บทความเรื่อง :: วิกฤติการแข็งค่าเงินบาทกับกระทบของอุตสาหกรรมส่งออกของไทย ปี พ.ศ. 2550-1
 


           สายงานเศรษฐกิจปรกติจะทำการออกรายงานวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจทุกวันศุกร์ที่ 3 ของเดือน แต่เนื่องจากในช่วงนี้สถานการณ์แข็งค่าของเงินบาทได้ทะลุแนวต้าน 36 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐก่อให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออก  และสื่อมวลชนได้ออกมาวิพากษ์ค่อนข้างมาก  จึงได้จัดทำเป็นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบเศรษฐกิจภาคพิเศษ โดยเจาะลึกเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท และวิเคราะห์ผลกระทบที่มีต่อภาคอุตสาหกรรม  ทั้งนี้ อัตราการแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อเงินสกุลเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนต่อจนถึงช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม ค่าเงินบาทได้มีการสวิงจนทะลุปิดตลาดอยู่ที่ 35.82 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ในวันที่ 30 พ.ย. 2549 และ 35.56 – 35.60 เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2549 และมีแนวโน้มว่าในช่วงจากนี้ไปจนถึงปลายเดือนธันวาคม 49 ค่าเงินบาทจะไปอยู่แนวต้านที่ 35.40 – 35.50 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นการแข็งค่าที่เพิ่มขึ้นจากต้นปี2549 ถึงร้อยละ 14.5 ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 8 ปี  และเป็นอัตราสูงกว่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาค เช่น ประเทศจีน ซึ่งมีอัตราแข็งค่าที่ร้อยละ 3.73  , เกาหลี ร้อยละ7.91 เงินหยวนของจีนแข็งค่าร้อยละ 3.0 , สิงคโปร์ดอลล่าร์ ร้อยละ 8.0 และเงินยูโรดอลล่าร์แข็งค่าร้อยละ 11.8 จะเห็นว่าประเทศเหล่านี้มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าไทยมากแต่กลับมีค่าเงินแข็งน้อยกว่าไทย แสดงว่าการแข็งค่าเงินบาทของไทยไม่ใช่เป็นไปตามธรรมชาติอย่างแน่นอน  ผลกระทบจากที่ได้พูดคุยกับผู้ส่งออกส่วนใหญ่พบว่า จะประสบปัญหาการขาดทุน และไม่สามารถขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของไทย ไม่ได้เป็นสินค้าประเภท Innovation และไม่มี BRAND จึงทำให้มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ขณะที่ค่าเงินของประเทศคู่แข่งไม่ได้สูงมากอย่างไทย การปรับราคาจึงเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่สามารถต่อรองราคากับผู้ซื้อในต่างประเทศได้ และบางรายขอปรับราคาขายขึ้นแต่ไม่เกินร้อยละ  5  ทั้งนี้ผู้ส่งออกที่มีการนำเข้าแล้วมาใช้แรงงานเพื่อส่งออกจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่ใช้ผลิตภัณฑ์จากภายในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร , อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม , อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ , อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ หรือผู้ส่งออกสินค้าการเกษตร ฯลฯ โดยหากค่าเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่า 35 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ ธุรกิจส่งออกจะมีผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะธุรกิจที่ไม่พึงพิงวัตถุดิบนำเข้า เพราะจะไม่มีแต้มต่อจากส่วนต่างค่าเงินบาท ซึ่งประเด็นนี้นับเป็นสิ่งที่ภาครัฐจะต้องให้ความใส่ใจ เนื่องจากภาคการส่งออกมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศ ถึงร้อยละ 67 ต่อ GDP และมีการใช้แรงงานประมาณ 5.5 -6.0 ล้านคน

การที่ค่าเงินบาทของไทยมีการแข็งค่า อาจมีปัจจัยได้ดังนี้

1. ความอ่อนแอของโครงสร้างและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเมริกา ส่งผลให้เงินทุนไหลออกจากสหรัฐฯอันเป็นผลจากการขาดดุลบัญชีสะพัด ซึ่งเป็นปัญหายืดเยื้อมาเป็นเวลาหลายปี โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ร่วงลงกว่า 30% ถึงแม้ว่า FED จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักต่อนักลงทุนต่างชาติที่ยังมีการนำเงินดอลล่าร์ออกนอกประเทศ  นอกจากนี้ปัญหาฟองสบู่ที่ปริของระบบอสังหาริมทรัพย์และการชะลอตัวของการบริโภคของคนอเมริกัน ทั้งหมดส่งผลต่อการไม่มีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯและต่อค่า เงินดอลล่าร์


2. ประเทศไทยมีการส่งออกได้เกินกว่าเป้าหมาย ส่งผลให้เงินดุลสะพัดมีความเชื่อมั่นต่อเถียรภาพทั้งเศรษฐกิจและค่าเงินบาท และแนวโน้มที่เงินบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุล ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ประมาณ 514 ล้านบาท  ซึ่งเป็นปัจจัยบวกซึ่งส่งผลต่อการแข็งค่า แต่ปัจจัยนี้ก็ไม่น่ามีผลที่ทำให้ค่าเงินแข็งค่าจนถึงอัตราปัจจุบัน

3. การเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค  อันเป็นผลจาก ดอกเบี้ย RP ของไทยอยู่ที่ 5% ใกล้เคียงกับ FED อยู่ที่ 5.25 ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้ามาในตลาดหุ้นเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นและมีการนำเงินดอลล่าร์เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกู้ ถึงแม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการในการห้ามธนาคารพาณิชย์จ่ายดอกเบี้ยหรือขายหุ้นกู้ให้กับผู้มีถิ่นฐานในต่างประเทศแต่การที่ยังมีระบบนอมินีทำให้แก้ปัญหาไม่ได้มากนักจึงทำให้มีการนำเงินดอลล่าร์เข้ามามาก

4. นักลงทุนต่างชาติมีการเก็งกำไรในตลาดพันธบัตรรัฐบาล ทั้งพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลที่ธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ขาย ซึ่งทราบว่าขณะนี้มีเงินอีกกว่าหมื่นล้านดอลล่าร์ที่เตรียมเข้ามาซื้อพันธบัตร ซึ่งการ Inbound เงินดอลล่าร์สหรัฐฯเข้ามาในช่วงที่ค่าเงินบาทแข็ง ประมาณ 35.70 – 35.80 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ โดยเก็งกำไร  อาจมีการผลักดันให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลง นักลงทุนก็ได้กำไรจากส่วนต่าง โดยยอดตราสารหนี้ภาครัฐที่นอนเรสิเดนท์ ถืออยู่จนถึงเดือนพฤศจิกายน มีประมาณ 3,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เพิ่มจากต้นปีที่มีประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1.75 เท่า

5. ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่า อันเกิดจากมีเม็ดเงินดอลล่าร์สหรัฐฯที่เข้ามามากผิดปรกติ จนทำให้ทุนสำรองของไทยมีถึง 63,500 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าสูงสุดเท่าที่เคยมี อย่างไรก็ตามเงินที่เข้ามาในระยะหลังมักเป็นการเก็งกำไรในระยะสั้น ซึ่งนักลงทุนต่างชาติสามารถที่จะนำเงินออกได้ในเวลาข้ามคืน จึงไม่น่าจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาทในระยะยาว ซึ่งขณะนี้ก็มีการขายเก็งกำไรค่าเงินบาทในช่วงวัน

6. มีการเก็งกำไรผ่านการซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ โดยมีสัญญาขายคืนในระยะสั้น ที่เรียกว่า Sell – Buy – Back ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมายอมรับว่า การซื้อขายลักษณะนี้มีจำนวนมาก โดยยอดคงค้างของตราสารหนี้ระยะสั้น (Commercial Paper) ของเดือนตุลาคม มีจำนวน 200,000 ล้านบาท เพิ่มจากต้นปีที่มียอดคงค้างเพียง 30,000 ล้านหรือเพิ่มขึ้นถึง 6.66 เท่า  ซึ่งเป็นความพยายามหลีกเลี่ยงข้อห้ามของผู้ Non-Resident ซึ่งเป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องให้ความร่วมมือ  แต่การที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยส่วนใหญ่ก็ถือหุ้น หรือถูกนอมินี โดยต่างชาติ จึงไม่แน่ว่าทางธนาคารชาติจะได้รับความร่วมมือในเรื่องนี้เพียงใด

ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออก

ภาคเอกชนมีความกังวลเกี่ยวกับในเรื่องของภาวการณ์ขาดทุนจากการส่งออก โดยผู้ส่งออกมองว่ามาตรการของธนาคารชาติที่ให้ถือครองเงินดอลล่าร์สหรัฐฯได้นานขึ้นจาก 7 วันเป็น 15 วัน ไม่ใช่มาตรการที่แก้ปัญหาได้ เนื่องจากผู้ส่งออกเมื่อได้เงินตราต่างประเทศแล้ว ก็ต้องนำเงินมาแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเพื่อชำระค่าวัตถุดิบ , ค่าแรง และดอกเบี้ยธนาคาร ถึงแม้ว่าจะเก็บเอาไว้ขายหลังจาก 15 วันไปแล้ว ก็อาจจะประสบปัญหาการขาดทุนมากขึ้น เนื่องจากเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ทำให้หลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ SMEs ไม่กล้าที่จะรับคำสั่งซื้อหรือ Order ใหม่จากต่างประเทศ เพราะไม่สามารถผลักดันราคาขายให้สูงขึ้น บางส่วนของผู้ส่งออกจึงมีการชลอการผลิตเพื่อรอดูสถานการณ์ทิศทางของค่าเงินบาท โดยหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เครื่องนุ่งห่ม ,รองเท้า และเฟอร์นิเจอร์ ได้มีการปรับเป้าหมายการส่งออกในปี 2550 ว่าจะขยายไม่เกินร้อยละ 10    ซึ่งวิเคราะห์มองว่าในปีหน้า การขยายตัวการส่งออกของไทย คงจะอยู่ในช่วงร้อยละ 9 หรือ ร้อยละ 12  เป็นอย่างสูง โดยการเติบโตของอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกการขยายตัวจะต่ำสุดในรอบ 5 ปีที่อัตราร้อยละ 3-4 แต่จะขยายตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6 ในช่วงครึ่งปีหลัง โดย GDP ของไทยน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 4.5 – 5.0  แต่อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ของต่างชาติก็มองว่าการส่งออกของไทยในปีหน้าจะตกต่ำอย่างน่าใจหาย โดยมีความเชื่อว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯในปี 2007 จะมีการชะลอตัวอย่างรุนแรง ซึ่งจะเป็นแรงฉุดเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในภูมิภาคนี้ รวมทั้งประเทศไทย เนื่องจากมีการพึ่งพาตลาดส่งออกไปสหรัฐฯอยู่มาก ซึ่งการพึ่งพิงตลาดยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งอาจไม่ได้เติบโตมากนัก เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น


           นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก มีความเชื่อมั่นว่า ค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสแรกของปีพ.ศ.2550อาจจะมีการทะลุแนวต้านที่อัตราแลกเปลี่ยน 35.40 แต่ในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงช่วงมกราคม ค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าอยู่ที่ 35.7 – 35.5 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ แต่นักวิชาการสายภาครัฐก็มองว่า “การคาดการณ์เช่นนี้ดูจะรุนแรงไป โดยชี้แนะว่า ค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าจนถึงจุดอิ่มตัวแล้วและมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงไป” แต่ที่แนวรับเดิมที่ประมาณ 36.50-37.0 ซึ่งเรื่องนี้ผู้อ่านก็ต้องชั่งใจเองเพราะขณะนี้หลายสำนักจะวิเคราะห์ไม่ตรงกันและมีการเปลี่ยนแปลงรายวัน อย่างไรก็ตาม การที่ค่าเงินของไทยแข็งค่าขึ้นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องปรกติเป็นการจู่โจมเก็งกำไรของต่างชาติผ่านการซื้อพันธบัตรและตลาดตราสารและตลาดหุ้น หากธนาคารชาติไม่มีมาตรการที่จะสกัดที่ชัดเจนอะไรก็เกิดขึ้นได้ อีกทั้ง การที่ค่าเงินของไทยมีอัตราสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค เนื่องจากหลายประเทศเช่นในเกาหลีใต้ก็ได้มีการแทรกแซงค่าเงินวอน โดยเฉพาะในประเทศจีนมีการใช้เงินหยวนจำนวนมากในการแทรกแซงเงินไม่ให้แข็งค่า ในกรณีของประเทศไทยในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน มีการแทรกแซงอย่างต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนใช้เงินไปกว่า 800 ล้านเหรียญเข้าไปแทรกแซง อย่างไรก็ตาม เงินก็ยังมีการไหลเข้ามาในทางบวก (เงินสำรองของไทยขณะนี้ยังอยู่ที่ 63,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ) โดยธนาคารชาติได้มีคำสั่งห้ามธนาคารพาณิชย์ขายพันธบัตรมีสัญญาขายคืนในระยะสั้น (Sell-Buy-Back) ซึ่งพบว่ามีเม็ดเงินเข้ามาเก็งกำไรวันละ 40,000 ล้านบาท แต่นักลงทุนต่างชาติก็ยังเข้ามาเก็งกำไรได้ในตลาดหุ้นและพันธบัตรผ่านระบบ     นอมินีซึ่งก็มักได้รับความร่วมมือจากธนาคารในประเทศซึ่งส่วนใหญ่ก็ถูกถือหุ้นต่างชาติผ่านระบบนอมินีเช่นกัน

ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาดังนี้

1. แนวทางในการที่จะลดอัตราดอกเบี้ย RP ได้มีการหยิบยกมาเป็นมาตรการในการแก้ปัญหา แต่อีกหลายฝ่ายก็มาต่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยก็ไม่เป็นผลเพราะ FEDในปีหน้าก็อาจกลับมาใช้มาตรการในการลดดอกเบี้ยอีก   อีกทั้ง ในอดีตประเทศญี่ปุ่น ก็เคยประสบปัญหาเช่นนี้ และไม่สามารถใช้มาตรการ ด้านดอกเบี้ยมาใช้

2. ภาครัฐจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนและดำเนินการในระยะสั้นเพื่อช่วยผู้ส่งออก เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น 1% จะมีผลกระทบต่อการลดลงของภาคการส่งออก 0.1% ควรเร่งให้มีการประกันสินเชื่อและให้ธนาคารพาณิชย์มีการผ่อนปรนหลักทรัพย์ในการประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการมีมาตรการในการป้องกันในการเข้ามาเก็งกำไร และมีมาตรการซอฟโลนเงินกู้ ช่วยสภาพคล่องให้กับ SMEs โดยธนาคาร EXIM Bank และ SME Bank จะต้องเข้ามามีบทบาทมากกว่านี้ 

3. ธนาคารชาติและกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามาร่วมมือกัน ไม่ใช่ดูแต่ตัวเลขเชิงปริมาณและเป้าการส่งออก โดยไม่ยอมรับความจริงว่าผู้ส่งออกของเราขาดทุนและจะแบกภาระขาดทุนนั้นได้ไม่นาน และบางสำนักออกมาวิเคราะห์ในประเด็นว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งค่านี้กลับจะเป็นประเด็นช่วยให้ผู้ส่งออกไทยมีการปรับราคาขายและเป็นการปรับตัวเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ส่งออก ซึ่งการวิเคราะห์เช่นนี้ไม่ควรจะให้ผ่านออกมาเพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไร

4. ภาครัฐอย่าได้ใช้ตัวเลขเชิงบัญญัติยางค์ว่าปี 2549 ส่งออกเท่าไหร่ และปีนี้ควรจะส่งออกมากกว่าเดิมเท่าใด ซึ่งไม่สะท้อนความจริง ดังนั้น เรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนและฉุกเฉิน ต้องถือว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่า เป็นวิกฤติที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศ

5. ทางธนาคารชาติก็ต้องแสดงความเป็นมืออาชีพไม่ใช่แสดงบทนักวิชาการโดยยกเหตุผลหรือกราฟเชิงคณิตศาสตร์ที่ดูดีแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในช่วงนี้อุตสาหกรรมส่งออกไทยหวังพึ่งเพียงธนาคารชาติเพราะทุกหน่วยงานรัฐต่างโบ้ยไปว่าเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย

6. ควรจะใช้มาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา ทั้ง มาตรการทางภาษีในการดูแลเงินไหลเข้า และการลดอัตราดอกเบี้ยของไทยให้น้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และการขายพันธบัตรในลักษณะ Sell – Buy – Back ให้กับนอนเรสิเดนท์ต่างชาติ  เพราะเป็นลักษณะธุรกรรมซื้อคืน ซึ่งทางธนาคารชาติมีระเบียบห้ามสถาบันการเงินอยู่แล้ว โดยต้องมีมาตรการที่เด็ดขาดกับธนาคารที่ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งเรื่องแบบนี้คงไม่ต้องเกรงใจกันมาก แต่คงจะต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบข้างเคียง Side Effect

             ขอให้ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกรับความจริงว่าที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่าและภาคการส่งออกยังขยายตัวได้เกินเป้าหมาย ไม่ใช่เรื่องปกติวิสัย เพราะในภาคธุรกิจถึงขาดทุนก็ยังต้องผลิตและขายเนื่องจากยังต้องจ่ายค่าแรงและดอกเบี้ยธนาคาร จากการที่ภาคการส่งออกแบกรับการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนคงจะอยู่ได้ในระยะสั้น ๆภาครัฐจะต้องหามาตรการในการที่จะช่วยเหลือผู้ส่งออก ซึ่งถือเป็นเสาค้ำยันเศรษฐกิจของไทย

 

 


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก