บทความเรื่อง :: รายงานวิเคราะห์ทิศทางของค่าเงินบาทปี 2550
 


สภาวะการณ์แข็งค่าของเงินบาท

โดยธนิต  โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

         การแข็งค่าของเงินบาท เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ได้มีการแข็งค่ามาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549 อันเป็นผลจากมีกระแสเงินดอลล่าร์ฯ ไหลเข้าสุทธิ (Net Capital Inflow) เข้ามาในตลาดเงิน , ตลาดทุน และตลาดตราสารหนี้ของไทยมากอย่างผิดปกติ โดยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนต่อจนถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ค่าเงินบาทได้มีการสวิงจนทะลุปิดตลาดเกือบไปแตะอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นการแข็งค่าที่เพิ่มขึ้นจาก 41.01 บาทต่อดอลล่าร์ ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ปลายปี 2548  ถึงร้อยละ 14.5 ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 8 ปี  และเป็นอัตราสูงกว่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค เช่น เงินหยวนของประเทศจีน ซึ่งมีอัตราแข็งค่าที่ร้อยละ 3.4  , เกาหลี ร้อยละ7.5 เงินริงกิตของมาเลเซียแข็งค่าร้อยละ 7.5 , สิงคโปร์ดอลล่าร์ ร้อยละ 8.1 และเงินยูโรดอลล่าร์แข็งค่าร้อยละ 9.5 จะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านี้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าไทยมากแต่กลับมีค่าเงินแข็งน้อยกว่าไทย แสดงว่าการแข็งค่าเงินบาทของไทยไม่ใช่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างแน่นอน ปัญหาค่าเงินบาทของไทยอยู่ตรงที่มีการแข็งค่ามากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค เป็นการแข็งค่าต่อเนื่องจากปี 2549 จะเป็นปัญหาสำคัญต่อการขาดทุนของผู้ส่งออกอย่างน้อยไปจนถึงกลางปี  ปี 2550 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้วัตถุดิบจากการนำเข้า หรือมี Local Content สูงจะได้รับผลกระทบมากไม่ได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของค่าเงิน ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ส่วนหนึ่งเกิดจากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทย มีอัตราที่ค่อนข้างสูงกว่าเพื่อนบ้าน ยกเว้นฟิลิปปินส์และประเทศอินโดนีเซีย (ซึ่งมีปัญหาเงินเฟ้อสูง) ทำให้มีเงินดอลล่าร์ไหลเข้ามามากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการเก็งกำไรของกองทุน Hedge Fund ต่างชาติ ทั้งนี้ การที่เงินบาทแข็งค่าและจะส่งผลให้ผู้ส่งออกขาดทุนก็จะไปกดราคาซัพพลายเออร์ในประเทศ หรือหันไปใช้วิธีนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ส่งผลให้การขาดดุลการค้าในปีนี้อาจจะเป็นลบ ซึ่งภาครัฐจะต้องทำความเข้าใจปัญหา และผลกระทบของการแข็งค่าของเงินบาทให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ การแก้ปัญหาอย่าใช้แต่เชิงวิชาการ โดยต้องเน้นการแก้ปัญหาให้เห็นผลระยะสั้นในการให้ค่าเงินบาทของไทย มีการแข็งค่าใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2550  ซึ่งไม่สามารถขยายตัวได้มากกว่าปีที่แล้ว ยังคงเป็นปัจจัยเกี่ยวกับค่าเงินบาทของไทย ซึ่งมีแนวโน้มค่อนข้างผันผวนไปในทิศทางปรับตัวแข็งค่า ทั้งนี้  นอกเหนือจากปัญหาการแข็งค่าของเงินสกุลบาทแล้ว ยังมีความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจโลกมีการชะลอตัว โดย IMF ได้คาดว่าเศรษฐกิจของโลกในปี 2550 จะมีการชะลอตัวอันเป็นผลจากการชะลอตัวของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.9 , ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ซึ่งจะมีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ประมาณร้อยละ 2.0 ขณะที่ประเทศจีนจะมีการส่งออกที่ชะลอตัวลง ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดส่งออก และส่งผลทำให้อุตสาหกรรมส่งออกบางกลุ่มได้รับผลกระทบ

สาเหตุซึ่งทำให้ค่าเงินบาทของไทยมีการแข็งค่า อาจมีปัจจัยได้ดังนี้
1. ประเทศไทยมีการส่งออกได้เกินกว่าเป้าหมาย โดยในปี 2549 สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 17.5 คิดเป็นมูลค่า 1.3 แสนล้านดอลล่าร์ โดยดุลการค้าเป็นบวกประมาณ 1,460 ล้านดอลล่าร์ และเงินดุลบัญชีเดินสะพัดก็เป็นบวกประมาณ 2,252 ล้านดอลล่าร์ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกทางจิตวิทยา ซึ่งส่งผลต่อการแข็งค่า แต่ปัจจัยนี้ก็ไม่น่ามีผลที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่าจนถึงอัตราปัจจุบัน ทั้งนี้  ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า เกิดจากมีเม็ดเงินดอลล่าร์สหรัฐฯที่เข้ามามากผิดปรกติ จนทำให้ทุนสำรองของไทยในช่วงปลายปี 2549 มีถึง 67,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าสูงสุดเท่าที่เคยมี อย่างไรก็ตามเงินที่เข้ามาในระยะหลังมีทั้งเป็นการเก็งกำไรในระยะสั้น และส่วนหนึ่งจากการขายบาท เพื่อซื้อดอลล่าร์ของ ธปท.
2. ความอ่อนแอของโครงสร้างและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเมริกา ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯอันเป็นผลจากการขาดดุลบัญชีสะพัด ในปีที่แล้วประมาณ 8.7 แสนล้านดอลล่าร์ ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายปี โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ร่วงลงกว่า 30% ถึงแม้ว่า FED จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักต่อนักลงทุนต่างชาติที่ยังมีการนำเงินดอลล่าร์ออกนอกประเทศ  นอกจากนี้ปัญหาฟองสบู่ที่ปริของระบบอสังหาริมทรัพย์และการชะลอตัวของการบริโภคของคนอเมริกัน ทั้งหมดส่งผลต่อการไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและต่อค่าเงินดอลล่าร์ ทำให้นักลงทุนสหรัฐฯและกลุ่มประเทศซึ่งถือครองเงินดอลล่าร์สหรัฐฯสูงหันไปถือครองเงินสกุลอื่น ทั้งในด้านทุนสำรองและการลงทุนส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์ในตลาดเงินทั่วโลกมีการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว
3. ความไม่สมดุลของระบบการเงินโลก ส่งผลต่อสภาวะเงินดอลล่าร์ท่วมโลก โดยอุปทานเงินดอลล่าร์สหรัฐฯที่ผ่านมา 3-4 ปี มีการเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 18 ต่อปี ก่อให้เกิดการไหลของเงินเข้ามาเก็งกำไรจากกองทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตราสารเงินกู้และตลาดหุ้นเอเชีย ก่อให้เกิดการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค  อันเป็นผลจาก ดอกเบี้ย RP 1 วัน ของไทยอยู่ที่ 4.75% ใกล้เคียงกับ FED อยู่ที่ 5.25 ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นและมีการนำเงินดอลล่าร์เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกู้ ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการในการห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายดอกเบี้ยหรือขายหุ้นกู้ให้กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศแต่การที่ยังมีระบบนอมินีทำให้แก้ปัญหาไม่ได้มากนักจึงทำให้มีการนำเงินดอลล่าร์เข้ามามาก
4. นักลงทุนต่างชาติมีการเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้และพันธบัตรรัฐบาล โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวของไทย(10 ปี) มีอัตรา Yield ร้อยละ 4.88-5.1 ซึ่งสูงกว่าประเทศต่างๆในภูมิภาค (ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย)  โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ขาย ซึ่งการ Inbound เงินดอลล่าร์สหรัฐฯเข้ามาในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง ทั้งในรูปเงินลงทุนระยะสั้น , เงินกู้ยืมและการซื้อตราสารหนี้ประเภทต่างๆ  โดยการเก็งกำไรอาจมีการผลักดันให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงบางช่วง นักลงทุนก็ได้กำไรจากส่วนต่าง โดยยอดตราสารหนี้ภาครัฐที่ NR หรือนอนเรสิเดนท์ ถืออยู่จนถึงปลายปีที่แล้ว มีประมาณ 3,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพิ่มจากต้นปีที่มีประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1.75 เท่า โดยนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยไล่เรียงลำดับได้ดังนี้ นักลงทุนจากเกาะบริติชเวอร์จิ้นจะเป็นกลุ่มที่เข้ามามากที่สุดเกือบครึ่งหนึ่ง , รองลงมาจะเป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ , กลุ่มกองทุนจากประเทศสหรัฐฯ , นักลงทุนชาวสวิส , นักลงทุนจากฮ่องกง และออสเตรีย ตามลำดับ
5. การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ บางส่วนเป็นลักษณะการเก็งกำไรผ่านการซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ โดยมีสัญญาขายคืนในระยะสั้น ที่เรียกว่า Sell – Buy – Back  ซึ่งเป็นความพยายามหลีกเลี่ยงข้อห้ามของผู้ Non-Resident ซึ่งเป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความร่วมมือ  โดยยอดคงค้างของตราสารหนี้ระยะสั้น (Commercial Paper) ช่วงปลายปีที่แล้ว มีจำนวนกว่า 200,000 ล้านบาท เพิ่มจากต้นปีที่มียอดคงค้างเพียง 30,000 ล้าน โดยมาตรการสำรองเงิน 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549 ซึ่งส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าในช่วงต้นประมาณ 3% แต่ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2550 ทิศทางของค่าเงินบาทก็มีแนวโน้มกลับไปแข็งค่าที่ 35.98-36.0 ซึ่งค่าเงินของไทยก็ยังคงแข็งค่าอยู่ที่ร้อยละ 14.0
อย่างไรก็ตาม จากมาตรการต่างๆ ซึ่งภาครัฐออกมาในช่วงนี้ เช่น การสำรองเงิน 30% สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้และมาตรการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของนักธุรกิจต่างชาติ หรือที่เรียกว่า กฎหมายนอมินี รวมทั้ง ปัญหาความมั่นคงภายใน อาจส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการชะลอการลงทุนและอาจถึงขึ้นมีการถอนทุนกลับ ก็อาจส่งผลต่อความผันผวนของค่าเงินบาท ทำให้เงินบาทกลับอ่อนค่าดิ่งลงเกินความพอดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามใกล้ชิด

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท

           จากผลการสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 52.17  จะเริ่มได้รับผลกระทบที่อัตราแลกเปลี่ยน 37-38 บาทต่อดอลล่าร์ แต่หากค่าเงินไปอยู่ที่ระดับ 33-34 บาทต่อดอลล่าร์ ผู้ส่งออกกว่าร้อยละ 86.7  จะได้รับผลกระทบ  โดยธุรกิจส่งออกกว่าร้อยละ 35.5 เป็นผู้ส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด และร้อยละ 58 เป็นผู้ส่งออก ซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศร้อยละ 71 และมีการนำเข้าร้อยละ 29 ซึ่งธุรกิจเหล่านี้รวมกันคิดเป็นตัวเลขงบประมาณกว่าร้อยละ 90 ก็จะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งประเด็นนี้นับเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องให้ความใส่ใจ เนื่องจากภาคการส่งออกมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศ ถึงร้อยละ 67 ต่อ GDP และมีการใช้แรงงานประมาณ 5.5 -6.0 ล้านคน โดยผลกระทบจากการแข็งค่า อาจประกอบด้วย
1. ผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาค โดยคาดว่าในสิ้นสุดของไตรมาสที่ 1 อุตสาหกรรมส่งออกประมาณร้อยละ 65 คาดว่าการส่งออกจะลดลง หรือไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกของไทยมีการชะลอตัวลง ร้อยละ 9-10 เมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 17.5 ซึ่งจะส่งผลให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2550 จะอยู่ที่ร้อยละ 4.5-5.0 อันเป็นผลจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท รวมทั้ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่ชะลอตัวเหลือร้อยละ 3.5-4.0 อันเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ที่คาดว่าจะมีการชะลอตัวประมาณร้อยละ 2 (กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าการส่งออกปี 2550 ไว้ที่ร้อยละ 12.5)
2. ผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ส่งออก โดยร้อยละ 86.7 ของผู้ส่งออกคาดว่าหากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นไปถึง 33-34 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่อยากจะให้ ธปท. แทรกแซงค่าเงินให้อยู่ในอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 38 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นอย่างน้อย
3. ผลกระทบที่มีต่อผู้ประกอบการจะมีทั้งในด้านบวกและด้านลบ โดยผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำเข้า (Import Content) จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าเพราะจะทำให้ต้นทุนของสินค้านำเข้ามีราคาลดลง ส่วนผู้ประกอบการซึ่งมีทั้งการนำเข้าเพื่อมาผลิตและส่งออก จะได้รับผลกระทบทางลบมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบต่อการใช้วัตถุดิบในประเทศว่าแบบใดจะเป็นสัดส่วนมากกว่ากัน
4. ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจะเป็นผู้ส่งออกที่มี Local Content สูง หรือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งได้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกษตรหรืออุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และประมงแปรรูป ซึ่งภาครัฐน่าจะมีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยเหลือ เช่น การเพิ่มอัตราเงินชดเชยมุมน้ำเงินจากการส่งออก
5. กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ซึ่งมีการใช้วัตถุดิบภายในกว่าร้อยละ 60 , อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ใช้วัตถุดิบนำเข้าประมาณร้อยละ 50 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ยาง ใช้วัตถุดิบภายในประเทศกว่าร้อยละ 90,อุตสาหกรรมอาหารจะใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 (ยกเว้นอุตสาหกรรมส่งออกปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง) , อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ วัตถุดิบส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบจากภายในประเทศ ฯลฯ

แนวทางในการรับมือเกี่ยวกับความผันผวนของเงินบาท
1. กระจายตลาดสินค้าส่งออก เพื่อที่จะลดสัดส่วนรายได้ในรูปเงินสกุลดอลล่าร์ฯ และหันไปเพิ่มน้ำหนักรายได้ในรูปเงินตราสกุลอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีค่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์ฯ เช่น เงินในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเงินเยน พร้อมทั้ง เพิ่มสัดส่วนการขายในประเทศและหาตลาดใหม่ๆให้มากขึ้น
2. การกระจายความเสี่ยง โดยการนำเข้าวัตถุดิบและการ Outsources เป็นการเปลี่ยนวิธีบริหารจัดการภายในโซ่อุปทาน โดยลดการผลิตจากการพึ่งพา Local Content แต่เพียงอย่างเดียว โดยปรับเปลี่ยนเป็นการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศหรือ Outsources การผลิตบางขั้นตอนไปให้กิจกรรมภายนอก ซึ่งมีต้นทุนผลิตที่ต่ำกว่า เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่วิธีนี้ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งอยู่ในโซ่อุปทานและทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการขาดดุลการค้า
3. การซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward Exchange) เพื่อรอจังหวะช่วงเวลาที่เหมาะสมในการที่จะขายเงินดอลล่าร์ล่วงหน้า  อีกทั้งการเร่งเวลาชำระเงินจากการขาย/ส่งออก และแปลงหนี้สกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินบาท และขายลดหนี้ให้กับสถาบันการเงิน รวมถึงการหันมาใช้ระบบ Off-Set Balance สำหรับค่าสินค้าส่งออก/วัตถุดิบนำเข้า
4. เจรจาการปรับราคาพร้อมกับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง โดยการสร้างเอกลักษณ์และตราสินค้าเป็นของตนเอง เน้นการวิจัยและพัฒนา และการออกแบบสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดล่าง ซึ่งเป็นการผลิตโดยใช้แรงงานเป็นหลัก
5. ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการเพิ่ม Productivity และการนำระบบการจัดการโลจิสติกส์ที่เป็น Best Practice มาใช้ในการลดต้นทุนสินค้าคงคลังและการส่งมอบสินค้า และการเชื่อมโยงภายในอุตสาหกรรมให้เป็นระบบ Supply Chain  เพื่อลดต้นทุนการผลิต
6. ต้องมีการวางแผนระยะยาว เช่น พิจารณาย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังแหล่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า หรือถูกกระทบจากแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลล่าร์น้อยกว่า เช่น การย้ายฐานการผลิตสินค้าประเภทที่ใช้แรงงานเป็นหลักไปตามตะเข็บชายแดน เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า ฯลฯ รวมทั้ง ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม ดังกรณีของญี่ปุ่นที่ได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่เงินเยนได้ประสบกับการแข็งค่าขึ้นมาก

สรุปทิศทางแข็งค่าของเงินบาทจากนี้ไป
ทิศทางของค่าเงินบาทไทยในช่วงนี้จนถึงสิ้นสุดไตรมาสที่ 2 จะมีความแปรปรวนยากที่จะคาดเดา อันเกิดจาก
ประการแรก  สภาวะเงินดอลล่าร์สหรัฐ มีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลง อันเกิดจากโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ขาดความเชื่อมั่น ทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์มีราคาตก ประชาชนสหรัฐฯลดการใช้จ่าย ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ  อาจเหลือเพียงร้อยละ 1.9  นอกจากนี้การที่ประเทศต่างๆได้เริ่มโยกย้ายทุนสำรองออกจากดอลล่าร์สหรัฐฯ เข้าไปสู่เงินสกุลยูโรและสกุลเยนของญี่ปุ่นรวมทั้งการสำรองเป็นทองคำ โดยเฉพาะประเทศจีนและกลุ่มประเทศ OPEC 
ประการที่สอง สหรัฐฯขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2549 ประมาณ 8.7 แสนดอลล่าร์สหรัฐ และมีหนี้เพิ่มประมาณ 1.6 ล้านล้านดอลล่าร์ ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางการแข็งค่าเงินบาทของไทยในปี 2550 
ประการที่สาม ทิศทางสถานการณ์ของค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องไปอีก โดยนักลงทุนสหรัฐฯจะโยกเงินไปลงทุนนอกประเทศ โดยเฉพาะเอเชีย โดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆกำลังโยกย้ายเงินดอลล่าร์โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งถือครองเงินดอลล่าร์มากที่สุด ถึง 1.22 ล้านล้านดอลล่าร์ ซึ่งทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้เงินดอลล่าร์ยังมีการอ่อนค่าลงไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี IMF ได้รายงานว่า สัดส่วนการถือครองเงินดอลล่าร์ในทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศยังเป็นร้อยละ 65.6  ดังนั้น การจะโยกไปสำรองเงินในสกุลอื่น จึงต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะการที่เงินดอลล่าร์อ่อนค่าลงก็จะกลับเป็นผลกระทบกับการด้อยค่าลงของเงินทุนสำรองของประเทศเหล่านั้น
ประการที่สี่  ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED จากการประชุมเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2550 ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายธนาคารสหรัฐ อาจมีการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยจากระดับร้อยละ 5.25 โดยคาดว่าอาจมีการลดดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.25 ซึ่งเป็นการคาดการณ์ของ Financial Time ซึ่งวิเคราะห์ว่าจะก่อให้เกิดแรงกดดันให้ดอลล่าร์มีการเทขายออกนอกประเทศ เพื่อจะทำให้ดอกเบี้ยสหรัฐฯและดอกเบี้ยในประเทศหลักอื่นๆ มีช่องว่างที่แคบลง ได้แก่ ดอกเบี้ยของประเทศอังกฤษอยู่ที่ร้อยละ 5 ยุโรปปัจจุบันอัตรา 3.25 และมีแนวโน้มที่จะปรับเป็นร้อยละ 3.5  ขณะที่ดอกเบี้ยของเอเชียเฉลี่ยประมาณ 2.5-3.5 โดยหลายฝ่ายคาดว่า FED น่าจะลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 5 ภายในเดือนมีนาคม 2550


         จากเหตุผลข้างต้นแนวโน้มของค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ น่าจะมีทิศทางไปในทางแข็งค่ามากกว่าอ่อนค่า โดยในช่วง 15 วันของเดือน มกราคม เงินบาทค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ระดับ 35.85-36.20 บาทต่อดอลล่าร์ โดยมีอัตราเฉลี่ยที่ประมาณ 36.080 บาท โดยทาง สศช. คาดว่าค่าเงินบาทในปีนี้น่าจะเฉลี่ยที่ 36-37 บาทต่อดอลล่าร์ ซึ่งหากเทียบจากปลายปีก็แข็งค่าประมาณ ร้อยละ 10.97 หรือเป็นการแข็งค่าที่ลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวันที่ 19 ธันวาคม ประมาณร้อยละ 24.30 ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาของ ธปท. ก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่ผลข้างเคียงก็กำลังออกอาการอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ จากการที่เศรษฐกิจของไทยมีการเชื่อมโยงในระบบการเงินของโลก  ประเด็นที่จะต้องจับตาในปีหน้าก็คือการปรับดอกเบี้ยของ Fed Funds  ซึ่งเป็นธนาคารกลางของสหรัฐฯ โดยคณะกรรมการกำหนดนโยบายธนาคารกลางสหรัฐฯ (FMOC) จะมีการประชุมเกี่ยวกับดอกเบี้ยอีกครั้งในวันที่ 31 มกราคม 2550 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในวันที่ 17 มกราคม 2550 ได้เปลี่ยนไปใช้ดอกเบี้ยซื้อคืน(RP) ระยะ 1 วัน ซึ่งปัจจุบันมีดอกเบี้ยร้อยละ 4.9625 โดยทาง ธปท. ได้ปรับลดเหลือร้อยละ 4.75   อย่างไรก็ดี ก็มีกระแสว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะมีการพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยอีก หากทาง FED มีการลดลงดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 เพื่อลดกระแสเงิน Capital inflow เข้ามาในระบบการเงินของไทย ซึ่งจะเป็นแรงกดดันให้เงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นไปอีก 

         ทั้งนี้ นโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงแม้ว่า ไม่ได้มีเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพของเงินบาทโดยเฉพาะ แต่ต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทที่ผ่านมามีการปรับตัวแข็งค่าอย่างมาก ในอัตราที่มากกว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคนี้ และเป็นแรงกดดันต่อความลำบากของการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม หากมองด้วยความเป็นธรรมจะเห็นว่าที่ผ่านมาทาง ธปท. มีความพยายามที่จะเข้าไปช่วยแทรกแซงไม่ให้ค่าของเงินบาทแข็งค่าเกินไป โดยในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ค่าเงินบาทได้มีการแข็งค่าไปจนถึง 35 บาทต่อดอลล่าร์ โดย ธปท. ได้มีมาตรการสำรองเงินในอัตราร้อยละ 30 สำหรับการเข้ามาทำธุรกรรมในตลาดการเงิน เพื่อแก้ปัญหาการเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท และตราสารหนี้จนส่งผลกระทบข้างเคียงต่อตลาดหุ้นและการลงทุนทางตรง ซึ่งในวันเดียวกัน (วันที่ 19 ธันวาคม 2549) ทาง ธปท. ก็ประกาศยกเลิก คงเหลือแต่มาตรการสำรองเงินในตราสารหนี้ อีกทั้งที่ผ่านมาทาง ธปท. ได้เข้าไปซื้อดอลล่าร์จำนวนมาก เพื่อพยุงค่าไม่ให้เป็นบาทแข็งค่า โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2549 ธปท. มีผลขาดทุนที่เกิดขึ้นถึง 138,500 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทในช่วงระยะสั้นๆ ค่อนข้างมีการผันผวนและคาดเดายาก อันเกิดจากมาตรการของ ธปท. เกี่ยวกับการยังคงสำรองร้อยละ 30 เป็นเวลา 6 เดือน สำหรับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ (Bond) และการกู้เงินจากต่างประเทศจะต้องสำรองเป็นเวลา 1 ปี ทำให้ต้นทุนในการลงทุนของต่างชาติสูงขึ้นจาก Implied Interest ประมาณร้อยละ 16.0 อาจส่งผลต่อการชะลอการลงทุนและส่งผลต่อเงินทุนไหลออก (Capital Outflow)  นอกจากนี้ จากสถานการณ์ลอบวางระเบิดในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 โดยเฉพาะมาตราเกี่ยวกับร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการครอบงำการออกเสียงโหวตของผู้ถือหุ้นแทน ที่เรียกว่า “นอมินี” ได้ก่อให้เกิดการกังวลให้กับนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศ รวมทั้ง นักลงทุนซึ่งกำลังจะเข้ามาลงทุนใหม่ได้ส่งผลต่อการขาดความเชื่อมั่นต่อแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาลไทย อาจส่งผลต่อการชะลอการลงทุน ซึ่งจะทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลออก จะส่งผลต่อการอ่อนค่าของเงินบาทจนเกิดสมดุลและเกินความสามารถของ ธปท. ที่จะควบคุม   โดยระยะสั้นภาครัฐควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนของต่างชาติ ว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาว และเร่งแก้ปัญหาความมั่นคงทางการเมือง และเร่งยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดวันให้ชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อใด ขณะเดียวกันภาคธุรกิจต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องยากที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปแบกรับความเสี่ยงในการช่วยเหลือผู้ส่งออกแต่เพียงด้านเดียว เพราะการที่เงินบาทอ่อนค่าเกินไปก็จะส่งผลต่อราคานำเข้าสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นต้นทุนทั้งด้านพลังงาน และขนส่ง นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนยังส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งที่สุดก็จะส่งผลต่อเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเหมือนเมื่อช่วงต้นปี 2549 ซึ่งเงินเฟ้อพุ่งไปถึงร้อยละ 6.0 ก่อนที่จะกลับมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในปัจจุบัน และจะส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าเกินความสมดุล
           จากบทเรียนของวิกฤติปี 2540 ที่เกิดจากเงินบาทอ่อนค่าลง หากเงินบาทเกิดกลับทิศทางในทางตรงกันข้ามก็จะต้องมีมาตรการเชิงรับมือทั้งในด้านที่แข็งค่าเกินไป และการอ่อนค่าจนเกินความสมดุล แต่หากจะให้คาดเดาทิศทางของเงินบาท จากนี้จะมีแนวโน้มไปทางไหน อาจคาดการได้ว่า หากไม่มีเหตุวินาศภัยจากการวางระเบิด และความวุ่นวายของบ้านเมือง รวมทั้ง การแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับมาตรการของ ธปท. และร่างกฎหมายนอมินี ทิศทางเงินบาทจะต้องแข็งค่าต่อไป เพราะเป็นไปตามอุปทานของดอลล่าร์สหรัฐฯที่มีปริมาณท่วมโลก อันเกิดจากเริ่มมีสัญญาณการปริของเศรษฐกิจฟองสบู่ อสังหาริมทรัพย์ของประเทศสหรัฐอเมริกา อีกทั้ง แนวโน้มที่ FED จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยหรืออย่างมากก็จะตรึงราคาดอกเบี้ย (Yield) พันธบัตร (10Y) ซึ่งปัจจุบันมีผลตอบแทนร้อยละ 4.749 ขณะที่พันธบัตรของไทย เมื่อกลางเดือน มกราคม เป็นร้อยละ 5.130 ซึ่งหลังจากปรับลดตามดอกเบี้ย RP ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 4.88 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงอยู่ดี  ก็จะเป็นปัจจัยให้มีการไหลทะลักของเงินดอลล่าร์เข้ามาในภูมิภาคตลาดเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย สิ่งที่ภาคเอกชนอยากจะให้ภาครัฐเห็นก็คือ ขอให้เข้าใจถึงผลกระทบของค่าเงินบาท การที่ขยายการเติบโตของการส่งออกภายใต้การประสบกับการขาดทุนของผู้ส่งออกส่วนใหญ่จะไม่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ขอให้ ธปท. มีการเตรียมการพิจารณามาตรการต่างๆในการดูแล ความผันผวนของค่าเงินของไทย โดยผู้ส่งออกเรียกร้อง ขอเพียงอย่าให้เงินบาทไทยแข็งค่าเกินเพื่อนบ้านมากเกินไปเท่านั้นก็พอ..

 


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก