บทความเรื่อง :: RFID เทคโนโลยีแห่งอนาคตในการปฏิวัติระบบซัพพลายเชน
 


โดยธนิต  โสรัตน์ / ประธานกรรมการ V-SERVE GROUP           

          ภายใต้การเปิดเสรีทางการค้าไม่ว่าจะเป็น FTA หรือ WTO ทำให้การค้าไม่มีพรมแดน สินค้าสามารถกระจายไปทั่วโลก ภายใต้มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆทั้งในรูปแบบต่างๆทั้งในรูปแบบที่เป็น Non Tariff Barrier โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการก่อการร้าย  (Terrorism) ซึ่งสินค้าที่ส่งออกจะต้องสามารถตรวจสอบแหล่งที่มา รวมถึงรายละเอียดของสินค้า กระบวนการผลิต และแหล่งผลิต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ RFID เข้ามามีบทบาทต่อกระบวนการจัดการ Supply Chain หรือโซ่อุปทาน ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมและภาคโลจิสติกส์ของไทยยังไม่มีการขับเคลื่อนหรือถ้ามีก็น้อยมาก โดยหากย้อนกลับมาที่ประเทศไทยภาคอุตสาหกรรมและภาคโลจิสติกส์ ยังมีการขับเคลื่อนในเรื่องนี้น้อยมากผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการบางรายยังไม่รู้จัก RFID  อย่างไรก็ดี บทบาทของ RFID ที่จะมีต่อภาคอุตสาหกรรมและการกระจายสินค้า ซึ่งจะก่อให้เกิดการแข่งขันทั้งในด้านต้นทุนและสถานภาพการส่งมอบแบบทันเวลา ทำให้ระบบโลจิสติกส์ ถูกนำมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งในระดับภาคธุรกิจและระดับประเทศ โดยกระบวนการในการขนส่งภายใต้โซ่อุปทาน ความรวดเร็วและถูกต้องในการส่งมอบ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการอยู่รอดของธุรกิจในอนาคต   


          RFID หรือ Radio Frequency Identification เป็นระบบอัจฉริยะ ภายใต้ Nano Technology ที่กำลังจะมีบทบาทเข้ามาแทนที่ระบบบาร์โค้ด หรือได้ใช้มาตั้งแต่ปี 1970 โดยระบบใหม่นี้จะใช้ระบบคลื่นของความถี่วิทยุ มาช่วยในการอ่านรหัสและข้อมูลของสินค้าหรือข้อมูลของฉลากได้โดยไม่ต้องมีการสัมผัส ในขณะที่สินค้ายังเคลื่อนไหวพร้อมกันได้คราวละหลายชิ้น (Tag) โดย RFID จะสามารถอ่านข้อมูลได้รวดเร็ว ด้วยความเร็วสูง 50 ชิ้นต่อนาที และยังสามารถอ่านค่าของสินค้านั้นได้แม้จะอยู่ในระยะไกล โดยส่วนประกอบใน RFID จะมีส่วนประกอบหลักๆสำคัญ คือ Tag หรือฉลาก ซึ่งจะติดอยู่กับตัวสินค้า โดยฉลากหรือ Tag จะมี Transceiver ซึ่งจะเป็นเครื่องอ่าน (Reader) โดยหน้าที่หลักของเครื่องอ่านจะสามารถเชื่อมต่อด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งมีทั้งการรับ-ส่งสัญญาณวิทยุและส่งต่อไปยังคอมพิวเตอร์ในการถอดรหัสสินค้า Decoding โดยระบบ RFID ในปัจจุบันได้รับการพัฒนาไปมากจนถึงขั้นที่เป็น RFID จะมี Digital Chip ซึ่งมีขนาดเล็ก แต่มีขีดความสามารถในการเก็บข้อมูล และส่งสัญญาณวิทยุแม้แต่ในที่ปิดทึบ โดยสามารถนำไปใช้ร่วมกับระบบ XML / Internet ก็สามารถที่จะถอดรหัสทางไกลเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ปลายทาง ทำให้ผู้รับสินค้าสามารถรู้ล่วงหน้าถึงรายละเอียดของสินค้า , แหล่งที่ผลิต และสินค้ากำลังขนส่งอยู่ตรงส่วนใดของโลก รวมถึงคุณสมบัติอื่นๆ ซึ่งระบบบาร์โค้ดทำไม่ได้ ซึ่งด้วยคุณสมบัติเหล่านี้จะเป็นนวัตกรรมในการสนับสนุนระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนโดยการเพิ่มประสิทธิภาพของการส่งและรับข้อมูลข่าวสาร รวมถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย (Security and Access Control) ในการขนส่งสินค้าข้ามประเทศ โดยเฉพาะประเทศซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการก่อการร้ายข้ามประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา , สหภาพยุโรป ฯลฯ  ดังนั้น การส่งสินค้าออกด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ในอนาคตอันสั้นๆ นี้ ระบบ RFID จะเข้ามามีบทบาทในฐานะเป็น Electronic Seal ซึ่งติดอยู่ที่ตู้คอนเทนเนอร์ในการแสดงสถานะ (Status) ซึ่งจะทำให้ผู้รับสินค้าและผู้ส่งสินค้าสามารถใช้ในการติดตาม Tracking การเดินทางของสินค้าในระยะทางไกล เช่น การขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ


          นอกจากนี้ RFID ยังสามารถประยุกต์ใช้ในงานที่เกี่ยวกับซัพพลายเชนไม่ว่าจะเป็นระบบการค้าปลีก การค้าส่ง ระบบการผลิต รวมถึง การขับเคลื่อนทางโลจิสติกส์ โดยสินค้าที่ติด RFID Tag เมื่อผ่านสายพานลำเลียงของระบบการผลิตในโรงงานส่งผลให้แต่ละหน่วยงานจะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไร สินค้าอะไร จำนวนเท่าใด จะต้องส่งไปที่ไหน ส่งให้ใคร และเมื่อใด ซึ่งก่อให้เกิดการส่งมอบที่เป็น Just in Time Delivery  ทั้งนี้  RFID ยังสามารถนำไปใช้จนถึงผู้บริโภคขั้นสุดท้าย เช่น ลูกค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยผู้ซื้อสินค้าเพียงหยิบใส่รถเข็นและเดินผ่านเครื่องถอดรหัสก็สามารถที่จะคิดเงินได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยิบสินค้าทีละชิ้นมาผ่านแสงบาร์โค้ด เช่น ห้าง “วอล์ล มาร์ท” ซึ่งเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้มีการนำ RFID มาใช้ตั้งแต่ปี 2005 รวมถึงได้นำมาเชื่อมเครือข่ายกับ Suppliers ทั่วโลกเริ่มตั้งแต่เมื่อลูกค้าได้หยิบสินค้าออกจากชั้นวางของ   RFID จะส่งสัญญาณไปยังศูนย์รวมเพื่อประมวลข้อมูลสินค้าคงเหลือกับ Safety Stock หลังจากนั้นก็จะส่งใบสั่งซื้อ Order Online  ไปยังคู่ค้า Supplier เพื่อให้ผลิตและส่งมอบสินค้ามาทดแทน ซึ่งระบบนี้ก็จะเริ่มมีการใช้แพร่หลายในห้างสรรพสินค้าหลายแห่งของโลก ทั้งนี้  RFID จะส่งเสริมต่อประสิทธิภาพของ VMI หรือ Vendor Managed Inventory คือ การจัดการควบคุมปริมาณการรับสินค้าจากคู่ค้าให้สอดคล้องกับการผลิตและการส่งมอบ ทำให้ช่วยลดต้นทุนและทำให้การส่งมอบเป็นแบบ Real Time โดยระบบนี้สามารถเชื่อมโยงไปสู่การสั่งซื้ออัตโนมัติ ทำให้ลดเวลาและภาระในการจัดซื้อหรือ Reorder ในการลดสินค้าคงคลัง ซึ่งเป็นต้นทุนด้านโลจิสติกส์กว่า 33 เปอร์เซ็นต์ โดย RFID ส่งผลให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และกิจการในระบบโซ่อุปทานเกิดเป็นระบบ ที่เรียกว่า อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-supply chain อย่างแท้จริง จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี RFID จะมีความจำเป็นต่อการบริหารการจัดการซัพพลายเชนในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยคาดว่าภายในปี 2008 ค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยี RFID จะมีมูลค่าการใช้งานทั่วโลกประมาณ  124,000  ล้านบาท ทั้งนี้  RFID จะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จในการเพิ่มประสิทธิภาพขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนากระบวนการทางธุรกิจทั้งในด้านการผลิตและการกระจายสินค้า และการจัดการบริหารสินค้าคงคลัง และสร้างเสริมให้เกิดความพึงพอใจของลูกค้า
ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงบางตัวอย่างของ RFID ซึ่งจะมีบทบาทต่อการจัดการโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ประเด็นสำคัญก็คือ ผู้ประกอบการไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจในการนำเทคโนโลยี RFID มาใช้เพื่อการจัดการภายใต้กระแสของโลกาภิวัฒน์  ซึ่งจำเป็นที่องค์กรเอกชนก็ดี รวมถึงภาครัฐโดยกระทรวง ICT จะต้องเข้ามามีบทบาทเป็นแกนนำในการให้ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงเข้ามาพัฒนาเพื่อให้ระบบ RFID มีราคาต้นทุนที่ถูก โดยต้องยอมรับว่าการพัฒนา RFID ของไทย ยังต้องพัฒนาอีกมาก เรายังขาดผู้รู้ตลอดจนขาดเทคโนโลยีและเงินทุนที่จะมาพัฒนา Chip RFID ราคาถูกให้กับธุรกิจของไทยคงยังไม่สายเกินไปที่จะเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อการนำระบบ RFID ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีใหม่แห่งอนาคต ที่จะมาปฏิวัติระบบโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของไทย ถ้าไม่เริ่มวันนี้แล้วจะเริ่มกันวันไหน ....


ไฟล์ประกอบ ไม่มีไฟล์


วันที่ 28-04-2007  

 
หน้าหลัก