บทความเรื่อง :: วิกฤติการแข็งค่าเงินบาทกับแนวโน้มอุตสาหกรรมส่งออกของไทย ปี พ.ศ. 2550-2
 


โดยธนิต  โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

           ปกติสายงานเศรษฐกิจจะทำการออกวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือน แต่เนื่องจากในช่วงนี้สถานการณ์แข็งค่าของเงินบาทได้ทะลุแนวต้าน 36 บาท ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกโดยบางกลุ่มอุตสาหกรรมได้มีการจัดเสวนารวมถึงสื่อมวลชนได้ออกมาวิพากษ์ค่อนข้างมาก เพื่อให้นักอุตสาหกรรมซึ่งเป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ จะได้ไม่มีความสับสน จึงได้จัดทำเป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจภาคพิเศษ โดยเจาะลึกเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์ส่วนบุคคล ความน่าเชื่อถือก็ขอให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อ่าน

          อัตราการแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินสกุลเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนต่อจนถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ค่าเงินบาทได้มีการสวิงจนทะลุปิดตลาดอยู่ที่ 35.82 บาทต่อ      ดอลล่าร์สหรัฐฯ ในวันที่ 30 พ.ย. 2549 และมีแนวโน้มว่าในช่วงจากนี้ไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม 49 ค่าเงินบาทจะไปอยู่แนวต้านที่ 35.4 – 35.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นการแข็งค่าที่เพิ่มขึ้นจากต้นปี ถึงร้อยละ 14.5 ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 8 ปี  และเป็นอัตราสูงกว่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค เช่น ประเทศจีนและเกาหลี ซึ่งมีอัตราแข็งค่าที่ร้อยละ 3.73 และร้อยละ7.91 ตามลำดับ ผลกระทบจากที่ได้พูดคุยกับผู้ส่งออกเกือบทุกราย จะประสบปัญหาการขาดทุน และไม่สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของไทย ไม่ได้เป็นสินค้าประเภท Innovation จึงทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ขณะที่ค่าเงินของประเทศคู่แข่งไม่ได้สูงมากอย่างไทย การปรับราคาจึงเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่สามารถต่อรองราคากับผู้ซื้อในต่างประเทศได้ และบางรายขอปรับราคาขายขึ้นแต่ไม่เกินร้อยละ  5 ผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบน้อยก็คือ เป็นสินค้าที่มีการนำเข้าแล้วมาใช้แรงงานเพื่อส่งออกจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่ใช้ผลิตภัณฑ์จากภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร , อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม , อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ , อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ หรือผู้ส่งออกสินค้าการเกษตร ฯลฯ โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ธุรกิจส่งออกจะมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่พึงพิงวัตถุดิบนำเข้า เพราะจะไม่มีแต้มต่อจากส่วนต่างค่าเงินบาท ซึ่งประเด็นนี้นับเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องให้ความใส่ใจ เนื่องจากภาคการส่งออกมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศ ถึงร้อยละ 47 ต่อ GDP

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า การที่ค่าเงินบาทของไทยมีการแข็งค่านี้ อาจมีมูลเหตุและมีปัจจัยได้ดังนี้

1. การอ่อนแอของโครงสร้างเศรษฐกิจสหรัฐเมริกา ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากสหรัฐอันเป็นผลจากการขาดดุลบัญชีสะพัด ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายปี โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ร่วงลงกว่า 30% ถึงแม้ว่า FED จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักต่อนักลงทุนต่างชาติไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เงินดอลล่าร์พุ่งสูง

2. การที่ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมีการส่งออกได้เกินกว่าเป้าหมายที่ผ่านมา ส่งผลให้ดุลสะพัดมีความเชื่อมั่นต่อเถียรภาพทั้งเศรษฐกิจและค่าเงินบาท และแนวโน้มที่เงินบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล 2-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นปัจจัยบวกซึ่งส่งผลต่อการแข็งค่า แต่ปัจจัยนี้ก็ไม่น่ามีผลที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่าจนถึงอัตราปัจจุบันนี้

3. ปัจจัยของกี่เก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินแข็งกว่าประเทศอื่น ส่งผลให้ดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งดอกเบี้ย RP ของไทยอยู่ที่ 5% ใกล้เคียงกับ FED อยู่ที่ 5.25 ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาในตลาดหุ้น และตลาดหุ้นกู้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีมาตรการในการห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายดอกเบี้ยหรือขายหุ้นกู้ให้กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศ นักลงทุนจึงได้เข้ามาลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาล ทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ขาย ซึ่งทราบว่าขณะนี้นับเป็นมีอีกหมื่นล้านดอลล่าร์ที่เข้ามาซื้อพันธบัตร ซึ่งการ Inbound เงินดอลล่าร์สหรัฐฯเข้ามาในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง ประมาณ 35.7 – 35.8 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยเกรงว่าภายใน 6 เดือนข้างหน้า อาจมีการผลักดันให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง เป็นอัตรา 38 หรือ 39 บาท นักลงทุนก็ได้กำไรจากอัตราดอกเบี้ย 2-3 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นจำนวนเงินที่สูงเมื่อเทียบกับปริมาณเงินหลายหมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯที่จะเข้ามา
ปัญหาของประเทศ

           การที่ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า ส่งผลต่อการมีกระแสเงินดอลล่าร์สหรัฐฯที่เข้ามามาก จนทำให้ทุนสำรองของไทยมี 63500 ดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เงินส่วนใหญ่ที่เข้ามาเป็นการเก็งกำไรในระยะสั้น ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถที่จะนำเงินออกได้ในเวลาข้ามคืน จึงไม่น่าจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท ซึ่งขณะนี้ก็มีการขายเก็งกำไรค่าเงินบาทในช่วงวัน และการเก็งกำไรผ่านการซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ โดยมีสัญญาขายคืนในระยะสั้น ที่เรียกว่า Sell – Buy – Back ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมายอมรับว่า การซื้อขายลักษณะนี้มีจำนวนมาก ซึ่งเป็นความพยายามหลีกเลี่ยงข้อห้ามของผู้ Non-Resident ซึ่งเป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความร่วมมือ ซึ่งภาคเอกชนมีความกังวลเกี่ยวกับในเรื่องของภาวการณ์ขาดทุนจากการส่งออก โดยผู้ส่งออกมองว่ามาตรการที่ให้ถือครองเงินดอลล่าร์สหรัฐฯได้นานขึ้นจาก 7 วันเป็น 15 วัน ไม่ใช่มาตรการที่แก้ปัญหาได้ เนื่องจากผู้ส่งออกเมื่อได้เงินตราต่างประเทศแล้ว ก็ต้องนำเงินมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเพื่อชำระค่าวัตถุดิบ , ค่าแรง และดอกเบี้ยธนาคาร ถึงแม้ว่าจะเก็บเอาไว้ขายหลังจาก 15 วันไปแล้ว ก็อาจจะประสบปัญหาการขาดทุนมากขึ้น เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้หลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SME ไม่กล้าที่จะรับคำสั่งซื้อหรือ Order ใหม่จากต่างประเทศ เพราะไม่สามารถผลักดันราคาขายให้สูงขึ้น บางส่วนของผู้ส่งออกจึงมีการชลอการผลิตเพื่อรอดูสถานการณ์ทิศทางของค่าเงินบาท โดยหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เครื่องนุ่งห่ม ,รองเม้า และเฟอร์นิเจอร์ ได้มีการปรับเป้าหมายการส่งออกในปี 2550 ว่าจะขยายไม่เกินร้อยละ 10 ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าในปีหน้า การขยายตัวการส่งออกของไทย คงจะอยู่ในช่วงร้อยละ 9 หรือ ร้อยละ 12 และ GDP ของไทยน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.5 แต่อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของต่างชาติก็มองว่าการส่งออกของไทยในปีหน้าจะตกต่ำอย่างน่าใจหาย โดยมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปี 2007 ซึ่งจะเป็นแรงฉุดเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากมีการพึ่งพาตลาดส่งออกไปสหรัฐฯอยู่มาก ซึ่งการพึ่งพิงตลาดยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งอาจไม่ได้เติบโตมากนัก เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น


ทางออกของการแก้ไขปัญหาเงินบาท

          นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก มีความเชื่อมั่นว่า ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกอาจจะมีการทะลุแนวต้านที่อัตราแลกเปลี่ยน 35.4 แต่ในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงช่วงมกราคม ค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าอยู่ที่ 35.7 – 35.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ การที่ค่าเงินของเราแข็งค่าขึ้นแบบผิดปกติเช่นนี้ ดังที่ทราบ การที่ค่าเงินของไทยมีอัตราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เนื่องจากหลายประเทศในเกาหลีใต้ก็ได้มีการแทรกแซงค่าเงินวอน โดยเฉพาะในประเทศจีน ในกรณีของประเทศไทยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน มีการแทรกแซงอย่างต่อเนื่อง โยในสัปดาห์แรกเข้าไปแทรกแซงกว่า 30,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เงินก็ยังมีการไหลเข้ามาในทางบวก ซึ่งเงินสำรองของไทยขณะนี้ยังอยู่ที่ 63,311 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยธนาคารชาติห้ามธนาคารพาณิชย์ขายพันธบัตรมีสัญญาขายคืนในระยะสั้น (Sell-Buy-Back) ซึ่งพบว่ามีเม็ดเงินเข้ามาเก็งกำไรวันละ 40,000 ล้านบาท แต่นักลงทุนต่างชาติก็ยังเข้ามาเก็งกำไรได้ในตลาดหุ้น ดังนั้นแนวทางในการที่จะลดอัตราดอกเบี้ยก็ได้มีการหยิบยกมาเป็นประเด็นว่าทางธนาคารชาติควรจะเร่งดำเนินการ แต่อีกหลายฝ่ายก็มาต่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่เป็นผล เนื่องจากญี่ปุ่นเองก็เคยประสบปัญหา และไม่สามารถใช้มาตรการ อย่างไรก็ตามภาครัฐจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนและดำเนินการในระยะสั้นเพื่อช่วยผู้ส่งออก เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น 1% จะมีผลกระทบต่อการลดลงของภาคการส่งออก 0.1% และเร่งให้มีการประกันสินเชื่อและให้ธนาคารพาณิชย์มีการผ่อนปรนหลักทรัพย์ในการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการมีมาตรการในการป้องกันในการเข้ามาเก็งกำไร และธนาคารชาติและกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามาร่วมมือกัน ไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขเชิงปริมาณและเป้าการส่งออก โดยไม่ยอมรับความจริงว่าผู้ส่งออกของเราขาดทุนและจะแบกภาระขาดทุนนั้นได้ไม่นาน และภาครัฐอย่าได้ใช้ตัวเลขเชิงบัญญัติยางค์ว่าปี 2549 ส่งออกเท่าไหร่ และปีนี้ควรจะส่งออกมากกว่าเดิมเท่าใด ซึ่งไม่สะท้อนความจริง ดังนั้น เรื่องค่าเงินจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและฉุกเฉิน ต้องถือว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่า เป็นวิกฤติที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออก ซึ่งเป็นเสาหลักค้ำยันเศรษฐกิจของไทย.....


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก