บทความเรื่อง :: สนามบินสุวรรณภูมิ..ศูนย์กลางการบินแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP 

          การขนส่งทางอากาศนับว่าเป็นการขนส่งที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบโลจิสติกส์  โดยการขนส่งระหว่างประเทศของไทยมีประมาณ 0.2% ของปริมาณการขนส่ง สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้า Perishable Product คือ สินค้าที่เสียหาย เน่าเสียได้ง่าย นอกจากนั้นก็เป็นสินค้าราคาแพงหรือสินค้าที่ต้องการขนส่งแบบเร่งด่วน ถึงแม้ว่าการขนส่งทางอากาศจะสามารถขนส่งได้ในประมาณที่ไม่มากเมื่อเทียบกับการขนส่งอื่น ๆ  เช่น  การขนส่งทางเรือ  และ  การขนส่งทางรถไฟ  แต่การขนส่งทางอากาศก็มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น  เนื่องจากเป็นการขนส่งที่มีความสะดวกและรวดเร็ว  มีตารางการบินที่สม่ำเสมอและตรงเวลา  สามารถส่งสินค้าไปได้ทั่วทุกมุมโลก  เพราะมีสายการบิน  ต่าง ๆ  บินไปยังทุกประเทศ  นอกจากนี้ยังมีอัตราเสี่ยงต่อความเสียหายของตัวสินค้าในระหว่าง ขนส่งที่ต่ำ  ปัจจุบันประเทศไทยใช้การขนส่งทางอากาศในการขนส่งสินค้าส่งออกมากขึ้น  จาก  357,000  ตัน  ในปี  พ.ศ. 2546  เป็น  401,000  ตัน  ในปี  พ.ศ.  2547  (เพิ่มขึ้นร้อยละ  12.3)  แต่การขนส่งสินค้านำเข้ากลับมีอัตราน้อยลง  จาก  969,000  ตัน  ในปี  พ.ศ. 2546  เป็น  490,000  ตัน  ในปี  พ.ศ. 2547   โดยสินค้าที่มีการขนส่งทางอากาศส่วนใหญ่   จะได้แก่ สินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ , สินค้าสดหรือเสียหายง่าย เช่น ดอกไม้ , ผลไม้ , สินค้าที่มีมูลค่าสูง , สินค้าที่มีขนาดเล็ก และสินค้าเร่งด่วน ที่ต้องการความรวดเร็วในการส่งมอบ

          สำหรับประเทศไทยได้มีการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยงบประมาณลงทุนก่อสร้างทั้งภายในและภายนอกรวมทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 20,000 ไร่ ซึ่งใหญ่กว่าพื้นที่สนามบินดอนเมืองราว 6 เท่า ได้นำมาสู่ศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิแห่งนี้ที่มีพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารมากกว่า 570,000 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าใหญ่กว่าสนามบินแห่งอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินเช็คเล็ปก๊อกของฮ่องกง หรือ สนามบินชางฮีของสิงคโปร์ โดยมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้กว่า 45 ล้านคนต่อปี ขีดความสามารถในการรองรับเครื่องบินได้ถึง 120 หลุมจอด มีรันเวย์ที่สามารถให้บริการเครื่องขึ้น-ลงได้พร้อมกันทันที 2 รันเวย์ ด้วยความยาวของรันเวย์ที่มากถึง 4,000 เมตร ซึ่งสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างแอร์บัส A-380 อากาศยานขนาดใหญ่ได้อย่างไม่มีปัญหา รับเที่ยวบินได้ถึง 76 เที่ยวบิน/ชั่วโมง และ ให้บริการขนถ่ายสินค้าทางอากาศได้ 3 ล้านตัน/ปี ในทันที ทั้งยังสามารถขยายไปถึง 6 ล้านตันต่อปี กล่าวได้ว่าจะเป็นระบบมาตรฐานที่ทันสมัยมากที่สุดของโลกอีกแห่งหนึ่งในปัจจุบัน โดยในเอเชียมีเพียงสนามบินนานาชาติอินชอนของเกาหลีใต้เท่านั้นที่มีความทันสมัยเทียบเท่ากับสนามบินในสหรัฐฯ โดยประเทศไทยต้องการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งทางอากาศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้โครงการดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ และคาดหวังว่าจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาความเจริญด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวของประเทศ ในระยะแรกสามารถให้บริการขนส่งสินค้าได้ 3 ล้านตันต่อปี โดยให้บริการแบบเขตปลอดพิธีการศุลกากร (Free Zone) ตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถขยายความสามารถในการให้บริการได้สูงสุดถึง 6.4 ล้านตันต่อปี อย่างไรก็ดี ยังมีการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ โดยการพัฒนาสาธารณูปโภคและการให้บริการอื่นๆ เช่น โรงแรม ศูนย์บริการรถเช่า ร้านค้า ศูนย์กลางค้า ภัตตาคาร สถานีเติมน้ำมัน  ซึ่งรัฐบาลได้มีนโยบายในการจัดตั้งนครสุวรรณภูมิ เพื่อให้เป็น Logistics City ของประเทศไทย โดยแยกเขตลาดกระบังและบางส่วนของเขตประเวศ และบางส่วนของจังหวัดสมุทรปราการ อำเภอบางพลี แยกออกเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค 

             ทั้งนี้ โลกในอนาคต การขนส่งทางอากาศจะมีบทบาทต่อกิจกรรมทางโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเกิดจากพลวัตของโลกาภิวัฒน์ (Dynamic of Globalization) คือ โลกการค้าในปัจจุบันเป็นโลกที่ไร้พรมแดน (Borderless) ส่งผลให้กติกาการค้าระหว่างประเทศ ล้วนแต่เป็นการส่งเสริมให้มีการค้าที่เป็นเสรี (Free Trade) ไม่ว่าจะเป็น WTO (World Trade Organization) หรือการตกลงในระดับภูมิภาค เช่น AFTA , NAFTA , EU และข้อตกลงที่เป็นทวิภาคี (Bilateral) ไม่ว่าในรูปแบบที่เป็น FTA หรือในรูปแบบอื่นๆ ถือว่าเป็นปัจจัยส่งเสริมการขนส่งทางอากาศ ให้บทบาทต่อการค้าโลก โดยเฉพาะข้อตกลงการเปิดน่านฟ้าเสรีเพื่อการบินเชิงพาณิชย์ ที่เรียกว่า Open Sky ซึ่งนับวันจะมีบทบาทต่อการขนส่งทางอากาศ อย่างไรก็ดี ท่าอากาศยานของไทยจะเน้นการขนส่งผู้โดยสาร มีเพียงสนามบินสุวรรณภูมิ , สนามบินดอนเมือง , สนามบินเชียงใหม่ , สนามบินภูเก็ต , สนามบินหาดใหญ่ เท่านั้นที่มีเพียงคลังสินค้าและเป็นขนาดเล็ก ยกเว้นสนามบินดอนเมือง ซึ่งมีสัดส่วนการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศประมาณร้อยละ 99.1 (พ.ศ. 2547)

            จากศักยภาพทางภูมิศาสตร์ และ สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจน ความมุ่งมั่นในการสรรสร้างสนามบินสุวรรณภูมิให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับแนวหน้าของโลก หลายฝ่ายจึงมุ่งเป้าหมายการก้าวกระโดดเป็น “ ศูนย์กลางการบิน การขนส่งทางอากาศ แห่งเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ”  โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้วางแนวทางสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ การกำหนดบทบาทท่าอากาศยานภายในประเทศไทยให้เป็นการให้บริการลักษณะโครงข่าย (Network) ที่มีการเชื่อมโยงสนับสนุนกัน โดยมีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานหลัก ส่วนทางด้านกายภาพ ได้ให้ความสำคัญในระบบการให้บริการพื้นฐาน รวมทั้งพัฒนากิจกรรมสนับสนุนที่เกี่ยวข้องเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดงาน มีการจัดระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงท่าอากาศยานกับชุมชนและแหล่งผลิต ตลอดจน เพิ่มประสิทธิภาพสายการบินของไทย และ ส่งเสริม   อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น  การดำเนินการอย่างมุ่งมั่นในแผนการที่กำหนด กอปร์กับ ความได้เปรียบของไทยในเชิงภูมิศาสตร์ คงไม่เป็นการยากมากนักกับความตั้งใจที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินแห่งเอเชียตะวันตกเฉียงใต้อันใกล้นี้..


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 28-04-2007  

 
หน้าหลัก