บทความเรื่อง :: วิเคราะห์เศรษฐกิจประจำเดือนมีนาคม 2550
 


โดยธนิต  โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

           ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพรวมของเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวที่เห็นชัดเจน โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ จะมีการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มียอดลูกค้าที่ขอสินเชื่อไม่ผ่านกว่า 10-15% โดยประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาระบบของเศรษฐกิจไทยจะต้องให้น้ำหนักต่อระบบธนาคารพาณิชย์ซึ่งพบว่าเริ่มมีลูกหนี้ที่อ่อนแอมากขึ้น ถึงแม้จะยังไม่ถึงขั้น NPL แต่ก็ถือเป็นสัญญาณสะท้อนแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อ โดยธนาคารพาณิชย์ชั้นนำมีการตั้งเป้าหมายการขยายสินเชื่ออยู่ที่ประมาณร้อยละ 6-8 อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากเดือนกรกฎาคม จากร้อยละ 79.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 79.0 และดัชนีความเชื่อมั่นต่ออนาคตลดลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคม ร้อยละ 77.7 มาอยู่ที่ร้อยละ 71.1 ซึ่งดัชนีดังกล่าวเป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 60 เดือน


ปัจจัยที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะครึ่งปีแรก ประกอบด้วย

1. ปัจจัยความเชื่อมั่นผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งภาครัฐหวังว่าจะเป็นกลไกสำคัญที่จะทดแทนภาคการส่งออก โดยในปี 2550 ความหวังของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย หวังที่จะพึ่งภาคการบริโภคภายใน อย่างไรก็ตาม จากสภาวะการขาดความเชื่อมั่นทางด้านการเมืองและความมั่นคง โดยเฉพาะการลงทุนทำให้ขาดปัจจัยเชิงบวก โดยเฉพาะประเด็นของรัฐบาลชั่วคราวซึ่งส่อเค้าว่ามีปัญหาหลายประการที่อาจยังแก้ไขไม่เสร็จ ภายในเวลาที่จำกัด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียโอกาสทางธุรกิจ โดยการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ เห็นได้ชัดเจนจากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงเดือนมกราคมต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 1.6 พันล้านบาท แต่ยังหวังว่าการเติบโตในภาคผู้บริโภคน่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ร้อยละ 10 สำหรับการเติบโตของบริษัทค้าปลีกน่าจะเติบโตได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว คาดว่าปีนี้ น่าจะเติบโตได้ร้อยละ 10-10.5 ซึ่งเกิดจากการขาดความเชื่อมั่นในด้านความมั่นคง ประเด็นที่ต้องจับตามองก็คือการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐ ว่าจะสามารถเบิกจ่ายตามเป้าหมายได้หรือไม่ สำหรับสถานการณ์ตลาดรถยนต์ในไทย มีแนวโน้มการชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยยอดขายรถยนต์ลดลงกว่าร้อยละ 10 แต่หากรวมทั้งปี คาดว่ายอดขายรถยนต์น่าจะเติบโตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว หรือไม่เกินร้อยละ 2.0 - 2.6 สำหรับตัวเลขการขายมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจภาคประชาชนในระดับภูมิภาค ซึ่งคาดว่าตลาดจะมีการหดตัวจากปี 2549 ประมาณร้อยละ 8 ซึ่งถือว่าปีนี้จะเป็นปีขาลงของตลาดรถมอเตอร์ไซค์ หลังจากเติบโตมาในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา

2. ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ในปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาคการส่งออกของไทยยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอยู่ได้ ถึงแม้ว่าในปีที่แล้วจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ซึ่งส่วนภาคการส่งออกก็ยังเติบโตอยู่ในได้ในอัตราร้อยละ 17.4 โดยเศรษฐกิจโลกในปีนี้ส่งเค้าว่าจะมีการชะลอตัวลงอยู่ประมาณ 3.5%-4.0% สำหรับประเทศคู่ค้าของประเทศไทย เมื่อบวกกับสภาวการณ์แข็งค่าเงินบาท ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะมีทิศทางในการปรับตัวในการแข็งค่า หลังจากที่มีการทรงตัวในระดับ 35.7 บาทต่อดอลล่าร์ ซึ่งเป็นการทรงตัวอยู่ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2550 ซึ่งเป็นผลส่วนหนึ่งจากมาตรการสำรอง 30% ของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในระยะนี้มีทิศทางการเคลื่อนไหวในทางแข็งค่า โดยจะเห็นได้ว่าค่าเงินบาทในตลาด Off Shore อยู่ที่ระดับ 32.80 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ขณะที่เงินบาทในตลาด On Shore ช่วงกลางเดือนมีนาคมเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 35.07 จนถึง 35.20 ซึ่งถือเป็นระดับการแข็งค่าอย่างรุนแรง ทั้งนี้ จากความกังวลในนโยบายของนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ ซึ่งอาจยกเลิกมาตรการการสำรอง 30% สำหรับการเข้ามาทำธุรกรรมตราสารหนี้และการเงิน ซึ่งพยากรณ์หากช่วงนี้ไม่มีมาตรการพิเศษใดๆ การเข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาทจะทวีความรุนแรงและเมื่อบวกกับการขาดความเชื่อมั่นของนักค้าเงินและผู้ส่งออกที่จะเร่งขายเทขายเงินสกุลดอลล่าร์          กอปรกับขณะนี้ตลาดเงินทั้งของเอเชียและของโลก มีความผันผวนมาก ซึ่งเกิดจากการปรับฐานธุรกรรมเก็งกำไรค่าเงินจากส่วนต่างของดอกเบี้ย เช่น เงินสกุลเยน ส่งผลให้มีการ Carry Trade นำเงินไปลงทุนในตลาดที่มีผลตอบแทนดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งทิศทางการแข็งค่าเงินบาทในขณะนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการไหลเข้าของเงินสกุลเย็นเข้ามาทำกำไรจากผลต่างของดอกเบี้ยในตลาดการเงินของไทย ทำให้มีผลทางจิตวิทยาที่โอกาสเงินบาทจะทะลุลงไปสู่ระดับต่ำกว่า 34 บาทได้ในเร็วๆนี้

3. ปัจจัยเชื่อมั่นของนักลงทุน จากสภาวการณ์ขาดการเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งต่างประเทศและภายในประเทศจะเห็นได้จากการลงทุนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจะมีทิศทางในลักษณะที่เป็นลบ (ติดลบร้อยละ 1) ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์ทางการเมือง และจากมาตรการทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี ถึงแม้ว่าทิศทางของดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ส่งผลไม่มากนักต่อการลงทุน โดยภาครัฐได้เร่งที่จะลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยหวังที่จะใช้เป็นกลไกในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 – 4 ทั้งนี้ สศช. คาดการณ์ว่าการลงทุนน่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.8 โดยภาคการลงทุนในประเทศคงจะต้องหวังจากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจให้ได้อย่างน้อย 80% จากงบประมาณ 1,566,200 ล้านบาท ซึ่งจากการจ่ายจริงในช่วงตุลาคม 2549 – มกราคม 2550 เบิกจ่ายไปได้เพียง 22.03% โดยงบประมาณลงทุนของภาครัฐในปีนี้อยู่ที่ 374,721 ล้านบาท และวิสาหกิจ 399,302 ล้านบาท ซึ่งการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐจะส่งผลดัน GDP ได้ร้อยละ 1

4. ทิศทางของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัว อีกทั้งปัญหาการทรงตัวของระดับราคาน้ำมันภายหลังการผ่านฤดูหนาว ทำให้ราคาน้ำมันมีทิศทางทรงตัวและขยับไปในราคาที่จะอ่อนค่าลง กอปรกับการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) อยู่ในระดับ 2.0% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) อยู่ในระดับร้อยละ 1.5-1.8 ซึ่งถือว่าประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ โดยแนวโน้มนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ควรหันมาใช้มาตรการด้านดอกเบี้ยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงในการแก้ปัญหาการแข็งค่าเงินสกุลบาท ซึ่งเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ แข็งค่าเพิ่มถึงร้อยละ 1.9 ดังนั้นในภาคการเงินหลายฝ่ายเริ่มอยากเห็นภาครัฐมีการใช้นโยบายลดดอกเบี้ยอย่างน้อยร้อยละ 0.75 ให้ได้ก่อนกลางปีนี้ เพราะไม่ต้องมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อ โดยดอกเบี้ยนโยบายควรจะไปอยู่ที่ร้อยละ 3.75 ภายในเดือนกรกฎาคม ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) จะมีการทยอยลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนเมษายน , พฤษภาคม และมิถุนายน ในมุมมองของผู้วิเคราะห์เห็นว่าในช่วงเวลาขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรจะเร่งใช้นโยบายการลดอัตราดอกเบี้ย โดยอัตราดอกเบี้ยจะต้องให้ใกล้เคียงกับประเทศอื่นๆ ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะอ้างว่ามาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่การกดดันค่าเงินบาท เพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของ FED อยู่ที่ร้อยละ 5.25 ซึ่งสูงกว่าประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า การที่ค่าเงินบาทของเราแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค เหตุผลสำคัญก็เกิดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งยังสูง ดังนั้น มาตรการการลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่อการกดดันไม่ให้เงินบาทแข็งค่า อย่างไรก็ตามการลดดอกเบี้ย RP ควรจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้ตลาดเกิดการตื่นตระหนก โดยดอกเบี้ย RP ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เคยลดลงอยู่ที่ 1.75% ดังนั้น มาตรการการลดดอกเบี้ยในระดับข้างต้น น่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม ก็มีกระแสเกี่ยวกับการลดดอกเบี้ยควรลดในอัตราที่สูงครั้งเดียว เพื่อไม่ให้ตลาดคาดหวังว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีก ซึ่งจะทำให้มีการเก็งกำไรในการให้มีทุนไหลเข้ามาทำกำไรในค่าเงินบาท ซึ่งในส่วนของภาคธนาคารพาณิชย์ ซึ่งปัจจุบันมีสภาพคล่องทั้งระบบประมาณกว่าสี่แสนล้านบาท ก็ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50 ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.25 – 4.25 หากดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย มีการปรับลดลงก็จะทำให้ดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์มีการลดลงอีกจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้มีการลงทุนและการบริโภค

          โดยภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 การขยายตัวน่าจะไม่เกินร้อยละ 2-3 ซึ่งปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทยังคงเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะมาตรการสำรอง 30% หากธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการยกเลิกก็ควรจะศึกษาถึงผลกระทบทั้งด้านผู้ส่งออก , ผู้นำเข้า , การลงทุน , ระดับราคาน้ำมัน และผลกระทบจากราคาสินค้าภายในประเทศ ทั้งนี้ สถานะเงินบาท Off-Shore และ On-Shore ยังมีความแตกต่างกันประมาณ 2.27 บาท ต่อดอลล่ารสหรัฐฯ ซึ่งการที่ค่าของเงินบาทภายนอกประเทศแข็งค่าสูงกว่าเงินบาทภายในประเทศถึงร้อยละ 6.47 จะเป็นแรงกดดันให้มีการเข้ามาเก็งกำไร เฉพาะในปี 2549 ธนาคารชาติขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินไปประมาณ 174,000 ล้านบาท  ซึ่งหาก ธปท. ปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าแบบลอยตัวโดยไม่ดำเนินการใดๆเลย ค่าเงินบาทก็จะแข็งกว่านี้มาก จะส่งผลต่อภาคการส่งออก โดยปัจจุบัน ธปท. ได้กระจายความเสี่ยงจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯที่อ่อนลง โดยการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลล่าร์ ต่ำกว่า 66% ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีสัดส่วนสินทรัพย์สกุลดอลล่าร์เฉลี่ย 70% อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีนี้ GDP ของไทย น่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 -  4.5 แต่โอกาสที่ GDP จะต่ำกว่าร้อยละ 4 ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง ซึ่งเศรษฐกิจของไทยส่วนหนึ่งก็ไปผูกพันกับเศรษฐกิจโลก เพราะการส่งออกของไทย มีมูลค่าร้อยละ 67 ของ GDP โดยคาดว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯอาจไม่เลวร้ายนัก อาจขยายตัวได้ระหว่างร้อยละ 2.5-3.0 ซึ่งก็จะเป็นผลดีกับการส่งออก  สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะไม่เกินร้อยละ 2.5 – 3.0 โดยทาง สศช. คาดการณ์ไว้ว่าการลงทุนจะขยายตัว 4.8% การบริโภคภายในขยายตัวไม่เกินร้อยละ 4 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 7.9 และการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 8 โดยประมาณการว่าดุลการค้าจะเกินดุลประมาณ 3,200 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ และดุลเดินสะพัดจะเกินดุล 3,100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 1.3 ของ GDP ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงคาดเดาบนพื้นฐานของสถานการณ์ปัจจุบันต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจของไทยในช่วงนี้สามารถผันผวนและยากที่จะคาดเดา..


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก