดที่ลดลงและการใช้จ่ายและปริมาณคนที่กลับบ้านไปเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ที่ซบเซากว่าปีที่แล้ว จะเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมั่นของการบริโภคได้ในระดับชาติ
  3. อัตราเงินเฟ้อ เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากที่คาดว่าเงินเฟ้อในปีนี้จะประมาณร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นการลดลงจากช่วงปลายปี  ถึงแม้ราคาน้ำมันโลกจะสูงขึ้น แต่เงินเฟ้อจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำต่อไป เนื่องจากมีการกดดันด้านราคาที่น้อยมาก เพราะเกิดจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลง
  4. ภาคการส่งออก ถึงแม้ว่าเงินบาทจะมีการแข็งค่า แต่การส่งออกในเดือนมกราคม ก็ยังสามารถขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุล US ร้อยละ 17.7 เดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวร้อยละ 18.4 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขส่วนใหญ่การส่งออกยังอยู่ในหมวดอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทใช้ Local Content ต่ำ จึงไม่ได้รับผลกระทบกระเทือนมากนัก โดยทั่วไปผู้ส่งออกที่ Local Content สูง จะได้รับผลกระทบจากการขาดทุนหรือเป็นการขายเพียงเท่าทุน ซึ่งจะเป็นปริมาณการส่งออก เพื่อให้ลดต้นทุนเกี่ยวกับ Fixed Cost ให้มากที่สุด เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเลขการส่งออกที่สูง เฉลี่ย 2 เดือนแรก ร้อยละ 18.1 แต่การนำเข้ากลับขยายตัวติดลบเป็นเงินสกุลบาทเป็นร้อยละ 7.8 หากเปรียบเทียบกับสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯแล้วจะขยายตัวร้อยละ 2.8 ซึ่งเปรียบเทียบกับการประมาณการซึ่งเทียบกับปีที่แล้วขยายตัวทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ซึ่งแสดงว่าภาคการผลิตมีการชะลอการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุน การส่งออกเป็นการใช้สินค้าใน Stock หากการนำเข้ายังเป็นลักษณะนี้จะเริ่มส่งผลต่อปริมาณของสินค้าส่งออกจะลดลง อย่างไรก็ตาม การที่ Net Export เป็นบวกทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP เป็นบวกที่ร้อยละ 1.3 และเงินสำรองระหว่างประเทศเป็น 70,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
  5. เกี่ยวกับค่าเงินบาท ค่อนข้างมีความเสถียรในอัตรา 34.8 – 35.0 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งอาจเกิดจากมาตรการประกันความเสี่ยง Full Hedge ของธนาคารแห่งประเทศไทย และการคาดการณ์ว่า ธปท. จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย RP ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาด ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550 ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ลงอีก ร้อยละ 0.5 เป็นร้อยละ 4.0 ต่อปี (ช่วงปลายเดือนมีนาคม ประเทศจีนมีการลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.37 อยู่ที่ร้อยละ 2.79) ซึ่งทำให้ผู้ส่งออกมีการชะลอตัวในการขายเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ อีกทั้ง ค่าเงินในสกุลภูมิภาคได้มีการแข็งค่าไปในทิศทางเดียวกัน เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ค่าเงินค่อนข้างเสถียร อาจเกิดจากนักลงทุนบางส่วนมีการซื้อดอลล่าร์สหรัฐฯ เนื่องจากเห็นว่ามีการอ่อนค่าไปมากแล้ว และมีการคาดว่าดอกเบี้ย FED Fund Rate อาจมีการปรับตัวลดลง


          จากการคาดการณ์ภายใต้สภาวะความเสี่ยงทางการเมืองและการขาดความเชื่อมั่นทั้งของผู้บริโภคและภาคการผลิต จะส่งผลให้มีการปรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ อยู่ที่ 4.0 – 4.3 แต่จากการคาดการณ์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าการขยายตัวอาจจะอยู่ที่ 3.5 – 4.0 ซึ่งในช่วงไตรมาสที่สอง จะต้องดูการขยายตัวการส่งออก ภายใต้สถานการณ์ติดลบของสินค้าคงคลัง อันเนื่องจากการที่นำเข้าสินค้ามีการขยายตัวที่ติดลบว่ายังสามารถขยายตัวได้ในอัตราเดียวกับเดือนมกราคม และกุมภาพันธ์ เนื่องจากเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการประมาณการณ์โดยเฉลี่ยของกรมส่งเสริมการส่งออกที่ตั้งเป้าไว้ร้อยละ 12.5 โดยภาครัฐจะต้องเร่งให้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ ได้ใช้จ่ายไป 737,447 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว 2.6% และจะต้องเร่งบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจโดยสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืน...


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 22-05-2007  

 
หน้าหลัก