บทความเรื่อง :: New Modernize Warehouse Management
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP          

               Warehouse หรือคลังสินค้าหรือเรียกชื่อได้หลายอย่าง เช่น โกดัง , สโตร์ เป็นที่รู้จักของบุคคลและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าการขายมานานแล้ว กล่าวได้ว่า กิจกรรมด้านโลจิสติกส์ที่คนไทยคุ้นเคยรองจากภาคการขนส่ง ก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับคลังสินค้า อย่างไรก็ดี ลักษณะพิเศษของคนไทยก็มักจะรู้ไปทุกเรื่อง แต่ส่วนใหญ่ก็จะรู้ไม่จริง ดังเช่นกรณีของ  การจัดการคลังสินค้ายุคใหม่.. คงไม่ใช่เป็นเพียงที่เก็บสินค้า มีกิจกรรมการเบิก-การจ่ายและการจัดเรียงสินค้าเท่านั้น แต่กิจกรรมของคลังสินค้าจะมีบทบาทในฐานะเป็นต้นทุนโลจิสติกส์ประมาณ 1 ใน 3    ดังนั้น ในยุคที่เปิดเสรีทางการค้าภายใต้การแข่งขันระดับโลกขีดความสามารถในการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ จึงมีส่วนสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจ กล่าวได้ว่า การที่จะนำระบบโลจิสติกส์มาประยุกต์ใช้ในองค์กรให้ได้เห็นผลได้ชัดเจนที่สุดก็ต้องมุ่งไปที่การลดสินค้าคงเหลือ โดยควรจัดเป็นแผนแม่แบบ ที่เรียกว่า Logistics Matrix เพื่อให้สามารถควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังให้มีปริมาณที่เหมาะสมและประหยัดต้นทุนในการเก็บรักษา ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องอาศัยการจัดการที่เรียกว่า Just In Time  Value  คือ ทุกหน่วยงานภายในองค์กรต่างมีการบริการแบบทันเวลา มาใช้ในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยดังนี้ ประการแรก Material Plan คือ วางแผนด้านวัตถุดิบและสินค้าคงเหลือ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ การไหลลื่นของสินค้าให้สัมพันธ์กับเวลาที่จะใช้ คือ เกี่ยวข้องกับอรรถประโยชน์ของเวลา (Time Utility) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจัดการปฏิสัมพันธ์กับคู่ค้า ที่เรียกว่า SRM (Suppliers Relationship Management) คือ การจัดการ การตรงต่อเวลาในการส่งมอบของคู่ค้าในโซ่อุปทาน  ประการที่สอง Production Plan ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการวางแผนระบบการผลิต โดยการผลิตสมัยใหม่ ได้เปลี่ยนแนวความคิดจากการผลิตที่ประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มาเป็นลักษณะการผลิตแบบประหยัดต่อความเร็ว (Economies of Speed) จะทำการผลิตเมื่อสินค้ามี Demand หรือความต้องการและเป็นการผลิตเพื่อการส่งมอบเท่านั้น ประการที่สาม  คลังสินค้าควรออกแบบให้สัมพันธ์กับประบวนการผลิต โดยให้มีลักษณะเป็น Cross Dock คือ มีช่องทางสำหรับวัตถุดิบที่เข้า และมีช่องทางที่ต่อเนื่องกับกระบวนการผลิตแบบ Flow Production ไปจนถึงประตูที่จะส่งมอบสินค้าสำเร็จรูป

            ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการวางแผนจัดการคลังสินค้า จะเกี่ยวข้องกันตั้งแต่ Suppliers คือ คู่ค้า   ต้นน้ำ การวางแผนการตลาดไปสู่การวางแผนการผลิต และการจัดซื้อสินค้า รวมถึงการวางแผนที่เกี่ยวข้องกับการกระจายสินค้า (Distribution Plan) ไป Consumers หรือผู้บริโภคปลายน้ำ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกี่ยวข้องกับกิจกรรม  ลูกค้าสัมพันธ์ (Customers Relation) โดยบริษัทที่มีการพัฒนาระบบ การจัดการคลังที่ดีจะต้องนำระบบ VMI (Vendor Managed Inventory) เข้ามาช่วยในการลดสต๊อก โดยให้มีหน่วยงานทำหน้าที่โดยตรง รวมถึง การจัดการความสัมพันธ์ของลูกค้า IMR (Inventory Management Relationship) โดยภารกิจสำคัญของหน่วยงานนี้จะทำหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายการตลาด , การผลิต และลูกค้า  โดยต้องสถาปนาระบบการส่งมอบแบบทันเวลา ที่รู้จักกันดีในชื่อ Just in Time Delivery ซึ่งจะต้องเป็นการผสมผสานกับการจัดการข้อมูล ข่าวสารที่ดี                                 (Data Base Organization) จึงจะส่งผลต่อการส่งเสริมต่อการผลิตจนนำไปสู่ระบบการผลิต ที่เรียกว่า Zero Stock หรือการจัดการแบบไม่มีสินค้าคงเหลือ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงก็อาจเป็นเพียงนามธรรม แต่แนวคิดนี้มีนัยสำคัญ คือ การลดต้นทุนโลจิสติกส์ที่ได้ผลและทำได้รวดเร็วและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ก็โดยการลดจำนวนสินค้าคงคลัง ด้วยการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการส่งมอบ ที่เรียกว่า Just In Time โดยภารกิจของคลังสินค้าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการใหม่ โดยเน้นประสิทธิภาพทางด้านเวลา โดยลดช่วงเวลาของการเคลื่อนย้ายสินค้าและการใช้ประโยชน์สูงสุดของพื้นที่ (Space Utility) โดยยุทธศาสตร์สำคัญของการบริหารสินค้าคงคลังสมัยใหม่ จะนำระบบการผลิตแบบ Lean Production มาใช้เพื่อให้เกิดการประหยัดจาก Economies of Speed ด้วยการลดจำนวนสินค้าคงคลังให้น้อยที่สุด ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสิงค้าคงคลังเหลืออยู่เลย  แต่ความหมายของ Zero Stock นั้นได้เอาสต๊อกที่เป็นศูนย์เป็นตัวตั้ง โดยพยายามให้มีกระบวนการต่างๆที่จะทำให้สินค้าคงคลังน้อยที่สุด โดยมีตัวชี้วัดเปรียบเทียบกับ Zero Stock ซึ่งอาจจะมีการนำระบบการบริหารจัดการ ที่เรียกว่า Six Sigma มาใช้และดำเนินการนำระบบโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ หรือที่เรียกว่า Logistics Best Practice โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่า ปริมาณของสินค้าคงคลังที่ธุรกิจจะยินยอมให้มีมากที่สุดมีได้เท่าไหร่ ซึ่งจะต้องมีระบบ KPI และระบบ Balance Score Card มาใช้ควบคู่กันก็จะได้ประโยชน์สูงสุด 

           ทั้งนี้ การที่กำหนดระดับสินค้าคงคลังในระดับที่มากจนเกินพอดี อาจดูปลอดภัยแต่ก็จะส่งผลให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง จึงต้องมีการจัดการสินค้าคงคลังให้เหมาะสม  ซึ่งส่งผลให้สามารถลดต้นทุนรวมและต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้าและส่งผลทางอ้อมต่อการลดต้นทุนในด้านการขนส่งค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้า , ดอกเบี้ย , ค่าเสียโอกาส และลดต้นทุนที่เกิดจากสินค้าเสื่อมและเสียหายอันเกิดจากการเก็บสินค้า ผลของการจัดการคลังสินค้าที่ดี เมื่อนำมาใช้ร่วมกับ JIT : Just in Time และ EOQ (Economy Order Quantity) จะมีผลต่อการเพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment)   ซึ่งธุรกิจที่จะนำระบบนี้มาใช้ได้จะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดที่ว่าคลังสินค้าขนาดใหญ่จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ ซึ่งแนวคิดสมัยใหม่บอกว่าไม่ใช่ ในประเทศที่พัฒนาโลจิสติกส์นั้นเขามองสินค้าคงเหลือเป็น Expense ไม่ได้มองเป็นหมวดทรัพย์สินหรือ Asset อย่างที่คนไทยคิด อีกประการหนึ่ง จะต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริหารงานแต่ละส่วนงานให้มีการคิดเป็นแบบองค์รวม โดยไม่กำหนดระดับสินค้าคงเหลือหรือ Safety Stock ในระดับที่มากเกินพอดี ซึ่งอาจดูปลอดภัยสำหรับตัวเอง ที่จะไม่ถูกแผนกอื่นต่อว่า หรือลูกค้า Complain แต่ก็จะส่งผลให้ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนสูง ซึ่งจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการบริหารคลัง โดยใช้เทคนิคและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมถึงการใช้บาร์โค้ด หรือ RFID มาใช้ในระบบการจัดการคลัง ตั้งแต่การกำหนด Location ที่วางสินค้า ,  การแพ็คกิ้ง , การควบคุมงานด้านเอกสาร และที่เกี่ยวข้องกับการรายงานสถานะของสินค้าคงคลัง โดยคลังสินค้าที่นำระบบอิเล็กทรอนิกส์เชื่อมโยงกับเครือข่าย Internet / XML สินค้าที่เข้าหรือออกจากคลังก็สามารถรายงานสถานะเชื่อมโยง Online ไปในเครือของโซ่อุปทานจนไปถึงหน่วยงานจัดซื้อ , คู่ค้า , ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และลูกค้า ซึ่งทั้งหมดจะส่งผลต่อการลดต้นทุนรวมด้านโลจิสติกส์  โดยการจัดการคลังสินค้ายุคใหม่จะต้องมีการปฏิรูป และ         Re-Thinking โดยผู้บริหารควรจะมีการทบทวนเกี่ยวกับขนาดของพื้นที่คลังสินค้า ซึ่งบางธุรกิจมีกว่าหนึ่งในสี่ของพื้นที่โรงงานใช้ไปกับคลังสินค้า ทั้งนี้  ลูกค้าไม่สนใจว่าธุรกิจจะมีคลังสินค้าใหญ่เพียงใด “ลูกค้าสนใจเฉพาะเมื่อสั่งซื้อแล้วต้องได้ของภายในเวลาที่ต้องการ ภายในราคาที่แข่งขัน” ผู้บริหารองค์กรจึงต้องพิจารณา ยอมรับว่าอาจเป็นความล้มเหลวของการบริหาร ที่ต้องทำให้มีสินค้าคงคลังจำนวนมาก อย่าอ้างเหตุผลเดิมๆ เช่น สินค้าเป็น Seasoning  ซื้อจำนวนมากจะได้ราคาต่ำ โดยให้มอง Inventory หรือสินค้าคงคลังเป็น Cost ไม่ใช่ Asset การแก้ปัญหาจะต้องนำการจัดการ Just In Time มาเป็นหัวใจของการบริหารจัดการ  โดยให้มีสินค้าคงคลังน้อยที่สุด  โดยมีบริหารจัดการ ที่เรียกว่า Zero Stock Management ทั้งนี้ สุดยอดของการบริหาร การจัดการคลังสินค้า ก็คือ “ไม่ต้องมีคลังสินค้าให้จัดการ” อาจฟังดูยาก แต่ผมอยู่ในวงการนี้เห็นบริษัทต่างชาติเขาทำได้จริง เคล็ดลับอยู่ที่การใช้ VMI Service Provider และการใช้ Outsources  ..เดี๋ยวจะหาว่าไม่บอกนะครับ..!


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 28-04-2007  

 
หน้าหลัก