บทความเรื่อง :: โลจิสติกส์กับการชะลอตัวของการส่งออกในปีหน้า
 


โดยธนิต  โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

           ดังที่ทราบโดยทั่วไปว่า ภาคการส่งออกมีบทบาทต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยถึงร้อยละ 67 ของ GDP โดยในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถส่งออกขยายตัวได้ถึงร้อยละ 17 ซึ่งตัวเลขทั้งปีน่าจะเกินกว่า 5.1 – 5.3 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ น่าจะโตได้ถึงร้อยละ 5.0 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยมีการขยายตัวกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันมีราคาที่สูงขึ้นทำให้ปริมาณการนำเข้ามีการชะลอตัวลง ทั้งนี้ การที่ภาคการส่งออกสามารถขยายตัวได้เกินกว่าเป้าหมายส่งผลให้เงินดุลสะพัดของไทยน่าจะกลับมาเกินดุลประมาณร้อยละ 2.1 ของ GDP จากที่เคยคาดว่าจะขาดดุลติดลบร้อยละ 2.0 ทำให้เงินทุนสำรองของไทยมีตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คือ ประมาณ 63,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าในปีหน้า โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา , ยุโรป มีทิศทางชะลอตัวลง อีกทั้ง ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ จะส่งผลต่อขีดความสามารถในการที่ขยายตัวของการส่งออก โดยเฉพาะปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ มีการแข็งค่าอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลสะท้อนจากปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งการคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED จะมีการปรับลดดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯก็ต่ำกว่าดอกเบี้ยของประเทศไทยอยู่แล้ว นัยดังกล่าว ก่อให้เกิดการแข็งค่าของเงินบาท จากอัตราที่เฉลี่ย 36.5 – 36.3 บาทต่อ 1 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ กลายเป็น 35.8 บาทต่อ 1 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2549 สภาวะการณ์ดังกล่าว ทำให้ค่าเงินบาทของไทยมีการสวิง แข็งค่าสุดโต่งกว่าประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เช่น ประเทศจีน และเกาหลี มีอัตราการแข็งค่าที่ร้อยละ 3.73 และร้อยละ 7.91

           จากการที่สภาวะที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญจากการชะลอตัวของการส่งออกในปี พ.ศ. 2550 รวมถึงการขาดทุน เนื่องจากการที่ค่าเงินบาทของไทย มีอัตราแข็งค่า ซึ่งจากการพูดคุยกับผู้ส่งออกจำนวนมากพบว่าต่างประสบปัญหาจากการขาดทุน หรืออย่างเก่งในปีนี้ก็ทำได้เสมอตัว แนวทางในการแก้ไขปัญหานอกเหนือจากการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนกับทางธนาคารและรอมาตรการจากธนาคารชาติในการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างชาติ เพื่อจะลดปริมาณจำนวนเงินดอลล่าร์ในประเทศ ซึ่งก็เป็นเรื่องเห็นผลในระยะยาว เนื่องจากจะเป็นลักษณะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างไม่ใช่เรื่องง่าย รวมทั้ง มาตรการการขยายเวลาการขายเงินตราต่างประเทศจากภายใน 7 วันเป็น 15 วัน ก็ไม่ได้ช่วยอะไรผู้ส่งออกในระยะเฉพาะหน้ามากนัก เพราะผู้ส่งออกส่วนใหญ่ เมื่อส่งออกแล้วขายตั๋ว L/C กับทางธนาคาร เมื่อได้เงินมาก็จะต้องรีบใช้ในการซื้อวัตถุดิบจ่ายค่าแรง หรือดอกเบี้ย คงจะไม่ใช่ทุกรายที่จะมีสภาพคล่อง อีกทั้งแนวโน้มของค่าเงินบาท มีการแข็งค่าขึ้นตลอด ผู้ส่งออกของไทยกลับเร่งที่จะนำ L/C ไปแลกที่ธนาคารเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินบาทให้เร็วที่สุด ดังนั้น มาตรการที่ผู้ส่งออกจะต้องเร่งนำมาใช้ ก็คือ การลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ โดยวิธีที่ง่ายและส่งผลในระยะสั้น ผู้ส่งออกจะต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับต้นทุนที่เกี่ยวกับสินค้าคงเหลือและคลังสินค้า (Inventory & Warehouse) ซึ่งรวมกันเป็นร้อยละ 47 ของต้นทุนรวมโลจิสติกส์แนวคิดในเรื่องนี้ก็ควรจะมีมาตรการในการที่จะลดสินค้าคงคลัง ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป โดยนำระบบการจัดการโลจิสติกส์มาทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ โดยมีการจัดตั้งทีมงานและให้คิดนอกกรอบ อย่าไปตั้งคำตอบว่า “ทำไม่ได้” เพราะเป็นสินค้าเกษตรหรือเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามฤดูกาล หรือปัจจัยอื่นๆ ซึ่งมักจะเป็นเหตุผลเดิมๆที่จะปฏิเสธว่าไม่สามารถทำการลดปริมาณสินค้าคงคลังหรือ Inventory ลองตั้งโจทก์ว่า “ซื้อเมื่อจะผลิต และผลิตก็ต่อเมื่อจะจัดส่งให้กับลูกค้า” แล้วพยายามช่วยกันคิดหาวิธีการว่าจะทำได้อย่างไร อาจไม่ใช่ถึงขั้นที่จะเป็น Zero Stock management แต่ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะลด Inventory ให้ได้ 20-30% ภายใน 2 เดือน เป็นต้น ซึ่งหากทำได้ก็จะพบว่าต้นทุนที่จัดเก็บสินค้าคงคลังจะลดลงอย่างน่าตกใจ  นอกจากนี้ การนำระบบโลจิสติกส์มาใช้ในการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ซึ่งถือว่าเป็นร้อยละ 45-46 ของต้นทุนรวมโลจิสติกส์ โดยผู้ส่งออกก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่เช่นกันในการปรับเปลี่ยนและเลือกรูปแบบการขนส่งทั้งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปให้หันมาใช้รูปแบบการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำ โดยหันมาใช้การขนส่งทางชายฝั่งทะเล หรือทางแม่น้ำ หรือทางรถไฟมากขึ้น ซึ่งจะมีต้นทุนต่ำกว่าการขนส่งทางถนนร้อยละ 3-6 เท่า โดยผู้ส่งออกซึ่งอยู่ในต่างจังหวัดและห่างจากท่าเรือหลัก คงจะต้องมีการพิจารณาปรับโหมดการขนส่ง หากไม่สามารถทำได้ก็ต้องหาวิธีการไม่ให้รถบรรทุกตีเที่ยวเปล่ากลับโดยไม่มีสินค้า โดยอาจจะใช้วิธีการที่เรียกว่า Back Haulage ซึ่งอาจร่วมมือกับผู้ขายวัตถุดิบหรือคู่ค้าในโซ่อุปทาน ในการจัดตารางการส่งมอบสินค้าให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาที่รถไปส่งสินค้าที่ท่าเรือ และให้ไปรับวัตถุดิบจากผู้ค้าบรรทุกสินค้ากลับส่งโรงงาน หรือผู้ส่งออกอาจมีการตกลงกับโรงงานข้างเคียงให้เข้ามาอยู่ร่วมในโครงการ Call Center ซึ่งเห็นว่าก็มีผู้ส่งออกหลายรายได้ลงมือทำ และประสบความสำเร็จ ผลที่ได้ก็จะเป็นการลดต้นทุนโลจิสติกส์แบบง่ายๆ เห็นผลในระยะสั้น  และมีเงินเหลือหมุนเวียน เกิดสภาพคล่อง แต่ก็ยังมีผู้ส่งออกบางราย ซึ่งยังหลับไม่ตื่น บอกว่าธุรกิจของตนเองไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโลจิสติกส์ ซึ่งบางทีการไม่มีปัญหาอาจเกิดจากการไม่รู้ว่ามีปัญหา กรณีอย่างนี้ก็ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว

          อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่แข็งค่า หวังว่าธนาคารชาติและภาครัฐควรจะใช้มาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหา เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยของไทยให้น้อยกว่าหรือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งเรื่องแบบนี้คงไม่ต้องเกรงใจกันมาก แต่คงจะต้องมีมาตรการรองรับผลกระทบข้างเคียง Side Effect ขอให้ภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกรับความจริงว่าที่ผ่านมาค่าเงินบาทแข็งค่า และภาคการส่งออกยังขยายตัวได้เกินเป้าหมาย ไม่ใช่เป็นเรื่องปกติวิสัย เพราะในภาคธุรกิจถึงขาดทุนก็ยังต้องผลิตและขายเนื่องจากยังต้องจ่ายค่าแรงและดอกเบี้ยธนาคาร จากการที่ภาคการส่งออกแบกรับการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนคงจะอยู่ได้ในระยะสั้นๆ ดังนั้น ผู้ส่งออกจะต้องใช้มาตรการด้านโลจิสติกส์ในการลดต้นทุน ทั้งในด้านสินค้าคงคลัง การขนส่ง การกระจายสินค้า รวมถึงการใช้ประโยชน์จาก Outsourcing ขณะที่ภาครัฐจะต้องหามาตรการในการที่จะช่วยเหลือผู้ส่งออก ซึ่งถือเป็นเสาค้ำยันเศรษฐกิจของไทย ของอย่างนี้...ช้าๆได้พร้าเล่มงามใช้ไม่ได้ครับ....


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก