บทความเรื่อง :: รายงานสถานะเศรษฐกิจไทยปี 2550 -มกราคม-1
 


โดยธนิต  โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

            เศรษฐกิจของประเทศไทยในรอบปี 2549 ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤติมากมาย ซึ่งต่างโหมกระหน่ำทั้งจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2548  จนกลายเป็นวิกฤติราคาน้ำมันสูงสุดในช่วงเดือนกรกฎาคม 2549 แตะระดับ 75-80 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาเรล  ส่งผลให้ค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจนอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในช่วงต้นปีมีอัตราที่พุ่งขึ้นไปถึงร้อยละ 6.1 ตามมาด้วยในช่วงเดือนกันยายน คณะทหารได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศจากรัฐบาลของอดีตนายกทักษิณฯ ซึ่งทำให้ประเทศตะวันตกมีท่าทีกังวลต่อรัฐบาลใหม่ของนายกสุรยุทธ์ฯ ซึ่งมี คมช. เป็นแบ็คอยู่ด้านหลัง โดยกดดันและเร่งให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ลดไปกว่าครึ่งจากเป้าหมายของ BOI  ผลของการเปลี่ยนแปลงการบริหารประเทศ ทำให้มีการชงักงันของการทำข้อตกลง FTA กับประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ เศรษฐกิจของไทยยังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่มีการแข็งค่าถึงร้อยละ 14.5 – 15 เมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงปลายปี 2548 ทั้งนี้ การแข็งค่าของค่าเงินบาทของไทยในช่วงปลายปี 2549 ไปอยู่ที่ใกล้เคียง 35 บาทต่อดอลล่าร์ และมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้ามาเก็งกำไรของกองทุน Hadge Fund ในการซื้อพันธบัตรและตลาดเงิน ส่งผลกระทบต่อการขาดทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ทำให้ในช่วงวันที่ 19 ธันวาคม ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีมาตรการสำรองเงิน 30% สำหรับต่างชาติที่จะเข้าลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุน ส่งผลให้กองทุนต่างชาติมีการถอนทุนกลับในวันเดียวเกือบ 800,000 ล้านบาทและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดไป 104 จุด ทำให้ในวันเดียวกันทาง รมต.คลัง ก็ประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าวคงเหลือเฉพาะการสำรองเฉพาะการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งปัจจุบันมีผลตอบแทนร้อยละ 5.1 

          ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลงเล็กน้อย กอร์ปกับ สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีแนวโน้มทวีความรุนแรงต่อเนื่องมาเกือบ 3 ปี และยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้เมื่อใด นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ ส่งผลให้ 47 จังหวัดทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบ  ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเชิงลบส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทย อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงปี 2549 ก็ยังสามารถขยายตัวในอัตราที่น่าพึงพอใจ โดยภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้ 17.5% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 130,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยดุลการค้าน่าจะเป็นบวกประมาณ 1,460 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และเงินดุลบัญชีสะพัดก็เป็นบวกประมาณ 2,252 ล้านดอลล่าร์  กอร์ปกับราคาน้ำมัน (ดูไบ) ที่มีแนวโน้มลดลงมาอยู่ในอัตราเฉลี่ยประมาณ 50-55 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาเรล ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมาอยู่ที่ระดับที่ 4.6 โดยเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีที่แล้วยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5 ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นปี 2549 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 67,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เข้าซื้อดอลล่าร์อย่างมาก เพื่อพยุงค่าเงินบาท โดยในช่วง 11 เดือนของปี 2549 ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งการแทรกแซงของธนาคารชาตินี้ พบว่ามีผลขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินบาทแล้วถึง 138,500 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญที่มีส่วนต่อการส่งเสริมเศรษฐกิจไทยในปีที่แล้ว ประกอบด้วย โครงสร้างอุตสาหกรรมการส่งออกและโครงสร้างภาคบริการ โดยเฉพาะจากการท่องเที่ยว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2549
คาดการสภาวะทั่วไปของเศรษฐกิจปี 2550

          ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย ประการแรก เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยคือสหรัฐอเมริกา ที่มีปัญหาด้านการชะลอตัวของอสังหาริมทรัพย์ จะกลายเป็นปัญหาบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก โดย IMFได้พยากรณ์การขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะโตไม่เกิน ร้อยละ 1.9-2.0 จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 2549  และการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกร้อยละ 4.5 แต่ทางองค์การสหประชาชาติหรือ UN คาดว่าเศรษฐิจสหรัฐฯ จะเติบโตประมาณร้อยละ 2.2 และเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียงร้อยละ 3.2 แนวโน้มการส่งออกของไทยคงขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 9-10 ประการที่สอง การผันผวนของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติในเงินสกุลบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาทซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้ ซึ่งค่าเงินบาทมีแนวโน้มในการแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง อันเกิดจากกระบวนการเก็งกำไรค่าเงินในเอเชีย จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องมีมาตรการสำรองเงินตราต่างประเทศร้อยละ 30 สำหรับสถาบันการเงินที่มีการรับซื้อขายพันธบัตรและตราสารหนี้ ซึ่งส่งผลให้เงินบาทมีการอ่อนตัวบ้างเล็กน้อยโดยในช่วงกลางเดือนมกราคม 2550 อยู่ที่ 35.98 – 36.0 บาทต่อดอลล่าร์ โดยอัตราแลกเปลี่ยนที่ผู้ส่งออกไทยอยากจะเห็นควรอยู่ที่เกินระดับ 37.0 ถึง 37.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯหรือหากจะแข็งค่าก็ควรจะอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศคู่แข่ง  ประการที่สาม ความสามารถในการควบคุมความมั่นคงภายในของรัฐบาล อันเกิดจากสถานการณ์เหตุวินาศกรรมเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ  ประการที่สี่ การสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและผู้บริโภค ที่ผ่านมาจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติในตลาดทุนและตลาดหุ้น รวมทั้งปัญหาความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างชาติเป็นงานหลักที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งด้านข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติซ้อน การเร่งแก้ไขปัญหาป้องกันเหตุร้ายและความไม่สงบ ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การลงทุนและการท่องเที่ยว มิฉะนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะต่ำกว่าร้อยละ 3 และส่งผลกระทบเป็นวงกว้างจนอยากที่จะแก้ปัญหา ซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ นอกจากนี้ รัฐบาลและ ธปท. จะเร่งสร้างความมั่นใจ เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินของประเทศ ถึงแม้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีการผ่อนปรนจากมาตรการคุมเข้มจากการสำรองเงินตราต่างประเทศร้อยละ 30 สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นและการลงทุนโดยตรง คงเหลือเฉพาะการลงทุนจาก Off Shore ในตลาดตราสารหนี้ แต่นักลงทุนต่างประเทศยังขาดความเชื่อมั่นเนื่องจากการไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงมาตรการคุมเข้มภายในวันเดียว คือประกาศเช้า ก็ยกเลิกช่วงเย็น ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติรอดูท่าทีการแก้ปัญหาอยู่ภายนอกประเทศ  ประการที่ห้า  แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนในประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยในปี 2550 จะพึ่งพิงกับการบริโภคในประเทศ ซึ่งจะทดแทนจากการชะลอตัวของการส่งออก  แต่จากประเด็นวินาศกรรม หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคอย่างรุนแรง โดยจะส่งผลให้การบริโภคลดลงราวร้อยละ 10 และการลงทุนจากต่างประเทศลดลงประมาณ 25,000 ล้านบาท


แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจไทย ปี 2550

           แม้ว่าในปี 2550 หลายฝ่ายยังเชื่อว่าเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะมีการขยายตัวแบบชะลอตัวลง ในครึ่งปีแรก และอาจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งปีหลัง โดยประชาชนและนักธุรกิจยังเชื่อมั่นและฝากความหวังไว้กับรัฐบาลจะสามารถคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงและความเชื่อมั่นทางการเมือง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดสภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง โดยแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลงทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน และการท่องเที่ยว จะเป็นการชะลอตัวเป็นการชั่วคราวในไตรสามที่ 1 หรือไตรมาสที่ 2 ของปี ซึ่งหากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และกำหนดวันเวลาของการเลือกตั้งให้ชัดเจน สภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จะมีการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในช่วงของครึ่งปีหลัง โดยการลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเริ่มมีการขยายตัว ทั้งนี้ ผลกระทบจากการลงทุนจากต่างประเทศน่าจะลดลงประมาณ 30,000 ล้านบาท และผลกระทบจากการท่องเที่ยวจะลดลงประมาณ 15% คิดเป็นมูลค่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะกระทบต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 0.2-0.5 อย่างไรก็ดี ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในไตรมาสแรก การลงทุนจากต่างประเทศจะลดลงร้อยละ 38 จากปี 2549  โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคธนาคารกรุงเทพ คาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.5 สำหรับศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการณ์ว่า GDP ของประเทศไทยยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 4-5 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประมาณว่าอัตราการขยายตัวจะเป็นร้อยละ 4.5-5 และสภาพัฒน์ฯ หรือ สศช. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2550 จะยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4-5 โดยมีปัจจัยบวกมาจากการปรับขึ้นของการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจ สำหรับกระทรวงพาณิชย์พยากรณ์ว่าในปีหน้า GDP จะโตร้อยละ 4.5 ภายใต้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนที่ 35-36 บาทต่อดอลล่าร์ และราคาน้ำมันดิบดูไบในราคาเฉลี่ย 60-65 ดอลล่าร์ต่อบาเรล ทั้งนี้ ธนาคารโลกประจำประเทศไทย  คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.6-5.0 โดยมีปัจจัยบวกมาจากการบริโภคภายในประเทศ และอัตราเงินเฟ้อของไทยที่ไม่สูง สำหรับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ GDP ของไทยว่าน่าจะเติบโตได้ร้อยละ 4.5  กรณีของธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2550 น่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5-5.5 โดยให้น้ำหนักความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความวุ่นวายจะยุติลง โดยให้ความสำคัญต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักการลงทุนที่จะมีการปรับตัวดีขึ้น รวมทั้ง การลงทุนและการเบิกจ่ายของภาครัฐที่มีจำนวนปริมาณเงินสูงและทำได้เร็วขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2550 ให้สามารถขับเคลื่อนได้ และสำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค) คาดว่า GDP ของไทย จะขยายตัวได้ร้อยละ 4-5 โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคและการลงทุนภายในรวมทั้ง การใช้จ่ายงบประมาณที่รวดเร็วจะเป็นตัวสนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2550  

ปัจจัยเสี่ยงซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2550

1. การบริโภคภาคประชาชน  (C) จากการที่คาดการณ์ว่าภาคการส่งออกในปี 2550 จะไม่สามารถเป็นตัวนำฉุดการเติบโตของประเทศ โดยหวังว่าจะพึ่งพาการบริโภคในประเทศ แต่จากสถานการณ์ต่างๆ จะก่อให้เกิดผลกระทบจากความไม่เชื่อมั่น ต่อการบริโภครวมถึงการจับจ่ายใช้สอยผ่านทางห้างสรรพสินค้า รวมถึงการท่องเที่ยวซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จะมีผลให้จำนวนของนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีปริมาณลดน้อยลง โดยคาดว่าในปีนี้นักท่องเที่ยวจะเข้ามาในประเทศไทยประมาณ 13.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 จากที่เคยเพิ่มขึ้นในปี 2549 ร้อยละ 13.95 ส่งผลต่อการบริโภคโดยรวม รวมทั้งธุรกิจบริการในสาขาต่างๆ โดยทางกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าการบริโภคน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 2.5-3.5% จากเดิมที่มีการคาดว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวได้ 3.5-4.5% หากเป็นไปตามคาดการณ์นี้ การบริโภคของภาคเอกชนจะต่ำกว่าหรือใกล้เคียงกว่าปี 2549 ที่ระดับ 3.4% โดยเฉพาะปริมาณผลผลิตและระดับราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มลดลงจากปี 2549 โดยเฉพาะราคายางที่มีแนวโน้มทรงตัวถึงติดลบจากกิโลกรัมละ 80 บาทเหลือ 60 บาท รวมทั้งผลกระทบจากผลผลิตการเกษตรในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ จะส่งผลให้การบริโภคในไตรมาสที่ 1-2 มีการเพิ่มไม่มากนัก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของการบริโภคและดัชนีการลงทุนภาคเอกชนจะมีการชะลอตัวลง และจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

2. ปัจจัยจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย โดยธนาคารโลกมีการคาดการณ์ว่าทิศทางของเงินเฟ้อและดอกเบี้ยของประเทศไทยจะมีการทิศทางในการปรับตัวที่ลดลง อันเนื่องมากจาก ราคาน้ำมันซึ่งมีแนวโน้มในการลงราคา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5-3.5 โดยลดลงจากปี 2549 ที่ร้อยละ 4.6 ภายใต้สมมติฐานว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ราคา 55-60 ดอลล่าร์ต่อบาเรล และทาง สศช. คาดว่าเงินเฟ้อในปีนี้จะมีอัตราร้อยละ 3.0-3.5 โดยทิศทางของอัตราดอกเบี้ย RP ของไทยที่ร้อยละ 5 อาจจะได้รับแรงกดดันจากการปรับลดของอัตราดอกเบี้ย FED ซึ่งมีกระแสในทิศทางที่คาดว่าในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือกลางปี อาจจะลดลงจากอัตราร้อยละ 5.25 เหลือร้อยละ 5 (แต่บางกระแสก็คาดว่าในปีนี้ FED อาจจะตรึงอัตราดอกเบี้ย) อาจคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร RP เหลือร้อยละ 4.75 ก็มีโอกาสเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลทำให้เงินบาทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น โดยทาง สศช. คาดว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับทรงตัวที่ 36-37 บาทต่อดอลล่าร์ ขณะที่ทางศูนย์กสิกรไทยประมาณว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 36.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยในปี 2550 จะเป็นดาบสองคม เพราะหากลดมากก็จะเป็นตัวกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน แต่ก็อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อ โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดควรใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยของ FED มิฉะนั้น ก็จะมีการเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท ส่งผลให้เงินสกุลบาทแข็งค่าเกินไปจนส่งผลต่อการส่งออก

3. การลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชน (I) จากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ประมาณ 8-9% แต่จากปัญหาต่างๆ อาจจะส่งผลให้การลงทุนรวมเหลือไม่เกินร้อยละ 3.7 – 5.3 ซึ่งก็จะต่ำกว่าในปี 2549 ซึ่งการลงทุนรวมโดยเฉลี่ยอยู่ที่อัตราร้อยละ 3.9 โดยในปีนี้การลงทุนส่วนใหญ่จะยังคงอยู่ในภาครัฐประมาณร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการลงทุนในเมกกะโปรเจกต์ต่างๆ สำหรับสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วิเคราะห์ว่าปัจจัยด้านการลงทุนภาคเอกชนปี 2550 ที่ไม่สามารถขยายตัวได้มากอย่างที่ประมาณการ เนื่องจากนักลงทุนยังคงชะลอการตัดสินใจ เพื่อดูการควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศและความชัดเจนของรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งน่าจะเป็นหลังวันเลือกตั้ง ทั้งนี้ ทางสภาพัฒน์ฯหรือ สศช. ยังเชื่อว่าการลงทุนภาคเอกชนน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 7 และการลงทุนรวมจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.2  อย่างไรก็ดี สำนักเศรษฐกิจการคลัง (สศค) คาดว่าการลงทุนรวมของภาครัฐและเอกชนจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.6-6.6 อันมีสาเหตุจากการลงทุนใน Mega Project ของภาครัฐและการลงทุนของภาคเอกชนที่จะมีการขยายตัวตามแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีทิศทางที่จะลดลง และทาง ธปท. คาดว่า การลงทุนของภาครัฐและเอกชนรวมกันจะขยายตัวได้ร้อยละ 8-9 แต่ก็มีติงว่าต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีปัญหาเชิงลบมาก สำหรับมุมมองของผู้วิเคราะห์ ซึ่งมีโอกาสได้ร่วมหารือกับนักลงทุนต่างประเทศ เช่น JCC และ JETRO ประเมินว่าจากปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองอันเกิดจากเหตุวินาศกรรมในกรุงเทพฯ รวมทั้งข่าวลือเกี่ยวกับการปฏิวัติและความไม่ชัดเจนในการกำหนดวันเวลาที่จะเลือกตั้ง ตลอดจนมาตรการต่างๆของรัฐบาล ซึ่งออกมาในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลต่อในแง่ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นเงินลงทุนระยะยาว โดยนักลงทุนต่างชาติคงจะรอดูสถานการณ์ ซึ่งการลงทุนในปีนี้คงจะไม่สูงไปกว่าในปีที่แล้ว โดยเม็ดเงินสำคัญที่จะเป็นตัวดันเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐใน Mega Project ต่างๆ และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆที่มีมากกว่าสี่แสนล้านบาท รวมทั้ง การใช้จ่ายของภาครัฐ (G) ในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 -85 ของวงเงินงบประมาณ 1.56 ล้านล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะต้องมีมาตรการสร้างความเชื่อมั่น ไม่ให้มีการถอนการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจากปัญหาการคลี่คลายความกังวลของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ประกอบกิจการของนักธุรกิจต่างชาติแก้ไขสัดส่วนการลงทุน ทั้งประเภท Voting Right หากเกิน 50% ต้องยื่นเรื่องภายใน 1 ปี และต้องการแก้ไขภายใน 2 ปี ส่วนประเภท Nominee ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่แล้วที่สัดส่วนหุ้นต่างชาติในธุรกิจบัญชีบัญชีประเภท 1 และ 2 ห้ามเกินร้อยละ 49 จะต้องมาแสดงตัวกับกระทรวงพาณิชย์ภายใน 90 วัน และต้องปรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นภายใน 1 ปี สำหรับการลงทุนประเภท 3 ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคง กฎหมายที่แก้ใหม่ก็ไม่ได้ติดใจเกี่ยวกับนอมินี คงให้ไปแจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ทราบเท่านั้น ทั้งนี้ การลงทุนในประเทศเชื่อว่านักธุรกิจของไทยและต่างชาติจะคงขยายการลงทุนภายใต้ความระมัดระวัง แต่การลงทุนของนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จะมีการชะลอตัวลงอย่างมาก

4. การชะลอตัวของการส่งออก (NX)  อันสืบเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีแนวโน้มชะลอประมาณร้อยละ 4.0-4.5 ซึ่งปี 2549 เศรษฐกิจโลกโต 4.5-4.8 และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจจะหดตัวเหลือร้อยละ 1.9 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย อีกทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทที่มีการผันผวนโดยมีการแข็งค่ากว่าร้อยละ 14-14.5 และเป็นอัตราที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค รวมทั้งผลกระทบจากมาตรการดูแลเงินทุนระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ออกมาช่วงปลายปี 2549 บวกกับปัญหาวินาศกรรมในกรุงเทพมหานครและข่าวลือต่างๆ จะก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อนักลงทุน โอกาสที่จะมีเงินทุนไหลเข้า (Capital Inflow) และเงินทุนไหลออก (Capital Outflow) อาจจะเกิดสลับกันไปตามผลทางจิตวิทยา ซึ่งสามารถส่งผลให้ค่าเงินบาทผันผวนทั้งการแข็งค่าและอ่อนค่า โดยจากนี้ไปจนถึงช่วงกลางปี ปัจจัยจากการผันผวนของค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งมีผลต่อการส่งออกและยากที่จะพยากรณ์หรือคาดเดา ทั้งนี้ เอ.พี.มอร์แกน ของสิงคโปร์ คาดว่าจากสถานการณ์แวดล้อมต่างของไทย ค่าเงินบาทจะกลับไปอ่อนค่าลดร้อยละ 5 อยู่ที่ 38.0 บาทในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งหมดจะเป็นปัจจัยต่อการส่งออกที่จะขยายตัวได้ร้อยละ 9-10 โดยกระทรวงพาณิชย์ประมาณว่าการขยายตัวปีนี้ร้อยละ 12.5 โดยตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 146,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งภาคเอกชนก็ขานรับว่าน่าจะเป็นไปได้ โดยดุลการค้าอาจจะขาดดุลเล็กน้อยหรือถ้าเกินดุลก็ประมาณ 400-800 ล้านดอลล่าร์ โดยอาจมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 1,800 ล้านดอลล่าร์ แต่บางสถาบันก็ประมาณว่าเงินดุลสะพัดในปีหน้าจะเป็นบวกประมาณหลักร้อยล้านดอลล่าร์ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคของการส่งออกในปี 2550 ก็มีมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าเงินบาท การชะลอตัวเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและปัญหาเกี่ยวกับ GSP ของสหรัฐฯ ซึ่งมีการต่ออายุอีก 6 เดือน- 2 ปี แต่ก็มีเงื่อนไขเกี่ยวกับ Volume Situation รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับถูก NTB จากประเทศคู่ค้า
ฟันธงเศรษฐกิจไทยปี  2550

สำหรับกรณีของผู้วิเคราะห์ มองว่า การคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจในปี 2550 จะเป็นการคาดและเดาที่ยากกว่าทุกๆปี เพราะมีปัจจัยตัวแปรที่ไม่คงที่  ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอก จากปัญหาการผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งเกิดจากการเก็งกำไรของ Hadge fund และการถอนเงินลงทุนจากประเทศไทยของนักลงทุน รวมทั้ง ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกประมาณร้อยละ 3.5-4.0 ซึ่งเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สหรัฐฯ , ยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1.9-2.0 หรือต่ำกว่านี้ ซึ่งอาจทำให้มีทั้งการแข็งค่าและอ่อนค่าของค่าเงินบาท โดยคาดว่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าไปอยู่ที่เฉลี่ย 35.5-36.5 ดอลล่าร์สหรัฐฯ  นอกจากนี้ความเสี่ยงจากปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้ง ความสามารถของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคง อย่างไรก็ตาม หลายสำนักออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจค่อนข้างไปในทิศทางเดียวกัน  คือขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.5-5.0 โดยปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอยู่ที่การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศไม่ใช่จากการส่งออก ซึ่งภาคการส่งออกน่าจะโตร้อยละ 9-11  ทั้งนี้

การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีหน้า ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับ

(1) ความสามารถของรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ

(2) การปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญและการกำหนดวันเลือกตั้งที่ชัดเจน

(3) มาตรการการควบคุมความสมดุลของระบบอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ต่อสถานการณ์ผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งมีแนวโน้มในการแข็งค่า ขณะที่มีโอกาสที่จะผันผวนในการอ่อนค่า โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องมีมาตรการที่ทันต่อเหตุการณ์และไม่เรรวน 

(4) การสร้างความมั่นใจในการลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับมาตรการต่างๆของภาครัฐ ซึ่งค่อนข้างออกมาในเวลาที่ใกล้เคียงกัน

(5) มาตรการในการเร่งรัดการบริโภค โดยเฉพาะการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ

 (6) ให้มีมาตรการในการร่วมมือกับผู้ประกอบการในการส่งเสริมการส่งออกให้เกินกว่าร้อยละ12 โดยหากสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.5-5 แต่หากสถานการณ์ความวุ่นวายและประเด็นทางการเมืองยังไม่มีความชัดเจน การเติบโตเศรษฐกิจของไทยในปี 2550 ก็อาจจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0-4.0 โดยเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาทั้งหมดได้และเศรษฐกิจของประเทศไทยยังน่ารักษาการเติบโตได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก