บทความเรื่อง :: รายงานสถานะเศรษฐกิจไทยปี 2550 -มกราคม 2
 


โดยธนิต  โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

          ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย ประการแรก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยคือสหรัฐอเมริกา ที่มีปัญหาด้านการชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์ จะกลายเป็นปัญหาบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดย IMFได้พยากรณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะโตไม่เกิน ร้อยละ 1.9-2.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 2549  และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกร้อยละ 4.5 แต่ทางองค์การสหประชาชาติหรือ UN คาดว่าเศรษฐิจสหรัฐฯ จะเติบโตประมาณร้อยละ 2.2 และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 แนวโน้มการส่งออกของไทยคงขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 9-10 ประการที่สอง การผันผวนของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติในเงินสกุลบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาทซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งค่าเงินบาทมีแนวโน้มในการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากกระบวนการเก็งกำไรค่าเงินในเอเชีย จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องมีมาตรการสำรองเงินตราต่างประเทศร้อยละ 30 สำหรับสถาบันการเงินที่มีการรับซื้อขายพันธบัตรและตราสารหนี้ ซึ่งส่งผลให้เงินบาทมีการอ่อนตัวบ้างเล็กน้อยโดยในช่วงกลางเดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ 35.98 – 36.0 บาทต่อดอลล่าร์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ส่งออกไทยอยากจะเห็นควรอยู่ที่เกินระดับ 37.0 ถึง 37.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯหรือหากจะแข็งค่าก็ควรจะอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศคู่แข่ง  ประการที่สาม ความสามารถในการควบคุมความมั่นคงภายในของรัฐบาล อันเกิดจากสถานการณ์เหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ  ประการที่สี่ การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและผู้บริโภค ที่ผ่านมาจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนและตลาดหุ้น รวมทั้งปัญหาความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างชาติเป็นงานหลักที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งด้านข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติซ้อน การเร่งแก้ไขปัญหาป้องกันเหตุร้ายและความไม่สงบ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยว มิฉะนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะต่ำกว่าร้อยละ 3 และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างจนอยากที่จะแก้ปัญหา ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ รัฐบาลและ ธปท. จะเร่งสร้างความมั่นใจ เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินของประเทศ ถึงแม้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการผ่อนปรนจากมาตรการคุมเข้มจากการสำรองเงินตราต่างประเทศร้อยละ 30 สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นและการลงทุนโดยตรง คงเหลือเฉพาะการลงทุนจาก Off Shore ในตลาดตราสารหนี้ แต่นักลงทุนต่างประเทศยังขาดความเชื่อมั่นเนื่องจากการไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงมาตรการคุมเข้มภายในวันเดียว คือประกาศเช้า ก็ยกเลิกช่วงเย็น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติรอดูท่าทีการแก้ปัญหาอยู่ภายนอกประเทศ  ประการที่ห้า  แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2550 จะพึ่งพิงกับการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะทดแทนจากการชะลอตัวของการส่งออก  แต่จากประเด็นวินาศกรรม หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคอย่างรุนแรง โดยจะส่งผลให้การบริโภคลดลงราวร้อยละ 10 และการลงทุนจากต่างประเทศลดลงประมาณ 25,000 ล้านบาท


ฟันธงเศรษฐกิจไทยปี  2550

          สำหรับกรณีของผู้วิเคราะห์ มองว่า การคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจในปี 2550 จะเป็นการคาดและเดาที่ยากกว่าทุกๆปี เพราะมีปัจจัยตัวแปรที่ไม่คงที่  ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก จากปัญหาการผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งเกิดจากการเก็งกำไรของ Hadge fund และการถอนเงินลงทุนจากประเทศไทยของนักลงทุน รวมทั้ง ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกประมาณร้อยละ 3.5-4.0 ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สหรัฐฯ , ยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.9-2.0 หรือต่ำกว่านี้ ซึ่งอาจทำให้มีทั้งการแข็งค่าและอ่อนค่าของค่าเงินบาท โดยคาดว่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าไปอยู่ที่เฉลี่ย 35.5-36.5 ดอลล่าร์สหรัฐฯ  นอกจากนี้ความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง ความสามารถของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคง อย่างไรก็ตาม หลายสำนักออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน  คือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.5-5.0 โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ที่การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศไม่ใช่จากการส่งออก ซึ่งภาคการส่งออกน่าจะโตร้อยละ 9-11  ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับ (1) ความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ (2) การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญและการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน (3) มาตรการการควบคุมความสมดุลของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ต่อสถานการณ์ผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งมีแนวโน้มในการแข็งค่า ขณะที่มีโอกาสที่จะผันผวนในการอ่อนค่า โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องมีมาตรการที่ทันต่อเหตุการณ์และไม่เรรวน (4) การสร้างความมั่นใจในการลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับมาตรการต่างๆของภาครัฐ ซึ่งค่อนข้างออกมาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน (5) มาตรการในการเร่งรัดการบริโภค โดยเฉพาะการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ (6) ให้มีมาตรการในการร่วมมือกับผู้ประกอบการในการส่งเสริมการส่งออกให้เกินกว่าร้อยละ12 โดยหากสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5-5 แต่หากสถานการณ์ความวุ่นวายและประเด็นทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน การเติบโตเศรษฐกิจของไทยในปี 2550 ก็อาจจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0-4.0 โดยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้และเศรษฐกิจของประเทศไทยยังน่ารักษาการเติบโตได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก