บทความเรื่อง :: วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำเดือนธันวาคม 2549-1
 


โดยธนิต  โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

             ภาพรวมของเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2549 น่าจะขยายตัวร้อยละ 5.1-5.5 โดยมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยร้อยละ 4.5 โดยมีการขยายตัวที่ดีในไตรมาสแรกที่ร้อยละ 6.1 , ไตรมาสที่สองร้อยละ 5.0 , ไตรมาสที่สามร้อยละ 4.7 และคาดว่าไตรมาสที่สี่ ร้อยละ 4.5 เป็นการขยายตัวที่ลดลงต่อเนื่อง  ส่งผลให้อุปสงค์ภายในประเทศมีทิศทางชะลอตัว จากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนจากต่างประเทศ อันเนื่องมาจากปัจจัยราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปลายไตรมาสที่ 3 ราคาน้ำมัน จึงมีทิศทางที่ลดลงจากราคาเฉลี่ย 70-75 เหรียญสหรัฐฯต่อบาเรล เหลือ 60-65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาเรล  เศรษฐกิจของไทยในช่วงต้นปี 2549 อยู่ภายใต้ความกังวลของภาคเอกชนต่อความไม่แน่นอนทางการเมือง ในสมัยอดีตนายกทักษิณฯ ที่มีการเลือกตั้งติดต่อกัน  2 ครั้ง ตามมาด้วยการไม่สามารถมีสภาในการพิจารณางบประมาณ ทำให้มีการชงักงันในโครงการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งลดลงเหลือร้อยละ 5.7 จากปีที่แล้วที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 14.7 ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชนและเศรษฐกิจมีการถดถอย อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคการผลิตเริ่มมีการผ่อนคลายลงหลังช่วงการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 นอกจากนี้ เศรษฐกิจในปีนี้ยังมีปัญหาการชงักงันของภาคเกษตรจากที่เคยขยายตัวร้อยละ 7.4 ในช่วงครึ่งปีแรกเหลือเพียงร้อยละ 5.2 ในไตรมาสที่สาม สาเหตุสำคัญเกิดจากสภาพภูมิอากาศ , ปัญหาการระบาดของไข้หวัดนก , ปัญหาการส่งออกกุ้งจากมาตรการ AD , ปัญหาน้ำท่วมทั่วประเทศครั้งใหญ่ทำให้ 62 จังหวัด กลายเป็นเขตอุทกภัย รวมถึงผลผลิตการเกษตร เช่น ข้าว , ยางพารา มีราคาลดลง โดยเฉพาะปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการชะลอตัวของการบริโภคของภาคเอกชนเหลือเพียงร้อยละ 3.4 เทียบจากปี 2548 ที่ร้อยละ 4.5-5.0 อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมมีการปรับระดับการผลิตเติบโตในเกณฑ์ที่ดี อันเป็นผลจากแรงขับเคลื่อนของภาคการส่งออก โดยดัชนีภาคผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI : Manufacturing Production Index ในไตรมาสที่ 3 ของปี มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 6.6 ซึ่งต่ำกว่าไตรมาสแรกที่ขยายตัว 9.6 โดยการขยายตัวเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายน่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.5 ของ GDP ทั้งนี้  คาดว่าปี 2549 ทั้งปีมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมจะมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 16.8 ซึ่งสำนักเศรษฐกิจการคลังมีการประมาณเศรษฐกิจไทย 2549 ทั้งปี น่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะประมาณร้อยละ 4.5 ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อลดลงจากครึ่งปีแรก ที่เงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 5.9  ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 2.8 อัตราการว่างงานร้อยละ 1.8 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.2 ของ GDP เป็นที่น่าสังเกตว่า ในระยะที่ผ่านมาของปีนี้ ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงต้นของไตรมาสสุดท้าย ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าต่อเนื่องไปปิดที่ระดับ 35.55 – 35.8 บาทต่อดอลล่าร์ เป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 8 ปี และเป็นการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 14.5 เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2548 และเป็นการแข็งค่าสูงสุด เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศจีน 3.73% ,สิงคโปร์ 6.82% , มาเลเซีย 3.98% , ไต้หวัน -0.01% , เกาหลี 7.91% , ฟิลิปปินส์ 6.34% และอินโดนีเซีย 7.63% สำหรับด้านการเงิน คาดว่าหนี้สาธารณะ น่าจะอยู่ที่ 3.23 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.28 ของ GDP โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยทั้งปีประมาณ ร้อยละ 5.0 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 4.6 ดุลสะพัดเกินดุลเล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.2 ของ GDP หรือเป็นเงิน 9,000 ล้านดอลล่าร์ ทำให้มีเงินสำรองประมาณ 62,500 – 64,000 ล้านดอลล่าร์ โดยเศรษฐกิจและการลงทุนยังไม่ฟื้นตัว มีการชะลอต่อเนื่องไปจนถึงปี พ.ศ. 2550

วิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2550

           จากการพยากรณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของประเทศไทย ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 อาจจะมีการขยายตัวเพียงร้อยละ 3 ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี แต่ภาวะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสต่อไป และขยายตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 6 ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า จะถูกผลักดันจากการบริโภคภายในมากกว่าการส่งออก ซึ่งคาดว่าจะมีการชะลอตัวอันเนื่องมาจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท   โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะมีผลทำให้การขยายตัวโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5-4.0 โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2550 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.6-5.0 โดยเศรษฐกิจของไทยไปผูกไว้กับตลาดส่งออกที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับขาลง ทั้งนี้ จากการที่เศรษฐกิจของไทยมีการเชื่อมโยงในระบบการเงินของโลก  ประเด็นที่จะต้องจับตาในปีหน้าก็คือการปรับดอกเบี้ยของ Fed Funds  ซึ่งเป็นธนาคารกลางของสหรัฐฯ ซึ่งได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ในการยังคงอัตราร้อยละ 5.25 และมีสัญญาณการบ่งชี้ว่า FED อาจมีการปรับลดลงร้อยละ 0.25 ภายในเดือนมีนาคม 2550 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรซื้อคืน 15 วันไว้ที่ร้อยละ 5.0 และในวันที่ 17 มกราคม 2550 จะเปลี่ยนไปใช้ดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วัน ซึ่งปัจจุบันมีดอกเบี้ยร้อยละ 4.9  ทั้งนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้มีเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพของเงินบาทโดยเฉพาะ แต่ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทที่ผ่านมามีการปรับตัวแข็งค่าอย่างมาก ในอัตราที่มากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคนี้ และเป็นแรงกดดันต่อความลำบากของการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่ามีส่วนสำคัญต่อการกดอัตราเงินเฟ้อของไทย ให้อยู่ในอัตราที่ต่ำประมาณ ร้อยละ 2.5-2.8 จากที่ภาครัฐมีการประมาณว่าจะเป็น 3.0-3.5 อันเนื่องมาจากการลดลงของราคาน้ำมันและราคานำเข้า ดังนั้นคงจะไม่เห็นมาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ย เพียงเพื่อสกัดการแข็งค่าของเงินบาท แต่ก็มีหลายสถาบันมีการพยากรณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยซื้อพันธบัตรลงมาเหลือร้อยละ 4.0 – 4.5 ในปลายปี 2550 ก็เป็นไปได้

            การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย นอกเหนือจากปัจจัยภายใน จะต้องให้ความสำคัญของการขยายตัวของตลาดคู่ค้า โดยแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จะขยายตัวที่ชะลอตัวจากร้อยละ 3.3 ในปี 2549 เหลือร้อยละ 2.7 , กลุ่มยูโรขยายตัวลดลงจากร้อยละ 2.6 เหลือ 1.9 เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวลดลงจากปี 2549 ร้อยละ 2.8 เหลือร้อยละ 2.3 ในปี 2550 และจีนจะขยายตัวร้อยละ 9.6 จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการขยายตัวที่ชะลอตัว โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ในปี 2550 ในมุมมองของต่างชาติ เช่น สำนักเครดิตลีอองเนส เอเชีย มองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2550 จะมีการย่ำแย่ จะเป็นผลกระทบของการตกต่ำของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยอาจมีการเติบโตไม่เกินร้อยละ 2.8 ธนาคารเพื่อการลงทุนยูบีเอส ประมาณการณ์ร้อยละ 3.9  และธนาคารโลก ได้ทำนายว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตร้อยละ 4.6 สำหรับการวิเคราะห์จากภายในประเทศกระทรวงการคลังของไทย พยากรณ์ว่าไทยน่าจะรักษาอัตราการเติบโตไว้ที่ร้อยละ 4.5 และธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่าในปี 2550 ประเทศไทยมีแนวโน้มจะเติบโตในระดับ 4.5-5.5 โดยสภาพัฒน์ฯ คาดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโตร้อยละ 4.0-5.0 , ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 4.6-5.1 สำหรับผู้วิเคราะห์มองว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 2550 น่าจะอยู่ที่ 4.0-4.5 จะเชื่อของใคร..ก็ต้องพิจารณากันเอง.. การวิเคราะห์เศรษฐกิจ เป็นการวิเคราะห์ส่วนบุคคล ความน่าเชื่อถือขอให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ที่จะนำไปใช้  พบกันใหม่ปีหน้า..และสวัสดีปีใหม่


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก