บทความเรื่อง :: ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต)-2
 


โดยธนิต  โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

           ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมงานการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ได้เป็นองค์ประธานในการเปิดงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว ซึ่งวันดังกล่าวถือเป็นวันประวัติศาสตร์ในการเปิดสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมจังหวัดมุกดาหารของประเทศไทยกับแขวงสะหวันนะเขตของประเทศลาว โดยสะพานดังกล่าวเป็นสะพานคอนกรีต 2 ช่องจราจร ไม่มีทางรถไฟ ผิวจราจรกว้าง 8 เมตร ไหล่ทางข้างละ 1.50 เมตร เฉพาะตัวสะพานยาว 1,600 เมตร เมื่อรวมคอสะพานและถนนเปลี่ยนทิศทางจราจรจะยาวทั้งสิ้น 2,702 เมตร โดยสะพานอยู่ในเขตฝั่งไทย 1,524 เมตร และอยู่ในฝั่งลาว 1,178 เมตร งบประมาณการก่อสร้าง 2,550 ล้านบาท โดยสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 จะเป็นการเชื่อมโยงประเทศไทยกับประเทศลาว และเป็นส่วนหนึ่งของแนวเส้นทาง East-West Corridor หรือเรียกว่าเส้นทางหมายเลข  R9 ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมชายฝั่งทะเลตะวันออกและตะวันตก เริ่มตั้งแต่เขตในประเทศเวียดนาม ไล่มาตั้งแต่นครดานัง เมืองดงฮา ลาวบาว ผ่านเข้าไปในประเทศลาวผ่านเมืองพิณ จนถึงเมืองไกรสรพรมวิหาร (คันธะบุรี) แขวงสะหวันนะเขต และข้ามสะพานมิตรภาพเข้ามาฝั่งไทย โดยใช้เส้นทางถนนของประเทศไทยผ่านจังหวัดต่างๆ เช่น มุกดาหาร ขอนแก่น พิษณุโลก ตาก ไปจนสุดชายแดนอำเภอแม่สอด จากนั้นจะผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเมยเข้าไปในประเทศพม่าผ่านเมืองเมียวดี จนถึงเมืองเมาะลำไย ซึ่งอยู่ในชายฝั่งทะเลตะวันตก ซึ่งเส้นทางหมายเลข 9 มีระยะทางรวมกัน 1450 กม. ผ่านประเทศลาวประมาณ 270 กิโลเมตร และอยู่ในเวียดนามเพียง 84 กิโลเมตร คือตั้งแต่เมืองลาวบาว จนไฟถึงเมืองท่าดงฮา  ส่วนที่อยู่ในประเทศพม่า เส้นทางยังไม่มีการพัฒนา มีเฉพาะที่ประเทศไทยไปลงทุนสร้างจากเมืองเมียวดี เพียง 16 กิโลเมตร และล่าสุดรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ตกลงจะให้สร้างต่อออกไปอีก 30 กม. จนถึงเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งในประเทศพม่ายังไม่ชัดเจนว่าจะมีการพัฒนาเส้นทางนี้ไปออกทะเลตรงไหน และเมื่อใด เพียงแต่มีบางประเทศสนับสนุนให้มีการสร้างท่าเรือที่ช่องแคบกาเลกร๊วก ซึ่งอยู่ทางใต้ของเมืองเมาะลำไย ซึ่งลักษณะภูมิประเทศไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นท่าเรือน้ำลึก

           เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม่ตัวสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 2 จะมีการเปิดอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2549  แต่ในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้สะพานยังไม่ได้มีการตกลงกัน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบด้านการจราจร ซึ่งระบรรทุกของไทย พวงมาลัยอยู่ทาวขวา ขณะที่เพื่อนบ้านของไทย รวมทั้งประเทศจีนล้วนแต่พวงมาลัยจะอยู่ทางซ้าย ซึ่งทั้งประเทศลาวและเวียดนามมักจะยกเป็นประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในลักษณะที่เป็น NTB กีดกันรถบรรทุกของไทย ที่มีการตกลงกันได้ก็จะมีเพียงรถขนส่งผู้โดยสาร นอกจากนี้ ทั้งประเทศไทยและลาว ยังจะต้องมีการหารือตกลงเกี่ยวกับการจัดการดูแลรักษาสะพาน โดยรถยนต์เก็บ 50 บาท , รถสิบล้อ 300 บาทและหัวลาก 500 บาท อย่างไรก็ตามสะพานได้เปิดใช้แล้ว หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนไทยควรจะต้องเร่งดำเนินการวางแผน การใช้ประโยชน์ของสะพาน รวมทั้งการมียุทธศาสตร์ทั้งเชิงรุกและเชิงรับต่อโอกาสและภัยคุกคามที่จะมาจากเส้นทางหมายเลข 9 ต้องอย่าลืมว่าเส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงไปสู่ประเทศจีน ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย อยู่ที่ว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์ที่จะใช้ประโยชน์ต่อสะพานและเส้นทางสายนี้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร โดยเส้นทางหมายเลข 9 จะไปสิ้นสุดที่เมืองดงฮาในประเทศเวียดนาม และสามารถใช้เส้นทางหมายเลข A1 ขึ้นไปทางเหนือจนถึงนครฮานอย ระยะทางประมาณ 700 กิโลเมตร จากนครฮานอย ซึ่งจะเป็น HUB โดยมีเส้นทางโยงเข้าสู่ประเทศจีน 3 ทาง คือทางเหนือ สามารถผ่านเมืองลังซอน เข้าไปในชายแดนประเทศจีนที่ผ่านด่านโยวยี่กวาน ผ่านเมืองผิงเสียวระยะทางประมาณ 174 กิโลเมตร ไปจนถึงนครหนานหนิง ในมณฑลกวางสี   ส่วนอีกเส้นทางหนึ่งจะแยกออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านเมืองไฮเดือง , เมืองฮาลองซิตี้ จนถึงเมืองชายแดนมองก๋าย   ซึ่งตรงข้าม คือ ด่านมองฮึง ของประเทศจีน ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงไปสู่ทางเรือกวางโจวและท่าเรือเซินเจิ้น อีกเส้นทางจากนครฮานอยไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปจนถึงเมืองเลาไก (Lao Cai) ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ข้ามชายแดนของจีนผ่านเมืองเหมิ่งจือ , ไดหยวน จนไปสู่นครคุนหมิง ซึ่งบริเวณชายแดนภาคเหนือทางเวียดนามมีการส่งเสริมให้เป็นเส้นทางการค้าเชื่อมโยงไปสู่ประเทศจีน โดยทางเวียดนามมีการกำหนดเศรษฐกิจพิเศษ ถึง 3 เขต และกำลังพัฒนาตัวด่านมองก๋าย ย้ายไปในที่แห่งใหม่ ที่เรียกว่า ด่านบักกรวนโครงการ 2 (Bac-luan) ที่น่าสังเกตเส้นทางจากมองก๋าย จะเป็นเส้นทางสินค้าที่ทั้งประเทศจีนและเวียดนามพยายามส่งเสริมให้เป็นประตูเชื่อมโยงโลจิสติกส์ทั้งด้านการขนส่งทางถนน , การขนส่งทางแม่น้ำ และการขนส่งชายฝั่งทะเลเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าประเภท SME และ Copy Brand และเป็นเส้นทางขนส่งยางพารา ยาสูบ โดยเฉพาะถ่านหิน ซึ่งเป็นเหมือนเปิดถ่านหินขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่ส่งไปขายให้ประเทศจีนและญี่ปุ่น โดยทาง NYK ซึ่งเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ข้ามชาติของประเทศญี่ปุ่นได้มีการลงทุนสร้างท่าเรือไว้รองรับการขนส่งทางทะเล ซึ่งเส้นทางนี้ดูเหมือนว่าทางเวียดนามจะให้ความสำคัญเพราะเป็นการเชื่อมโยงไปถึงมณฑลกวางตง ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมใหญ่ของจีน ซึ่งเวียดนามมองว่า สินค้าของตนสามารถเข้าไปแข่งขันด้านราคาในตลาดของจีนได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ภาครัฐและภาคธุรกิจของไทยจะต้องคำนึงและให้ความสำคัญต่อเส้นทางหมาย 9 ก็เนื่องจากสินค้าของจีนจากมณฑลกวางตง สามารถขนส่งค้าทางถนน ใช้เวลาประมาณ 7 วัน แม้ค่าขนส่งจะแพงกว่าทางเรือประมาณ 1.5 เท่า แต่ก็สามารถประหยัดเวลาได้มากกว่าเท่าตัว เพราะหากขนส่งทางเรือต้องใช้เวลาเกือบ 14 วัน โดยทางญี่ปุ่นนั้นได้ให้ความสำคัญ ทั้งด้านการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Logistics Park , ท่าเรือ และสถานีเปลี่ยนหัวลาก ตลอดเส้นทางตั้งแต่ชายแดนจีน ประเทศเวียดนาม รวมทั้ง สปป.ลาว จนถึงชายแดนประเทศไทย

           ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าในอนุภูมิภาคอินโดจีนและจีนตอนใต้ในอนาคตอันใกล้ เส้นทางถนนจะเป็นเส้นทางสำคัญ โดยทุกเส้นทางจะมุ่งสู่ประเทศจีน หรืออีกนับหนึ่งถนนทุกเส้นจะมุ่งสู่ประเทศไทยเป็น Landbridge ไปสู่ประเทศในอาเซียนทางใต้ ในการเข้าถึงเมืองภายในที่เป็นแบบ Door to Door ซึ่งจะมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนโลจิสติกส์โดยรวมถูกกว่าการขนส่งทางทะเล ซึ่งจะต้องมีค่าขนส่งและค่า Transit / Transfer สินค้าหลายทอด กว่าสินค้าจะส่งไปถึงเมืองชั้นในของภูมิภาค ซึ่งดูเหมือนว่าตรงนี้ ทั้งประเทศไทยและลาวจะได้ประโยชน์ในฐานะเป็น Co-Hub Link โดยประเทศไทยจะต้องเร่งทำข้อตกลงสินค้าผ่านแดนจากประเทศลาวไปประเทศที่สาม ซึ่งยังไม่ได้ตกลงกัน โดยไทยจะต้องใช้นโยบาย “อยู่ดีมีสุข” โดยไม่ให้มีความหวาดระแวง ซึ่งทางประเทศลาวนั้นมองว่าเส้นทางหมายเลข 9 ทางลาวจะไม่ได้ประโยชน์อะไร “นอกจากเศษขยะ และกระป๋องเปล่าของน้ำอัดลมที่จะทิ้งอยู่ข้างทาง” ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องมียุทธศาสตร์ในการใช้ประโยชน์ของเส้นทางที่เป็น Corridor Link กับประเทศลาวไปสู่ประเทศที่สาม ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางหมายเลข 9 หรือเส้นทางหมายเลข R3E ซึ่งทราบว่าได้มีการบรรลุข้อตกลงในการที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย (บริเวณไซด์ ซี ท่าดอนมหาวัน) กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ซึ่งเส้นทางก็จะไปเชื่อมกับนครจิ่งหง (สิบสองปันนา) และนครคุนหมิงของประเทศจีนเช่นกัน โดยเส้นทางเหล่านี้ รวมทั้งเส้นทางสาย 8 ซึ่งทราบว่าทางรัฐบาลตกลงที่จะให้มีการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 ในการเชื่อมจังหวัดนครพนมกับเมืองท่าแขกในแขวงคำม่วน โดยใช้เส้นทางหมายเลข 13 ไปเชื่อมกับทางหมายเลข 8 ผ่านเมืองหลักซาว จนไปออกด่านโกวโถวและเมืองวินซ์ของเวียดนาม เส้นทางเหล่านี้เมื่อบวกกับเส้นทางจากจังหวัดหนองคายข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 เชื่อมโยงจังหวัดหนองคายกับนครเวียงจันทน์  หากมีการส่งเสริมให้มีการบูรณาการจะก่อให้เกิดเส้นทางโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลต่อการค้าและขนส่ง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว รวมถึงการลงทุนซึ่งประเทศไทยก็อาจจะมีความได้เปรียบในฐานะที่มีประสบการณ์และมีฐานอุตสาหกรรมใหญ่ในการที่จะรองรับ ข้อสำคัญจะต้องมีการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเข้าด้วยกัน เนื่องจากประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ ล้วนมีประวัติศาสตร์และการเมืองที่แตกต่างจากประเทศไทย ซึ่งทั้งประเทศจีน เวียดนามและลาว นอกจากการติดต่อและทำข้อตกลงแบบรัฐต่อรัฐแล้ว ยังมีมณฑล , มีเจ้าแขวง และมีจังหวัด ซึ่งของเวียดนามผู้ว่าราชการจังหวัดของเขามีอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัดแบบของไทย ซึ่งรับคำสั่งจากส่วนกลาง โดยเฉพาะต้องเข้าใจในประเด็นที่ว่าประเทศเหล่านี้ยังคงเป็นประเทศสังคมนิยมเต็มรูปแบบ โดยมีพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะมีนโยบายและคุมเกมส์ทั้งทางเศรษฐกิจ , กฎหมาย , และการลงทุน อยู่หลังฉาก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้ Globalization ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศต่างๆในอนุภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งทุกประเทศล้วนมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเน้นทางการค้าและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประเทศลาว ซึ่งประวัติศาสตร์ในอดีตยังมีความทรงจำเป็นมรดกของประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดนโยบาย “การเหลียวหลังและระวังหน้า”  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องมีการคำนึงในการคบค้ากับประเทศเหล่านี้ ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องได้ประโยชน์ร่วมกันเป็น Win-Win Strategyจึงจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางขนส่ง การค้า และการลงทุนของอนุภูมิภาค และเป็นการคุ้มค่าต่อการที่ทุกประเทศ จะใช้ประโยชน์ร่วมกันจากสะพานข้ามแม่น้ำโขง สมกับที่เป็นสะพานแห่งมิตรภาพ...


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก