บทความเรื่อง :: คลังสินค้าเครื่องมือการกระจายสินค้าในระบบโลจิสติกส์
 


Warehouse & Distribution Center on the Logistics delivery platform.

โดยธนิต  โสรัตน์

ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP

           คลังสินค้า (Warehouse) ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึง สถานที่เก็บสินค้า , คลังสินค้า , โกดังสินค้า , โรงพัสดุ คลังสินค้า   ยังรวมถึงสถานที่เก็บสินค้าประเภทต่างๆ เช่น คลังพัสดุ (Depot) , คลังสินค้าประเภทแช่เย็น (Frozen Warehouse) คลังสำหรับกระจายสินค้า (Distribution Warehouse) , คลังพลาธิการ , คลังยุทธปัจจัย , แท็งค์เก็บสินค้าของเหลว (Liquid Tank) , ฉางเก็บสินค้า (Silo) , คลังสินค้าท่าเรือ (Wharf) , คลังสินค้าประเภท ICD และ Cross-Dock  Warehouse ฯลฯ นอกจากนี้ Warehouse ตามความหมายของโลจิสติกส์ หมายถึง สถานที่ใช้ในการเก็บรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพที่ดี และคุณสมบัติที่พร้อมจะส่งมอบให้กับบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยบรรลุเป้าหมายแบบ Right Time , Right Quantities , Right Place โดยภาระกิจที่สำคัญคลังสินค้าจึงทำหน้าที่เป็นที่พักและเก็บสินค้าหรือวัตถุดิบหรือวัสดุสิ่งของต่างๆ โดยเป็นสถานที่ซึ่งใช้ในการพักสินค้าชั่วคราวจนกว่าจะมีการเคลื่อนย้ายไปสู่ผู้ที่มีความต้องการไม่ว่าจะเพื่อการผลิตหรือเพื่อจำหน่าย จ่ายแจก หรือขาย หรือส่งมอบ คลังสินค้าจึงต้องมีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ คือ ประการแรก ทำหน้าที่ในการรับสินค้า โดยการตรวจสอบจำนวน คุณลักษณะในการที่จะแยกแยะ จัดเก็บให้เป็นหมวดหมู่ โดยการจัดการที่มีระบบการตรวจสอบและตรวจนับความถูกต้องที่เกี่ยวข้องกับปริมาณ ,จำนวน ,สภาพ และคุณภาพ  โดยคลังสินค้าทุกประเภทจะทำหน้าที่ในฐานะผู้ทรงสิทธิในความเป็นเจ้าของสินค้าชั่วคราว ซึ่งหมายถึง ความรับผิดชอบที่จะมีต่อตัวสินค้า ดังนั้น หน้าที่ประการที่สองของ Warehouse จึงเกี่ยวข้องกับการควบคุมและรับผิดชอบต่อสินค้าที่จัดเก็บอยู่ในคลัง ซึ่งต้องอาศัยการบริหารจัดการ ทั้งการใช้เทคนิค เทคโนโลยีในการเก็บและทักษะ , เครื่องมือและเครื่องทุ่นแรงประเภทต่างๆ เช่น รถยก , ชั้นวางสินค้า , การควบคุมบรรยายกาศ อุณหภูมิ และสภาพแวดล้อมในคลังให้เหมาะสมกับสินค้าแต่ละชนิด แต่ละประเภท รวมถึงอาศัยระบบและการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Automated Robot System (ระบบหุ่นยนต์) ,ระบบ Bar Code หรือ RFID รวมถึงระบบการสื่อสารอิเล็กโทรนิกส์ โดยกิจกรรมในการควบคุมสินค้านี้จะเกี่ยวข้องกับการคัดแยกสินค้า , การ Packing , การแบ่งบรรจุ , การคัดเลือก , การติดป้าย และที่สำคัญและเป็นหัวใจของ Warehouse คือ การควบคุมทางด้านเอกสาร ทั้งที่เกี่ยวกับรายงาน (Status) การเคลื่อนไหว การรับและการเบิก-จ่าย ที่เรียกว่า Inventory Report และการควบคุมทางบัญชี  โดยต้นทุนในการเก็บรักษาสินค้า จะเป็นจำนวนหนึ่งในสามของต้นทุนโลจิสติกส์ นอกจากนี้ หน้าที่ประการที่สาม ของคลังสินค้า คือการส่งมอบจ่ายแจกสินค้าไม่ว่าจะส่งมอบสินค้าให้กับผู้ผลิต หรือการจัดส่งสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้รับ ทั้งจำนวน , สภาพ , สถานที่และเวลา (The right thing at the right place in the right time) เพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า ซึ่งจะต้องมีกระบวนการคัดเลือกสินค้าและระบบการจัดส่งให้กับลูกค้า ด้วยหน้าที่นี้ทำให้คลังสินค้า สามารถแยกออกตามลักษณะของภารกิจ ได้แก่ คลังสินค้าเพื่อการจัดเก็บ (Storage Warehouse) ,คลังสินค้าสำหรับจำหน่าย , ศูนย์ขนส่งสินค้า , คลังสินค้า     ทัณฑ์บน (Bonded) , ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Cross Dock Warehouse) และศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) จะเห็นได้ว่า คลังสินค้าเป็นกิจกรรมที่สำคัญของการจัดการโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดรองจากกิจกรรมด้านขนส่ง ทั้งนี้การลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่ได้ผลและทำได้รวดเร็วเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็โดยการลดจำนวนสินค้าคงคลัง โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการส่งมอบ ที่เรียกว่า Just In Time โดยภารกิจของคลังสินค้าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ โดยเน้นประสิทธิภาพทางด้านเวลา โดยลดช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายสินค้าและการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ (Space Utility) โดยยุทธศาสตร์สำคัญของการบริหารสินค้าคงคลังสมัยใหม่ จะให้ความสำคัญของ Zero Stock หรือ สต๊อกที่เป็นศูนย์ ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสิงค้าคงคลังเหลืออยู่เลย  แต่ความหมายของ Zero Stock นั้นได้เอาสต๊อกที่เป็นศูนย์เป็นตัวตั้ง โดยพยายามให้มีกระบวนการต่างๆที่จะทำให้สิงค้าคงคลังน้อยที่สุด โดยมีตัวชี้วัดเปรียบเทียบกับ Zero Stock ซึ่งอาจจะมีการนำระบบการบริหารจัดการ ที่เรียกว่า Six Sigma มาใช้และดำเนินการนำระบบโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ หรือที่เรียกว่า Logistics Best Practice โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า ปริมาณของสินค้าคงคลังที่ธุรกิจจะยินยอมให้มีมากที่สุดมีได้เท่าไหร่ ซึ่งจะต้องมีระบบ KPI และระบบ Balance Score Card มาใช้ควบคู่กันก็จะได้ประโยชน์สูงสุด

           คลังสินค้าไม่ว่าจะคลังของธุรกิจเองหรือคลังสินค้าของ Outsource ก็ล้วนแต่เป็นกิจกรรมหนึ่งของโลจิสติกส์ ในการทำหน้าที่เป็น Buffer ในการรองรับช่องว่างของความสมดุลระหว่างปริมาณสินค้าที่ผลิตได้ กับสินค้าที่มีการส่งมอบให้กับลูกค้าได้จริง โดยปริมาณสินค้าทั้งหมดที่เก็บไว้ในคลังสินค้าสำหรับคนไทย มักจะถือเป็นทรัพย์สิน (Asset) อยู่ในบัญชีงบดุล ขณะที่การจัดการสมัยใหม่จะถือว่าสินค้าคงคลังเป็นค่าใช้จ่าย เป็น Cost ซึ่งโดยข้อเท็จจริงมูลค่าของสินค้าคงคลังจะไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง อันเนื่องมาจากความเสียหายในการจัดเก็บ , ต้นทุนในการจัดเก็บ , การเสื่อมสภาพ และสินค้าบางส่วนก็เป็น Waste หรือขยะซึ่งไม่กล้าทิ้งและไม่กล้าตัดบัญชี  ซึ่งวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกันของ 2 มุมมองนี้ จะเป็นตัวบ่งชี้ของธุรกิจที่ไม่ได้มีการจัดการด้วยโลจิสติกส์กับธุรกิจที่มีการจัดการโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ ซึ่งธุรกิจประเภทนี้จะมีการบริหารจัดการโดยใช้ประโยชน์ของข้อมูลข่าวสารมาแทนสินค้าคงคลัง ที่เรียกว่า “Information Replace Inventory” โดยปรับเปลี่ยนระบบการผลิตเมื่อเฉพาะส่งมอบสินค้าเท่านั้นไม่ใช่ผลิตไปเพื่อเก็บไว้ในคลังสินค้าเพื่อรอการส่งมอบ ซึ่งเป็นเทคนิคที่สำคัญที่ธุรกิจของไทยจะต้องมีการริเริ่มในการปรับปรุง โดยเลิกการคาดเดาความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะใช้โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์หรือทางสถิติ โดยการขาดความเชื่อมโยงกับคู่ค้าและลูกค้า ซึ่งผลลัพธ์ของการคาดเดาเช่นนี้ ก็คือ ปริมาณของสินค้าคงคลังที่เรียกว่า Safety Stock หรือ สต๊อกกันเหนียว ซึ่งที่สุดแล้วก็กลายเป็นต้นทุนขององค์กร ซึ่งนี่คือเหตุผลสำคัญที่ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยทำไมจึงสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซียหรือประเทศสิงคโปร์ และหรือประเทศที่พัฒนาแล้ว ถึงเวลาแล้วที่ต้องเปลี่ยนมุมมอง โดยการวัดผลสำเร็จของธุรกิจด้วยการมี Warehouse ขนาดใหญ่และใช้พื้นที่ของโรงงานและหรือทุนหมุนเวียน 1 ใน 3 ไปกับเรื่องของคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อการแข่งขันในยุคเสรีการค้า
การจัดเก็บสินค้า (Inventory Management)

          เป็นการจัดการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ผลิตเข้าเก็บในคลังสินค้าและ การจัดการในการรวบรวมสินค้ามาไว้ในสถานที่เดียวกัน ซึ่งมีความเหมาะสมทั้งในด้านภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจ อันจะทำให้สามารถลดปริมาณการเก็บ Stock ที่ต้องมีการสำรองเผื่อขาดที่เรียกว่า Safety Stock มาเป็นการเก็บ ที่เรียกว่า Zero Stock Management (สต๊อกศูนย์) ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนรวมและต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้าในด้านการขนส่งได้ และลดต้นทุนที่เกิดจากสินค้าเสื่อมและเสียหายอันเกิดจากการเก็บสินค้า ผลของการจัดการคลังสินค้าที่ดี เมื่อนำมาใช้ร่วมกับ JIT และ EOQ (Economy Order Quantity) จะมีผลต่อปริมาณสินค้าที่จะต้องคงคลัง และส่งผลต่อการเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment)


ประเภทของคลังสินค้า อาจแบ่งได้เป็นดังนี้

1. คลังสินค้าสำหรับเก็บรักษา (Storage) เป็นคลังสินค้าที่ทำหน้าที่เป็นสถานที่เก็บรักษาสินค้าของผู้ผลิตหรือของ Suppliers โดยมีพื้นที่ของคลังสินค้าจะมีไว้สำหรับการเก็บรักษาสินค้าสำเร็จรูปในระยะเวลาปานกลางหรือระยะเวลายาวนาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการเก็บสินค้าเพื่อรอนำไปผลิตหรือรอการจัดจำหน่าย  อาจอยู่ ณ พื้นที่ส่วนเดียวกันกับโรงงานผู้ผลิตหรืออยู่นอกโรงงาน การจัดพื้นที่คลังสินค้าจะมุ่งเน้นความเป็นระเบียบ การเข้าถึงพื้นที่จัดเก็บได้อย่างสะดวก และค้นหาง่าย บางครั้งคลังสินค้าประเภทนี้อาจรวมถึงคลังกลางแจ้ง หรือ คลังสินค้าที่มีรูปแบบพิเศษอื่นๆ

2. คลังสินค้าสำหรับกระจายสินค้า (Distribution Center) เป็นคลังสินค้าที่มีวัตถุประสงค์ในการรวบรวมสินค้าจากผู้ผลิตรายเดียวหรือหลายรายเพื่อรอการจัดส่ง กิจกรรมที่เกิดขึ้นในคลังสินค้า จะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการรวบรวมสินค้า (Consolidate) โดยมีหน้าที่รวบรวมสินค้าให้ครบถ้วนหรือพอเพียงก่อนจัดส่ง สินค้า โดยระยะเวลาการเก็บรักษาสินค้าอยู่ในคลังสินค้าจึงใช้เวลาเพียงระยะสั้นในการเก็บสินค้าเพื่อรอการส่งมอบ
วัตถุประสงค์ของคลังประเภทกระจายสินค้า

ก. เพื่อความรวดเร็วในการกระจายสินค้า พิจารณาเปรียบเทียบกับแผนดำเนินงานในส่วนอื่นๆ ของแผนธุรกิจโดยรวม อาจพิจารณาว่าการกระจายสินค้าต้องสอดคล้องกับการประชาสัมพันธ์สินค้า ในด้านการผลิตต้องมีการกระจายสินค้าไปสู่คลังสินค้าต่างๆ ได้ตรงตามแผนการผลิตของลูกค้า


ข. ประหยัดต้นทุนรวมของสินค้า โดยการผลิตที่เรียกว่า Zero Stock


ค. ใช้เป็นกลยุทธ์ในการกระจายสินค้า เพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งขัน โดยอาจไปตั้งคลังสินค้าใกล้กับลูกค้า


ง. ใช้เป็นศูนย์รวบรวมสินค้า เพื่อให้มีปริมาณพอเพียงกับการจัดส่ง เช่น การบรรจุสินค้าแบบ Consolidate คือรวบรวมสินค้าของแต่ละผู้ส่งหรือผู้ขาย  ซึ่งมีจำนวนไม่พอเพียงที่จะจัดส่งให้เต็มตู้ Container ธุรกิจ Supply Chain ทำหน้าที่ในการให้บริการในการรวบรวมสินค้า เพื่อให้สินค้ามีปริมาณมากพอที่จะบรรจุตู้สินค้าหรือคุ้มกับการบรรทุกในแต่ละเที่ยวของขนส่ง    อาจพิจารณาได้จากการส่งมอบได้ครบถ้วน ตามปริมาณความต้องการที่เกิดขึ้นในแหล่งต่างๆ ที่ต้องกระจายสินค้าไปให้

3. คลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse) เป็นคลังสินค้าที่อาจตั้งขึ้นโดยมี  วัตถุประสงค์อื่นเป็นหลักมากกว่าที่จะใช้เป็นที่เก็บรักษาสินค้า ซึ่งอาจมีลักษณะ ดังนี้


ก. คลังสินค้าปลอดอากร ซึ่งอาจตั้งขึ้นโดยอาศัยกฎหมายศุลกากร หรือ กฎหมายสรรพสามิต หรือ กฎหมายอื่นๆ เพื่องดเว้นภาษีหรือค่าอากรขณะที่เก็บและชำระภาษีเมื่อมีการนำออกไปจำหน่าย

ข. คลังสินค้ายุทธภัณฑ์ เป็นคลังสินค้าเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารโดยเฉพาะ

ค. คลังสินค้าที่เป็นตลาดกลาง เป็นคลังสินค้าที่มีไว้โดยไม่มุ่งหมายทางธุรกิจ แต่เพื่อเก็บสินค้าทางเกษตรในช่วงฤดูกาล อาจเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือ การพยุงราคาของสินค้า

ง. คลังสินค้าเพื่อการเก็บสินค้าที่มีการจำนองหรือจำนำ หรือเพื่อขอโควต้าต่างๆ

4. คลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ ได้แก่คลังสินค้าซึ่งต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น Frozen Storage , คลังสินค้าเก็บเคมีหรือคลังสินค้าเก็บไวน์

5. คลังยุทธปัจจัย เป็นคลังสินค้าที่มีไว้เพื่อการทหาร

6. คลังสินค้าเทกอง มักจะเป็นคลังสินค้าที่ไม่มีหลังคา ใช้ในการเก็บพืชไร่ , หรือแร่ธาตุ

7. คลังสินค้าประเภทไซโลและถัง (Silo & Tank) ซึ่งมีลักษณะปิดมิด โดยมีวัตถุประสงค์ในการเก็บสินค้าบางประเภท ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ด , เกล็ด , ผลหรือเป็นของเหลวหรือที่เป็นก๊าซ

ประเภทของคลังสินค้าแบ่งตามลักษณะทางกายภาพ (Physical) ได้เป็น
 
1) คลังสินค้าที่มิดชิด มีกำแพง เพดาน และประตู ได้แก่ คลังสินค้าทั่วไป ซึ่งบางแห่งจะมีการควบคุมอุณหภูมิ หรือ มีการติดตั้งเครื่องทำความเย็น (Frozen Warehouse)

2) คลังสินค้าที่มีแต่หลังคา แต่ไม่มีผนัง ใช้ในการเก็บสินค้าซึ่งไม่เสียหายจากสภาวะอากาศ มักเป็นสินค้าขนาดใหญ่และมีน้ำหนัก ซึ่งโอกาสที่จะเสียหายหรือสูญหายได้ยาก

3) คลังสินค้ากลางแจ้ง พื้นต้องเป็นคอนกรีต มีการยกพื้น มีระบบป้องกันน้ำท่วม ไม่มีหลังคา หรือสิ่งก่อสร้าง หากไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวก็ไม่ถือเป็นคลังสินค้ากลางแจ้งแต่อาจเป็นลานวางสินค้าทั่วไป คลังสินค้ากลางแจ้ง อาจได้แก่ ลานที่ใช้ในการเรียงกองตู้คอนเทนเนอร์ เช่น ตาม ICD หรือ ท่าเรือ หรือ สนามบิน นอกจากนี้ยังได้แก่ คลังสินค้ากลางแจ้ง ใช้เก็บสินค้าที่มีขนาดใหญ่ หรือสินค้า เทกอง หรือพืชไร่ แร่ธาตุต่างๆ

4) คลังสินค้าที่เป็นถัง (Tank) หรือ สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ที่สินค้านำเข้าหรือเอาออก โดยวิธีดูดผ่านท่อ (Pipe) เช่น คลังเก็บน้ำมัน เก็บเคมี หรือ Silo เก็บอาหารสัตว์ , สินค้าการเกษตรต่างๆ

5) คลังสินค้าเคลื่อนที่ได้ ได้แก่ ระวาง (Deck) ของเรือสินค้า หรือเครื่องบินหรือโบกี้เก็บสินค้าของรถไฟหรือตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าที่ใช้เป็นสถานที่เก็บสินค้าเพื่อรอการส่งมอบ

6) คลังเก็บข้อมูลอิเล็กทรอนิคส์ (Data Bank) เช่น Server ที่ใช้เก็บข้อมูล ซึ่งปัจจุบันถือเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถส่งมอบให้ผู้ที่ต้องการ โดยวิธี Down Load ผ่านเครือข่าย Network เช่น Web site เป็นต้น

คลังสินค้าในฐานะกิจกรรมลดต้นทุนทางโลจิสติกส์
          Warehouse หรือคลังสินค้า เป็นที่รู้จักของบุคคลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าการขายมานานแล้ว กล่าวได้ว่า กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ที่คนไทยคุ้นเคยรองจากภาคการขนส่ง ก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับคลังสินค้า อย่างไรก็ดี ลักษณะพิเศษของคนไทยก็มักจะรู้ไปทุกเรื่อง แต่ส่วนใหญ่ก็จะรู้ไม่จริง ดังเช่นกรณีของ  การจัดการคลังสินค้ายุคใหม่.. คงไม่ใช่เป็นเพียงที่เก็บสินค้า มีกิจกรรมการเบิก-การจ่ายและการจัดเรียงสินค้าเท่านั้น แต่กิจกรรมของคลังสินค้าจะมีบทบาทในฐานะเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ประมาณ 1 ใน 3    ดังนั้น ในยุคที่เปิดเสรีทางการค้าภายใต้การแข่งขันระดับโลกขีดความสามารถในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ จึงมีส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจ กล่าวได้ว่า การที่จะนำระบบโลจิสติกส์มาประยุกต์ใช้ในองค์กรให้ได้เห็นผลได้ชัดเจนที่สุดก็ต้องมุ่งไปที่การลดสินค้าคงเหลือ โดยควรจัดเป็นแผนแม่แบบ ที่เรียกว่า Logistics Matrix เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังให้มีปริมาณที่เหมาะสมและประหยัดต้นทุนในการเก็บรักษา ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยการจัดการที่เรียกว่า Just In Time  Value  คือ ทุกหน่วยงานภายในองค์กรต่างมีการบริการแบบทันเวลา มาใช้ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยดังนี้ ประการแรก Material Plan คือ วางแผนด้านวัตถุดิบและสินค้าคงเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ การไหลลื่นของสินค้าให้สัมพันธ์กับเวลาที่จะใช้ คือ เกี่ยวข้องกับอรรถประโยชน์ของเวลา (Time Utility) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจัดการปฏิสัมพันธ์กับคู่ค้า ที่เรียกว่า SRM (Suppliers Relationship Management) คือ การจัดการ การตรงต่อเวลาในการส่งมอบของคู่ค้าในโซ่อุปทาน  ประการที่สอง Production Plan ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนระบบการผลิต โดยการผลิตสมัยใหม่ ได้เปลี่ยนแนวความคิดจากการผลิตที่ประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มาเป็นลักษณะการผลิตแบบประหยัดต่อความเร็ว (Economies of Speed) จะทำการผลิตเมื่อสินค้ามี Demand หรือความต้องการและเป็นการผลิตเพื่อการส่งมอบเท่านั้น ประการที่สาม  คลังสินค้าควรออกแบบให้สัมพันธ์กับประบวนการผลิต โดยให้มีลักษณะเป็น Cross Dock คือ มีช่องทางสำหรับวัตถุดิบที่เข้า และมีช่องทางที่ต่อเนื่องกับกระบวนการผลิตแบบ Flow Production ไปจนถึงประตูที่จะส่งมอบสินค้าสำเร็จรูป

         สินค้าคงคลัง (Inventory) ได้แก่ สินค้าต่างๆที่เก็บไว้ในคลังสินค้า เช่น สินค้าสำเร็จรูป , สินค้าระหว่างการผลิต , วัตถุดิบ , วัสดุสิ้นเปลือง , ทรัพย์สินสิ่งของ ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีลักษณะที่เป็นของที่สามารถโยกย้ายได้ที่เรียกว่าเป็นสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นของที่มีมูลค่าอันอาจถือกรรมสิทธิถือครองและเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของได้ โดยสินค้าจะต้องคู่กับคลังสินค้าและเป็นส่วนสำคัญที่สุดของระบบ        โลจิสติกส์ เพราะพันธกิจหลักของโลจิสติกส์ คือ การเคลื่อนย้ายส่งมอบสินค้าและต้องเป็นสินค้าที่จับต้องได้ (Physical Goods) ซึ่งสินค้าที่เป็นอิเล็กโทรนิกส์ ก็จะต้องมีการเคลื่อนย้ายผ่าน Media ไม่ว่าจะเป็น Disc , Server หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับบริการจะเป็นส่วนควบที่คิดไปกับตัวสินค้า วัตถุประสงค์หลักของในการจัดการ Logistics คือ การสร้างความพึงพอใจต่อลูกค้า ที่เรียกว่า Efficient Consumers Response หรือ ECR โดยมีต้นทุนในการดำเนินงานในระดับ Economy Scale การที่กำหนดระดับสินค้าคงคลังในระดับที่มากจนเกินพอดี อาจดูปลอดภัยแต่ก็จะส่งผลให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูงเช่นกัน จึงต้องมีการจัดการ   สินค้าคงคลังให้เหมาะสม

ลักษณะของสินค้าคงคลังจัดแบ่งตามภาระกิจ ประกอบไปด้วย

1) สินค้าคงคลังหรือสินค้าหมุนเวียน (Current Stock) เป็นการสำรองสินค้า เพื่อให้มีปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการทั้งเพื่อการผลิตและเพื่อการส่งมอบให้กับลูกค้า ร่วมถึงสินค้าที่ผลิตได้บางฤดูเท่านั้น จึงต้องมีการผลิตและเก็บรักษาไว้จำหน่ายตลอดปี

2) สินค้าที่อยู่ระหว่างกระบวนการผลิตภายในกระบวนการผลิตโรงงาน (Work-in-process Stock)

3) สินค้าคงคลังสำรอง (Safety/Buffer) เป็นการสำรองสินค้าซึ่งมีระยะเวลาในการส่งมอบ( Lead Time) เช่นสินค้า ซึ่งต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ

4) สินค้าระหว่างการขนส่ง (In-Transit) ซึ่งอยู่ในระหว่างเส้นทางการขนส่ง จากโรงงานของผู้ขายมายังโรงงานผลิต เช่น การขนส่งทางเรือ ซึ่งใช้เวลา ขนส่งจากผู้ผลิตไปสู่ลูกค้า ซึ่งอยู่คนละส่วนของทวีป หรือเก็บรักษาไว้ ณ     คลังสินค้า หรือศูนย์กระจายสินค้า การขนส่งจากโรงงานไปยังลูกค้า

5) สินค้าคงคลังสำรองของ Suppliers หรือผู้จัดส่ง เป็นสินค้าคงคลังสำรองที่ผู้ขายสินค้าได้เก็บสำรองไว้ให้กับ ผู้ผลิต (ลูกค้า) เพื่อป้องกันความแปรผันของ Order ฉุกเฉินหรือป้องกันการผลิตที่ไม่ทันหรือป้องกันการจัดส่งไม่ทัน ซึ่งถือเป็นต้นทุนของผู้ขาย (Suppliers)  โดยธรรมชาติก็จะมีการบวกเข้าไปในต้นทุนสินค้า ซึ่งก็จะกลายเป็นต้นทุนของผู้ซื้อในที่สุด

          การดำเนินกิจกรรมของ Supply Chain ซึ่งมี Logistics เป็นหัวใจของการบริหารจัดการมุ่งไปสู่ Just in Time ที่ต้องมีการวางระบบการผลิต ให้มีประสิทธิภาพเชิงต้นทุนในการปรับเปลี่ยนการผลิตให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆได้       โดยเฉพาะต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงคลังไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูป จะมีผลต่อความสามารถในการแข่งขันการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะนำการจัดการแบบ Lean และนำระบบการจัดการข้อมูลข่าวสารที่ดี สามารถลดการลงทุน ในสินค้าคงคลังในด้านวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปโดยรวมของโซ่อุปทานได้  และ เพิ่มยอดขายได้มากขึ้น ก็จะส่งผลให้อัตราส่วนการ    หมุนเวียนสินค้าคงคลังสูงขึ้นและเมื่อเกิดการลงทุนในสินค้าคงคลังลดลง ก็จะส่งผลให้อัตราส่วนผลตอบแทนการลงทุนสูงขึ้นได้ และต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาลดลงที่เรียกว่า Economy of Scale ต้นทุนการดำเนินงานจึงลดลงด้วย ซึ่งนำไปสู่การตั้งราคาที่ต่ำลงได้และเกิดความสามารถในการแข่งขัน  (Core Competency)

         จะเห็นได้ว่าการวางแผนจัดการคลังสินค้า จะเกี่ยวข้องกันตั้งแต่ Suppliers คือ คู่ค้า ต้นน้ำ การวางแผนการตลาดไปสู่การวางแผนการผลิต และการจัดซื้อสินค้า รวมถึงการวางแผนที่เกี่ยวข้องกับการกระจายสินค้า (Distribution Plan) ไป Consumers หรือผู้บริโภคปลายน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกี่ยวข้องกับกิจกรรม  ลูกค้าสัมพันธ์ (Customers Relation) โดยบริษัทที่มีการพัฒนาระบบ การจัดการคลังที่ดีจะต้องนำระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) เข้ามาช่วยในการลดสต๊อก โดยให้มีหน่วยงานทำหน้าที่โดยตรง รวมถึง การจัดการความสัมพันธ์ของลูกค้า IMR (Inventory Management Relationship) โดยภารกิจสำคัญของหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายการตลาด , การผลิต และลูกค้า  โดยต้องสถาปนาระบบการส่งมอบแบบทันเวลา ที่รู้จักกันดีในชื่อ Just in Time Delivery ซึ่งจะต้องเป็นการผสมผสานกับการจัดการข้อมูล ข่าวสารที่ดี (Data Base Organization) จึงจะส่งผลต่อการส่งเสริมต่อการผลิตจนนำไปสู่ระบบการผลิต ที่เรียกว่า Zero Stock หรือการจัดการแบบไม่มีสินค้าคงเหลือ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงก็อาจเป็นเพียงนามธรรม แต่แนวคิดนี้มีนัยสำคัญ คือ การลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่ได้ผลและทำได้รวดเร็วและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็โดยการลดจำนวนสินค้าคงคลัง ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการส่งมอบ ที่เรียกว่า Just In Time โดยภารกิจของคลังสินค้าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ โดยเน้นประสิทธิภาพทางด้านเวลา โดยลดช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายสินค้าและการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ (Space Utility) โดยยุทธศาสตร์สำคัญของการบริหารสินค้าคงคลังสมัยใหม่ จะนำระบบการผลิตแบบ Lean Production มาใช้เพื่อให้เกิดการประหยัดจาก Economies of Speed ด้วยการลดจำนวนสินค้าคงคลังให้น้อยที่สุด ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสิงค้าคงคลังเหลืออยู่เลย  แต่ความหมายของ Zero Stock นั้นได้เอาสต๊อกที่เป็นศูนย์เป็นตัวตั้ง โดยพยายามให้มีกระบวนการต่างๆที่จะทำให้สินค้าคงคลังน้อยที่สุด โดยมีตัวชี้วัดเปรียบเทียบกับ Zero Stock ซึ่งอาจจะมีการนำระบบการบริหารจัดการ ที่เรียกว่า Six Sigma มาใช้และดำเนินการนำระบบโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ หรือที่เรียกว่า Logistics Best Practice โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า ปริมาณของสินค้าคงคลังที่ธุรกิจจะยินยอมให้มีมากที่สุดมีได้เท่าไหร่ ซึ่งจะต้องมีระบบ KPI และระบบ Balance Score Card มาใช้ควบคู่กันก็จะได้ประโยชน์สูงสุด 

         อย่างไรก็ตาม  การที่กำหนดระดับสินค้าคงคลังในระดับที่มากจนเกินพอดี อาจดูปลอดภัยแต่ก็จะส่งผลให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง จึงต้องมีการจัดการสินค้าคงคลังให้เหมาะสม  ซึ่งส่งผลให้สามารถลดต้นทุนรวมและต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้าและส่งผลทางอ้อมต่อการลดต้นทุนในด้านการขนส่งค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้า , ดอกเบี้ย , ค่าเสียโอกาส และลดต้นทุนที่เกิดจากสินค้าเสื่อมและเสียหายอันเกิดจากการเก็บสินค้า ผลของการจัดการคลังสินค้าที่ดี เมื่อนำมาใช้ร่วมกับ JIT : Just in Time และ EOQ (Economy Order Quantity) จะมีผลต่อการเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment)   ซึ่งธุรกิจที่จะนำระบบนี้มาใช้ได้จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดที่ว่าคลังสินค้าขนาดใหญ่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ซึ่งแนวคิดสมัยใหม่บอกว่าไม่ใช่ ในประเทศที่พัฒนาโลจิสติกส์นั้นเขามองสินค้าคงเหลือเป็น Expense ไม่ได้มองเป็นหมวดทรัพย์สินหรือ Asset อย่างที่คนไทยคิด อีกประการหนึ่ง จะต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารงานแต่ละส่วนงานให้มีการคิดเป็นแบบองค์รวม โดยไม่กำหนดระดับสินค้าคงเหลือหรือ Safety Stock ในระดับที่มากเกินพอดี ซึ่งอาจดูปลอดภัยสำหรับตัวเอง ที่จะไม่ถูกแผนกอื่นต่อว่า หรือลูกค้า Complain แต่ก็จะส่งผลให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการบริหารคลัง โดยใช้เทคนิคและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการใช้บาร์โค้ด หรือ RFID มาใช้ในระบบการจัดการคลัง ตั้งแต่การกำหนด Location ที่วางสินค้า ,  การแพ็คกิ้ง , การควบคุมงานด้านเอกสาร และที่เกี่ยวข้องกับการรายงานสถานะของสินค้าคงคลัง โดยคลังสินค้าที่นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงกับเครือข่าย Internet / XML สินค้าที่เข้าหรือออกจากคลังก็สามารถรายงานสถานะเชื่อมโยง Online ไปในเครือของโซ่อุปทานจนไปถึงหน่วยงานจัดซื้อ , คู่ค้า , ผู้ให้บริการ            โลจิสติกส์ และลูกค้า ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อการลดต้นทุนรวมด้านโลจิสติกส์  โดยการจัดการคลังสินค้ายุคใหม่จะต้องมีการปฏิรูป และ Re-Thinking โดยผู้บริหารควรจะมีการทบทวนเกี่ยวกับขนาดของพื้นที่คลังสินค้า ซึ่งบางธุรกิจมีกว่าหนึ่งในสี่ของพื้นที่โรงงานใช้ไปกับคลังสินค้า ทั้งนี้  ลูกค้าไม่สนใจว่าธุรกิจจะมีคลังสินค้าใหญ่เพียงใด “ลูกค้าสนใจเฉพาะเมื่อสั่งซื้อแล้วต้องได้ของภายในเวลาที่ต้องการ ภายในราคาที่แข่งขัน” ผู้บริหารองค์กรจึงต้องพิจารณา ยอมรับว่าอาจเป็นความล้มเหลวของการบริหาร ที่ต้องทำให้มีสินค้าคงคลังจำนวนมาก อย่าอ้างเหตุผลเดิมๆ เช่น สินค้าเป็น Seasoning  ซื้อจำนวนมากจะได้ราคาต่ำ โดยให้มอง Inventory หรือสินค้าคงคลังเป็น Cost ไม่ใช่ Asset การแก้ปัญหาจะต้องนำการจัดการ Just In Time มาเป็นหัวใจของการบริหารจัดการ  โดยให้มีสินค้าคงคลังน้อยที่สุด  โดยมีบริหารจัดการ ที่เรียกว่า Zero Stock Management ทั้งนี้ สุดยอดของการบริหาร การจัดการคลังสินค้า ก็คือ “ไม่ต้องมีคลังสินค้าให้จัดการ” โดยจะต้องนำระบบ JIT หรือ Just In Time เข้ามาใช้ทั้งในด้านการบริหารจัดการคลังสินค้าการตรวจรับ (Receiving) การจัดจ่าย (Picking/Distribution) การบันทึกข้อมูล (Recording) การควบคุม (Stock Controlling)  โดยการจัดการแบบ Just In Time หลักการดีแต่ทำยาก   แม้ว่าการบริหารจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลังจะเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการได้มุ่งความสนใจไปที่ Just in time ทำอย่างไรที่จะไม่มีต้นทุนในการสต็อคสินค้าที่เป็นต้นทุนมหาศาล

        การนำระบบ JIT มาใช้ในกิจกรรมคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าจึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากบริษัทข้ามชาติหลายบริษัทได้นำมาใช้ และประสบความสำเร็จ ซึ่งจะต้องร่วมกับระบบการผลิตแบบลีน (Lean Productivity) ซึ่งจะเป็นลักษณะการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just-In-Time: JIT) เป็นระบบการผลิตที่มุ่งเน้นกำจัดความสูญเสียหรือกิจกรรมที่ไม่เกิดมูลค่าต่างๆ ออกจากกระบวนการ เพื่อให้การบริหารจัดการวัตถุดิบและชิ้นส่วนเข้าสู่กระบวนการผลิตในปริมาณและเวลาที่ต้องการ มุ่งเน้นให้ผลิตเป็นสินค้าได้พอดีกับความต้องการทั้งปริมาณและเวลา โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือลดความสูญเสียและต้นทุนที่มาจากการคงคลัง และลดงานระหว่างกระบวนการอันเป็นข้อเสียของการผลิตแบบคราวละมากๆ โดยการผลิตแบบลีน (Lean Production) คือระบบการผลิตแบบพอเหมาะ มีแนวคิดที่มุ่งสร้างสายการไหลของผลิตภัณฑ์ ผ่านกระบวนการเพิ่มคุณค่าโดยปราศจาการขัดจังหวะ (การไหลแบบทีละชิ้น: One-Piece Flow) มีระบบการผลิตแบบดึง มีกลไกที่ส่งทอดมาจากความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะมีการดำเนินการก็ต่อเมื่อมีการดึงผลิตภัณฑ์ออกไป การปฏิบัติงานในส่วนของการผลิตจะต้องพิจารณาช่วงเวลาตั้งแต่ที่ลูกค้าได้สั่งซื้อ จนถึงเมื่อเรารับเงินจากลูกค้า โดยมีเป้าหมายคือต้องการลดช่วงเวลาให้สั้นลงด้วยการกำจัดความสูญเปล่าที่ไม่เพิ่มคุณค่า  ทั้งนี้  ระบบ JIT สามารถทำได้หากมีความแม่นยำเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า (demand forecasting) ที่สามารถคาดคะเนได้แม่นยำ“การสต็อคสินค้าขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรม โดยประเมินความต้องการของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ ที่ต้องอาศัยแผนแม่แบบด้านการจัดการผลิตและการจัดการสินค้าที่สอดคล้องกัน ที่เรียกว่า Inventory Matrix โดยให้มี การวางแผนด้านสินค้าคงเหลือ (Inventory Balance) ให้น้อยที่สุด ที่เรียกว่า Zero Stock Management  รวมไปถึงการประสานความร่วมมือและวางแผนการทำงานร่วมกันระหว่างซัพพลายเออร์ หากมีการประสานความร่วมมือที่ดี ก็จะส่งผลให้เกิดระบบ Co-Planning ที่การทำงานมีความสัมพันธ์กันดีมีลักษณะเหมือนเป็นเครือข่ายเดียวกัน ส่งผลให้การผลิตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ไม่เกิดการสต็อคสินค้าเพื่อรอผลิต
เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการจัดการคลังสินค้า

          ปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายตัวที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น บาร์โค้ด และ RFID ซึ่งถือ เป็นกำลังสำคัญในการเสริมศักยภาพการทำงาน ขณะนี้หลายบริษัทกำลังมีแผนการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ ถึงแม้ว่าจะต้องลงทุนสูง แต่ประโยชน์คือสามารถช่วยให้การทำงานมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น  เทคโนโลยีต่างๆ ล้วนมีความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจ เพราะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น โดยหากติดเครื่องอ่านที่หน้าโกดังเมื่อสินค้าผ่าน เครื่องจะทำการอ่านข้อมูลสินค้าทั้งหมด นอกจากนี้ระบบ RFID ยังช่วยเรื่องความปลอดภัย เพราะหากสินค้าออกจากคลัง เครื่องจะทราบโดยอัตโนมัติ และบันทึกว่าของหายไปเมื่อไร เวลาเท่าไร แต่ขณะนี้ราคาของการติดตั้งระบบ RFID ยังมีราคาสูงมาก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าไม่นานจะมีการนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น  แม้ว่าการบริหารจัดการคลังสินค้าจะส่งผลต่อกระบวนการผลิต และช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตข้างหน้าเพียงใด ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกบริษัทต้องลงทุนสร้างแวร์เฮ้าส์เป็นของตัวเอง เพราะการสร้างแวร์เฮ้าส์ต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูง รวมถึงมีค่าใช้จ่ายแอบแฝงอีกมากมาย ดังนั้นการใช้บริการจากบุคคลภายนอกที่มีความชำนาญให้จัดการแทนจึงเป็นอีกหนทางที่ดีกว่า  เนื่องจากต้องใช้เงินที่ค่อนข้างสูง มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเทคโนโลยี รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงอีกมาก เชื่อว่าการ Outsource น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า   “ปัจจุบันควรมองว่าจะทำอย่างไรให้ไม่มีแวร์เฮ้าส์ เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง หากจำเป็นต้องมีคลังสินค้าลำดับแรกต้องศึกษาประโยชน์ที่ได้รับและสอดรับกับธุรกิจ เพราะคลังสินค้ามีหลายประเภทขึ้นอยู่กับการใช้งานและขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท เพื่อจะได้กำหนดรูปแบบและทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมว่าควรจะตั้งอยู่ในแหล่งของลูกค้า ตั้งอยู่ในแหล่งผลิต หรือควรตั้งในแหล่งวัตถุดิบ”

         เมื่อกำหนดรูปแบบคลังสินค้าได้แล้ว หลังจากนั้นจึงพิจารณาว่าจะใช้กับลูกค้ากลุ่มใด ใช้กับกลุ่มสินค้าอะไร นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงอัตราความต้องการในแง่กิจกรรมต่างๆ ที่จะทำในคลังสินค้า ซึ่งจะมีผลต่อการบริหารจัดการ เพราะจะต้องแบ่งว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไร ต้องจัดพื้นที่สำหรับพนักงานหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญคือการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัยมาใช้ในการทำงาน นอกจากนี้ต้องคำนึงถึงการขยายการลงทุนในอนาคตด้วย เพราะการตั้งคลังสินค้าต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก จึงควรต้องมีการวางแผนการทำงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่สำคัญคือเรื่องระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งบาร์โค้ด หรือ RFID รวมถึง ระบบโปรแกรมซอฟแวร์ประเภทต่างๆ เช่น  WMS ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ  โลจิสติกส์ ภาพรวมแล้วมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน ซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศโลจิสติกส์กลายเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขคำตอบว่า ทำอย่างไรให้ธุรกิจสามารถสู้คู่แข่งได้ เพราะในแต่ละอุตสาหกรรมมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะและพัฒนาการของอุตสาหกรรม โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้านการจัดการคลังสินค้าและกระจายสินค้า จะทำให้เป็นองค์ประกอบให้เกิดการเคลื่อนย้าย จัดเก็บ กระจาย รวบรวมต่างๆ ทำให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพมากขึ้น การบริหารจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลังเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันระบบการจัดการแบบ JIT และแบบ Lean ล้วนเป็นการบริหารจัดการที่ช่วยเสริมศักยภาพการทำงานทั้งสิ้น
นอกจากนี้ การบริหารจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง รวมถึงการสรรหาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและสามารถสู้คู่แข่งได้ ซึ่งคลังสินค้านับว่ามีความสำคัญที่สุดในระบบโลจิสติกส์  ระบบ Just in Time (JIT) และการบริหารงานแบบ Lean มาใช้ ซึ่งเป็นหลักการที่มุ่งกำจัดความสูญเสียที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิต “การบริหารจัดการคลังสินค้าต้องมีองค์ประกอบการสำคัญหลายอย่างเข้ามาร่วมด้วย และด้วยความซับซ้อนที่ต้องการให้การบริหารมีคุณภาพที่ดี จึงต้องอาศัยระบบการทำงานที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นระบบเทคโนโลยี อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย และบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ”  การมีคลังสินค้าเพื่อสำรองสินค้าคงคลังในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงจากความแปรผันของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองหลักให้บริษัทนั้นๆ สามารถผลิตสินค้าเพียงพอและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้  ระบบการทำงานของคลังสินค้าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การมีซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพเป็นตัวช่วยเสริมศักยภาพการทำงาน เพื่อช่วยให้ระบบการทำงานผิดพลาดน้อยที่สุด การบริหารจัดการคลังสินค้าในฐานะกลไกเพื่อการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการนำระบบไอทีเข้ามาเป็นตัวหลักสำคัญในการบริหารจัดการ เพราะหากไม่มีระบบไอทีก็จะไม่สามารถสู้ผู้ประกอบการรายอื่นได้  ต้นทุนการบริหารคลังสินค้า ได้แก่ ต้นทุนการบริหารคลังสินค้า (Warehousing cost) เกิดจากการดำเนินกิจกรรมการให้บริการภายในคลังสินค้า การจัดเก็บสินค้า การเลือกสถานที่ตั้งโรงงานและคลังสินค้า ซึ่งมีลักษณะเดียวกับต้นทุนการขนส่งที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินงานเองที่เรียกว่า In-house และการจ้างให้ผู้อื่นๆ ดำเนินการให้หรือเช่าที่ผู้อื่น ที่เรียกว่า Outsource และต้นทุนในการถือครองสินค้า (Inventory carrying cost) คือต้นทุนในการถือครองสินค้าหรือค่าเสียโอกาสที่เงินทุนไปจมอยู่ในสินค้า รวมถึงต้นทุนค่าดอกเบี้ย ค่าประกันสินค้า เป็นต้น
คลังสินค้าเพื่อการกระจายสินค้า (Cross Dock Warehouse)

         คลังสินค้าซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้า ที่แท้จริงจะมีลักษณะที่เรียกว่า Cross Dock หมายถึง คลังสินค้าใช้สำหรับในการรับสินค้าและส่งสินค้าในเวลาเดียวกัน หรือเป็นคลังสินค้าซึ่งมีการออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อใช้ในการขนถ่ายจากพาหนะหนึ่งไปสู่อีกพาหนะหนึ่ง โดยศัพท์นี้หลายท่านอาจจะไม่คุ้นเคย แต่ผู้ที่สนใจศึกษาหรืออยู่ในแวดวงของโลจิสติกส์ คงเคยได้เห็นและได้ยินมามากพอสมควร โดย Cross Dock ส่วนใหญ่แล้วเหมาะจะเป็นสถานที่ ซึ่งมีลักษณะเป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า  ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบรรจุและคัดแยกสินค้า  โดย Cross Dock จะทำหน้าที่เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างรูปแบบการขนส่ง Intermodal Linkage ซึ่งอาจเป็นจาก Suppliers หลายราย แล้วนำมาคัดแยก รวมรวม บรรทุก เพื่อจัดส่งให้ลูกค้าแต่ละราย จึงเหมาะกับลักษณะของธุรกิจที่เป็น Wholesaler Consumer Goods  ซึ่งจะจัดส่งต่อให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้าน Convenience Store หรือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะมี Order ย่อยที่หลากหลาย Cross Dock จึงเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของโลจิสติกส์ ซึ่งทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้บริการ Outsourcing ในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างพาหนะ ซึ่งใช้ในการขนส่ง โดย Cross Dock จะมีลักษณะคล้ายคลังสินค้าที่มี 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งสำหรับใช้ในการรับสินค้า และอีกด้านหนึ่งใช้ในการจัดส่งสินค้า โดยสินค้าที่นำเข้ามาใน Cross Dock จะมีกระบวนการคัดแยก-บรรจุและรวบรวมสินค้า เพื่อจัดส่งไปให้กับผู้รับ ซึ่งโดยปกติแล้วนำสินค้าเข้ามาเก็บและจัดส่ง มักจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 24 ชั่วโมง

          Cross Dock ในทางปฏิบัติ จึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กระจายสินค้าโดยการรวบรวมสินค้าจากแหล่งผลิตหรือ Supplier หลายราย โดยมีอุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกและกระบวนการในการคัดแยกตาม Order หรือการเติมเต็ม (Order & Fulfillment) โดย Cross Dock จะทำหน้าที่ ที่เรียกว่า “Relocate Shipment across the truck form shipper to customers” คือ เป็นกิจกรรมที่อยู่ระหว่างผู้ผลิตสินค้ากับลูกค้า โดยสินค้าที่ออกจาก Cross Dock จะส่งมอบให้กับลูกค้าซึ่งทั้งหมดจะเป็น Vendor ไม่ใช่ Consumers ซึ่งเป็นลูกค้าที่เป็นผู้บริโภค โดยจะเป็นการส่งโดยตรงไม่มีการผ่านคลังสินค้าที่เป็น Intermediate Warehouse ที่เรียกว่า “Drop Ship Inventory” ภารกิจสำคัญของ Cross Dock จะเป็นตัวกลางในการรวบรวมสินค้าให้สามารถจัดส่งได้เต็มคันรถหรือใช้พื้นที่ในคอนเทนเนอร์ให้ได้เต็มพิกัด   โดย Cross Dock ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า สถานีรวบรวมและกระจายสินค้า ส่วนใหญ่แล้วจะกระจายอยู่ตามภาค หรือจังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการขนส่ง จึงมีส่วนช่วยแก้ปัญหา รถบรรทุกที่ไม่มีสินค้าในเที่ยวกลับ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของการขนส่งทางถนนในประเทศไทย ทั้งนี้ Cross Dock  อาจจะทำหน้าที่เป็น ICD (Inland Container Depot) โดยสามารถเชื่อมโยงการขนส่งในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งทางรถไฟ ทางรถบรรทุก หรือขนส่งทางน้ำ หรือท่าเรือ-สนามบิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Cross Dock จะมีบทบาทและเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสนับสนุนรูปแบบการขนส่ง ที่เรียกว่า Multimodal Transport โดย Cross Dock จะทำหน้าที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

1. Truck Terminal  Transfer ทำหน้าที่ในการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากพาหนะหนึ่งไปอีกพาหนะหนึ่ง ในรูปแบบการขนส่งสินค้า ทั้งที่เป็นประเภทเดียวกันและต่างกัน เช่น จากรถบรรทุกหนึ่งไปอีกรถบรรทุกหนึ่ง หรือจากรถบรรทุกหนึ่งไปเป็นการขนส่งทางรถไฟหรือทางถนน หรือบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อจัดส่งสินค้าไปทางเรือหรือทางอากาศ เป็นต้น คือทำหน้าที่เป็นสถานีในการขนถ่ายสินค้าระหว่างการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง

2. Loading & Unloading – Supplier / Customers คือ ทำหน้าที่รวบรวม คัดแยกสินค้าและกระจายสินค้า ทั้งบริเวณต้นทาง หรือปลายทาง และทำหน้าที่ในการจัดเก็บสินค้าก่อนการส่งมอบ

3. ทำหน้าที่เป็น Information Center คือ เป็นสถานีในการรวบรวมข้อมูลข่าวสารเชื่อมโยงการผลิตและการส่งมอบสินค้าจากผู้ผลิตหรือ Shipper ไปสู่ผู้รับสินค้า ที่เรียกว่า Consignee เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านชำ หรือโชว์ห่วย หรือห้างสรรพสินค้าประเภท Department Store

4. บางครั้ง Cross Dock จะทำหน้าที่เป็น ICD คือ ศูนย์บรรจุและคัดแยกสินค้า เพื่อการนำเข้าและส่งออก ที่เรียกว่า Inbound & Outbound ซึ่งกรณีเช่นนี้ จะต้องมีที่ทำการศุลกากร คลังสินค้า เพื่อรอการส่งมอบ ซึ่งจะทำหน้าที่ในการรับสินค้าจากเรือหรือเครื่องบิน แล้วนำมาจัดเรียงกองหรือจัดเก็บเพื่อรอการขนส่งหรือส่งมอบ ซึ่ง ICD ในความหมายนี้ จะหมายถึง กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกที่เป็น International Logistics

5. Regional HUB ทำหน้าที่เป็นสถานีรวบรวมและกระจายสินค้าประจำภาค คือ เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากพาหนะหนึ่งไปอีกพาหนะหนึ่ง (Intermodal Linkage) โดยหน้าที่หลักจะทำหน้าที่เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายและกระจายสินค้าเพื่อเชื่อมโยงระหว่างภาคหรือจังหวัด ซึ่งกรณีเช่นนี้ ยังมีการสับสนในภาระหน้าที่ของ Cross Dock ที่เป็น ICD กับ Cross Dock ที่ทำหน้าที่เป็น Regional Hub ซึ่งยังมีความสับสนเกี่ยวกับ ICD และ Regional Terminal Hub ซึ่งบทบาทจะต่างกันมาก
Cross Dock จึงมีบทบาทและความสำคัญในกิจกรรมของโลจิสติกส์ในฐานะเป็นเครื่องมือในการลดต้นทุน จากการขนส่งที่ไม่เต็มคันรถหรือขนส่งเที่ยวกลับที่ไม่มีสินค้า โดยช่วยลดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้า ช่วยให้การส่งมอบสินค้าเป็นแบบทันเวลา (JIT) และส่งเสริมการค้าระดับภูมิภาคและประเทศ สามารถก่อให้เกิดประสิทธิภาพในเชิงต้นทุนรวม และเป็นปัจจัยสำคัญต่อประสิทธิภาพการขนส่ง “Multimodal Transport” ซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทั้งของระดับธุรกิจ ระดับภาค และระดับประเทศ และเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 30-04-2007  

 
หน้าหลัก